พาณิชย์เผยประกันรายได้ข้าว งวดที่ 29 ข้าวเปลือกราคาดี ส่วนใหญ่ราคาสูงกว่าราคาประกัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่รับส่วนต่าง จ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ในวันที่ 3 พ.ค.66

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) โดยสัปดาห์นี้เป็นการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง งวดที่ 29 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22 – 28 เมษายน 2566 ปรากฏว่า ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 13,622.75 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 377.25 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 6,036.00 บาท

สำหรับข้าวเปลือกปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าราคาประกัน จึงไม่มีส่วนต่างชดเชยในงวดนี้ โดยข้าวเปลือกปทุมธานี  มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 11,132.26 บาท ข้าวเปลือกเจ้า มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 10,128.73 บาท และ ข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 12,543.85 บาท สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีราคา เกณฑ์กลางอ้างอิง เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว โดยจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ การที่เกษตรกรขายข้าวได้ราคาดี ในระดับที่สูงกว่าราคาประกัน จนไม่มีส่วนต่างชดเชย ส่งผลให้รัฐบาลใช้งบประมาณในการจ่ายชดเชยส่วนต่างน้อยลง  

โดยสถานการณ์การซื้อขายข้าวในตลาดช่วงนี้ ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทยให้ข้อมูลว่า มีความต้องการข้าวเจ้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ มีการซื้อขายกันไม่มากนัก ทำให้ราคาค่อนข้างทรงตัว สำหรับสถานการณ์การส่งออก ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยให้ข้อมูลว่า ข้าวเจ้ายังมีความต้องการเยอะพอสมควร โดยเฉพาะจากประเทศทางตะวันออกกลาง ส่วนข้าวหอมมะลินั้น ยังมีคำสั่งซื้อจากฮ่องกง และอเมริกาอยู่เรื่อยๆ แต่หลังจากนี้ไปอาจจะส่งออกข้าวได้ลดลงจากช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และอินเดียเริ่มส่งออกมากขึ้น และปริมาณผลผลิตไม่ได้ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ส่งออกข้าวของไทยโดยภาพรวมแล้วยังคงดูดีอยู่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากทั่วโลกยังมีความต้องการข้าวในปริมาณมาก 

โดยในงวดที่ 1 - 28 ที่ผ่านมามีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วกว่า 2.635 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,866.20 ล้านบาท  และการช่วยเหลือไร่ละพันบาท เกษตรกรได้รับเงินแล้วกว่า 4.649 ล้านครัวเรือน วงเงิน 54,067.75 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป  

สำหรับ การค้าข้าว ขอความร่วมมือเกษตรกร โรงสี ผู้ค้า และหน่วยงานในพื้นที่กำกับดูแลและเพิ่มการตรวจสอบ ระมัดระวังไม่ให้เกิดการปลอมปนข้าว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าว และการส่งออกข้าวได้ นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใดๆที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569