นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวทั้งจากภาคการค้าและการส่งออกที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้า หลังจากเดือนมีนาคมภาคการส่งออกชะลอตัว 0.5% ซึ่งได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจการเงินโลกที่ยังคงมีความผันผวนอยู่ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ หากประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2566 มองว่าขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) รวมถึงมองไปข้างหน้าในไตรมาสที่ 2/2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและรายได้จากท่องเที่ยว ซึ่งจะหนุนการบริโภคปรับดีขึ้น โดยภาระต้นทุนที่เพิ่มจากค่าไฟที่ปรับสูงขึ้น ธปท.ได้ใส่ในประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจและการบริโภคแล้ว ซึ่งหากนโยบายภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนว่าจะอุดหนุนหรือไม่อุดหนุนจะมีการพิจารณาตัวเลขอีกครั้ง"

สำหรับรายละเอียดเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม 2566 และเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2566 พบว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2566 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำปรับลดลง 0.5% สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องจักรไปสหรัฐที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกหมวดอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐที่ปรับดีขึ้นตามรอบการผลิตและส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าน้ำมันดิบ หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติลดลงจากผลของด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว -0.2% หลังจากที่หมวดสินค้าคงทนได้เร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาคบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเทียบ YoY ปรับลดลงจาก 3.79% มาอยู่ที่ 2.83% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจาก 1.93% เหลือ 1.75% จากผลของฐานสูงในปีก่อน โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาหมวดอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้าเป็นสำคัญ

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลง ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่แผ่วลงทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ หลังทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์เดินทางมาไทยได้ ประกอบกับนักท่องเที่ยวสัญชาติยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย และมาเลเซียฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติหดตัว โดยเฉพาะตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด (รอมฎอน) โดย ณ วันที่ 15 เมษายน 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วทั้งสิ้น 8 ล้านคน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและอาหารสด จากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อนเช่นกัน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์เฉลี่ยอ่อนค่า เนื่องจากตลาดเพิ่มการคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐในช่วงต้นเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงไตรมาสก่อน