บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

พักนี้คำว่า "ประชานิยม" มาแรง อะไรๆ ก็บอกว่าเป็นนโยบายประชานิยมไปเสียหมด ทั้งๆ ที่ในกฎหมายก็ไม่ได้มีการนิยามคำว่า "ประชานิยม" ไว้แต่อย่างใด เพียงแต่คำนี้เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้มานานแล้ว มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Populism" ที่คำนี้สามารถสืบสาวไปถึงขบวนการนักศึกษารัสเซียก่อนการปฏิวัติที่เรียกว่า "นารอดนิก" (Narodichestvo) ในรัสเซียช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งในยุคสมัยใหม่มีการนำแนวทางนโยบายแบบนี้มาใช้ในละตินอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 จนโด่งดัง ต่อๆ มามีการใช้นโยบายนี้มากมายในประเทศกำลังพัฒนา อ้างว่าเพื่อกระจายเม็ดเงิน สงเคราะห์คนยากจน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นการให้ความสำคัญหรือให้คุณค่าแก่คนทั่วไปหรือชนชั้นล่าง (รากหญ้า) ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อดึงคนรากหญ้าให้มีความนิยมในพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในช่วงนั้นๆ ในความเห็นต่างทางวิชาการเห็นว่า นโยบายประชานิยมมิใช่นโยบายที่ดี แต่เป็นนโยบายที่ทำลายกลไกปกติของตลาด ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มมองว่า นโยบายประชานิยมเป็นการสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจ (value added) ขึ้นจากการหมุนเงินเข้าใช้จ่ายในตลาดหลายรอบ เหมาะแก่การกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายของประชาชนภาพรวมดีขึ้น

สังคมไทยแปลกตรงที่ไม่ค่อยยอมรับความเห็นต่าง ยิ่งสมัยก่อนๆ เป็นสิ่งต้องห้าม ดังคำสอนคำพังเพยไทยหลายๆ คำ เช่น เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด เป็นผู้น้อยต้องเชื่อฟังและเคารพผู้ใหญ่ ไม่เถียงผู้ใหญ่ เป็นต้น คำสอนคำพังเพยให้เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ครูอาจารย์ ไม่ฝ่าฝืนจารีตธรรมเนียมโบราณ ไม่ดื้อรั้น หัวแข็ง ต้องเป็นเด็กดี ขยันเรียน แม้จะมีการแหกกฎ จริยธรรมบ้างก็ยังยาก สุดท้ายอาจถูกกล่าวหาด้วยคำว่า “ชังชาติ” (hate speech) ไม่รักดี อันเป็นบรรทัดฐานของสังคม (norm) มานานแต่ก่อน ซึ่งจะถูกผู้ใหญ่และสังคมตราหน้าลงโทษได้ แม้จะมีผู้ยกคติจริยธรรมว่าต้อง “เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน” “เป็นคนตรงในประเทศคด” สรุปว่า คนรุ่นเก่าก่อนเขากลัวอะไรกัน หรือว่ามันเป็น “generation gap” ด้วยปัจจุบันโลกยุคโซเชียลมัน disrupt ไปไกลเกินที่จะมามัวพะวงห้ามปรามความเห็นต่างได้ โดยเฉพาะความเห็นต่าง แตกต่างระหว่างวัยมันต้องมีจนได้ ตามทฤษฎีขัดแย้ง หยินหยาง มีดีมีชั่ว ที่ต้องมีของคู่กัน ตรงข้ามกันเสมอ การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้คนได้เรียนรู้ในมุมมองก็ยังกลัว โดยเฉพาะนักการเมืองต้องตระหนัก รับฟังเสียงนกเสียงกาบ้าง อย่าฟังแต่คำอวย คำเยินยอ จนหลง คำติชม ทักท้วง ย่อมเป็นสิ่งดี เพื่อการแก้ไขปรับปรุง จะมากจะน้อยก็ควรรับฟัง อย่าได้เกรงกลัว จนปิดกั้นสิทธิในการแสงดออกของเขา (free speech) แน่ใจหรือการตกอยู่ในภวังค์ในห้อง “เสียงสะท้อน” (echo chamber) ฟังแต่คำโป้ปดมดเท็จ โกหกหลอกลวง อวยไส้แตก ชมเยินยอเกิน ที่หลงอวย ชอบฟังแต่เสียงตนเองว่าดี เพราะเป็นสถานการณ์ที่ได้ยินแต่ความคิดเห็นแบบเดียวกันเท่านั้น ทำให้โลกของตนแคบไป รังแต่จะเป็นผลร้ายเป็นกับดักความคิดที่ไม่ดีเลย นอกจากนี้โพลชี้นำ (โพลจัดตั้ง) กับโพลสำรวจ (ตามหลักการ) ยังไงผลมันก็ต้องต่างกัน และในทางกลับกัน การถ่อมตัวมากเกิน ก็หาใช่สิ่งดีเช่นกัน

