ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ประกอบกับมีแรงหนุนจากข้อมูลการส่งออกของไทยที่หดตัวน้อยกว่าคาดในเดือนมี.ค. 2566 และตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในเดือนมี.ค.2566 ที่บันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 4.78 พันล้านดอลลาร์ฯ

โดยภาพดังกล่าวสวนทางเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเผชิญแรงขาย หลังข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนแอ อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2566 และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานเดือนมี.ค.2566 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงไม่ได้ข้อสรุป รวมถึงปัญหาความอ่อนแอของธนาคารบางแห่งในสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ที่ 28 เม.ย.2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 3,956 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตร 4,389 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 7,741 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 3,352 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (1-5 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (2-3 พ.ค.) ธนาคารกลางออสเตรเลีย (2 พ.ค.) และธนาคารกลางยุโรป (4 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของไทย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนเม.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน และตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนมี.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เดือนเม.ย. ของจีน ยูโรโซนและอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน