วันที่ 28 เม.ย.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนอันดับต้น กทม.มีแนวทางดำเนินการ 4 เรื่องประกอบด้วย 1.เปลี่ยนพฤติกรรม โดยชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วน แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ฝุ่นเกิดขึ้นตามฤดูกาล เมื่อหมดฤดูกาลก็หายไป จึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนไม่ต่อเนื่อง แต่จะเกิดการตื่นตัวต่อเมื่อฤดูกาลฝุ่นกลับมาปีละครั้งเท่านั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการชี้ให้เห็นความจำเป็นในการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย และนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ต่อเนื่องทั้งช่วงที่มีฝุ่นและไม่มี 

 

2.ประเมินสถานการณ์ระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมา มีการตื่นตัวเฉพาะเมื่อเกิดฝุ่นในระยะสั้นเท่านั้น และเกิดกระแสวิจารณ์ว่าทำไมภาครัฐถึงแก้ปัญหาไม่ได้ โดยลืมไปว่าเป็นปัญหาที่มีสาเหตุและความเกี่ยวเนื่องกับทุกคนมายาวนานทั้งเรื่องพฤติกรรม ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การแก้ปัญหาจึงต้องมีแผนในระยะยาว ไม่มีทางแก้ไขได้ภายในสัปดาห์เดียว ยกตัวอย่าง เรื่องย้ายท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีรถตู้คอนเทนเนอร์เข้าพื้นที่ปีละประมาณ 1,200,000 ตู้ เท่ากับมีรถบรรทุกเข้ามาในพื้นที่ปีละประมาณ 2,000,000 เที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล ประกอบกับเรือที่ใช้น้ำมันเตา ซึ่งก่อปัญหา PM2.5 เพิ่มเติม ทั้งนี้ การย้ายท่าเรือคลองเตยไม่สามารถทำได้ภายในปีเดียว ต้องมีแผนระยะยาว

 

3.ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้าช่วย สืบหาต้นตอของฝุ่น เพื่อการแก้ไขตรงจุด ซึ่งมีเครื่องมือช่วยหลากหลาย เช่นแพลตฟอร์มแจ้งปัญหาฝุ่น แอพพลิเคชั่นปลูกต้นไม้ แผนที่ต่างๆ ในการเฝ้าระวัง และการแจ้งเตือนล่วงหน้า 4.การร่วมมือกัน เช่น กทม.ไม่มีอำนาจควบคุมรถยนต์ แต่เป็นหน้าที่ของตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างการกำหนดพื้นที่ปลอดมลพิษทางอากาศของประเทศอังกฤษ เพื่อควบคุมรถที่ปล่อยมลพิษ หากเข้ามาในพื้นที่ต้องเสียเงินเพิ่ม เป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ได้ผล แต่ กทม.ไม่สามารถทำหน่วยงานเดียวได้ เพราะไม่มีอำนาจเรื่องควบคุมทะเบียนรถ ดังนั้น หากกรมการขนส่งทางบกระบุได้ว่ารถแต่ละคันปล่อยมลพิษเท่าไร กทม.ก็สามารถตรวจวัดเพื่อเรียกค่าปรับและกำหนดพื้นที่ปลอดมลพิษได้ ซึ่งเป็นทางแก้ไขในระยะยาวอีกทางหนึ่ง สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือกัน

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ในแผนวาระแห่งชาติ มีแนวทางแก้ไขครบทุกเรื่อง ทั้งแผนกำหนดการใช้น้ำมันยูโร5 และยูโร6 ซึ่งถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไป เรื่องการจับรถควันดำของตำรวจ เรื่องการตรวจเช็กสภาพรถของกรมขนส่งทางบกแต่ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องฝุ่น กทม.ถูกมองว่าเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว ทั้งที่มีหน่วยงานมากมายมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของตนเองเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว แต่ยังขาดความร่วมมือกัน ซึ่งแผนวาระแห่งชาติกำหนดให้ทุกหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ ร่วมกัน แต่ขาดการปฏิบัติที่ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ก็มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นได้ โดยการศึกษาแผนวาระแห่งชาติ แล้วติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความเอาจริงเอาจังมากน้อยแค่ไหนในการทำตามแผนดังกล่าว

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ตัวอย่างความสำเร็จในการเอาชนะฝุ่นสามารถศึกษาได้จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่มีขบวนการขั้นตอนในการเผาทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ยินดีประสานงานกับทุกหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหา เช่น ปลูกต้นไม้ ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น ตรวจวัดควันดำการเปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า การทำสวนสาธารณะเพิ่มเติม และยังมีอีกหลายกิจกรรมที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามแผนวาระแห่งชาติในระยะยาวต่อไป