ท่ามกลางหลากหลายปัญหาที่ระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่ในเวลานี้และที่จะเผชิญในอนาคต ดร.วิรไท สันติประภพ เสนอว่า นโยบายเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญกับคำสามคำ คือ (1) productivity (ผลิตภาพ) ธุรกิจไทยต้องเก่งขึ้น (2) immunity (การสร้างภูมิคุ้มกัน) เพราะโลกมีความผันผวนไม่แน่นอนมาก การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเครื่องมือหนึ่งของการบริหารความเสี่ยง และ (3) inclusivity (การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง) ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจไทยที่สูงขึ้นเรื่อย เพราะทั้งสามเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น และแก้ไขยากขึ้นมากถ้าเราปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ไหลลงไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบจัดการ ทำให้ปัญหาสะสมมากขึ้น

ดร.วิรไท เห็นว่า ประชานิยม (populism) หรือ นโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบทางการคลัง โดยชี้ให้เห็นถึง 2 ปัญหาหลักคือ (1) นโยบายประชานิยมอาจะก่อให้เกิดภาระการคลังของรัฐบาล ทั้งภาระการคลังเฉพาะหน้าและภาระผูกพันในอนาคตที่เกิดจากการกู้ยืม ซึ่งเงินงบประมาณที่ต้องนำมาใช้เพื่อปฏิบัตินโยบายประชานิยมดังกล่าวมีมูลค่ามหาศาล (2) ความสามารถของระบบราชการในการนำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติได้อย่างเท่าเทียม และ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นได้กับนโยบายประชานิยมที่มีงบประมาณมหาศาลอีกด้วย

ประชาชน ประชานิยม และประชารัฐ

ที่จริงกลุ่มคำประชานิยมที่เป็นศัพท์บัญญัติ (technical term) มีใช้กันมานานแล้ว ในภาษาไทยก็เพิ่งใช้กันมาเมื่อราว 20 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง ที่นักการเมืองต้องมี Accountability หรือ “ความรับผิดชอบ” ต่อสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อประชาชน ปัจจุบันนโยบายประชานิยมได้กลายเป็นกระแสหลักของการเมืองในระดับโลกไปแล้ว เหมือนการติดสินบน เอาใจชาวบ้านผู้เลือกตั้ง (voter) ในปัญหาต่างๆ ที่คิดว่าจะต้องแก้ไขให้ดีขึ้นได้

หลายปีก่อน มีความพยายามรีไรต์ทบทวนที่มา ความหมาย และบทบาทของคำว่า “ประชานิยม” กันใหม่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะทั้งขึ้นทั้งล่อง “คำว่าประชานิยมได้กลายเป็นทั้งคำด่าและคำชม (โดยอัตโนมัติ) ไปในขณะเดียวกัน” มีการบัญญัติศัพท์ใหม่ฝ่ายรัฐขึ้นมาอีกตัวใช้คำว่า “ประชารัฐ” โดยอ้างฐานมาจากคำว่า “ประชาชน” (people) เช่นกัน นัยก็คือการพยายามหาคำใหม่ที่คิดว่าดีกว่ามาทดแทนคำเดิม เพื่อจะใช้คำใหม่ น่าแปลกก็คือกลับไปด้อยค่าคำว่า “ประชานิยม” คำเดิมที่บรรดาเหล่านักวิชาการได้นิยามไว้แล้วถึง 5 นิยามความหมาย (โดยเอนก เหล่าธรรมทัศน์) มีตั้งแต่นิยามอย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างแก่ อย่างทั่วไป เพราะ มีถึงขนาดว่า การโปรยเงินแจกจากเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Money) เป็นทั้งความหมายอ้างอิงจากบริบทต่างประเทศ หรือในบริบทแบบไทย เห็นว่าคำใหม่ “ประชารัฐ” หรือแม้แต่คำว่า “ไทยนิยม” (2561) นี้มันก็คือ ศัพท์ใหม่บริบทใหม่ของ “ประชานิยม” นั่นเอง ไม่แตกต่างกันเลย

สฤณี อาชวานันทกุล (2559) สรุปว่า “นโยบายประชานิยม” ไม่ได้มีความหมายด้านบวกหรือลบในตัวมันเองแต่อย่างใด มีเพียงความหมายกลางๆ ว่า เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็หมายถึงคนจนและชนชั้นกลางระดับล่างในประเทศกำลังพัฒนา การตัดสินว่านโยบายประชานิยมนโยบายใด “ดี” หรือ “ไม่ดี” จึงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น นโยบายนี้พุ่งเป้าไปที่คนจนจริงหรือไม่ ประโยชน์ตกถึงมือกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่เพียงใด บิดเบือนกลไกตลาดอย่างรุนแรงจนส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวหรือไม่ รัฐใช้เงินมือเติบจนส่งผลเสียต่อสถานะการคลังอย่างรุนแรงหรือไม่ ฯลฯ นักเศรษฐศาสตร์ยิ่ง “ขวาตกขอบ” ยิ่งมีแนวโน้มตีขลุมเหมารวมนโยบายประชานิยมว่า “เลว” คือ ไม่คุ้มค่า บ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว การเกทับนโยบายกันไปมา ไม่สนใจปัญหาอื่นที่จะตามมา ทำให้นักลงทุนหนีได้ นักธุรกิจบางคนถึงขนาดกล่าวว่า ให้พวกนักเลือกตั้งสัตว์การเมือง หาเสียงโดยใช้ประชานิยมนี้ ทำได้เฉพาะกับ พวกคนโง่เขลาเท่านั้น ตัวอย่างที่ผ่านมาประชานิยมล้มชาติ คืออาร์เจนตินาจากประเทศที่รุ่งเรืองสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ยิ่ง “ซ้ายตกขอบ” ยิ่งมีแนวโน้มชอบนโยบายประชานิยม จะชื่นชมเชิดชูนโยบายประชานิยมว่า “ดี” ไร้ที่ติ ไม่ใส่ใจว่ามันตรงจุดหรือไม่ ก่อผลข้างเคียงหรือผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่ สรุปรวมว่า เราพูดไม่ได้ว่านโยบายไหน “ไม่ดี” หรือ “ดี” ทันทีที่เราตัดสินว่ามันเข้าข่าย “ประชานิยม”

ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช (2564) มองว่า มีคำนิยาม “ประชานิยม” ใน 2 รูปแบบ (แนวทาง) ที่จำเป็นต้องแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ (1) ประชานิยมแบบต่อต้านอำนาจชนชั้นนำ (Populism in opposition) ซึ่งมักจะช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตย เช่น การต่อสู้ของขบวนการนารอดนิก (Narodichestvo) ในรัสเซีย กลุ่มเกษตรกรในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1850-1890 ในละตินอเมริกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ให้ความสำคัญกับคนรากหญ้าและชนชั้นแรงงาน (2) ประชานิยมในทางอำนาจ (Populism in power) ซึ่งอาจลดทอนความเป็นสังคมพหุนิยมที่ยอมรับความหลากหลายและเป็นพื้นฐานของประบอบประชาธิปไตย เพราะการถือเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ตามนิยามของคำว่าประชานิยม อาจเป็นการปกป้องเสียงข้างมากแบบสุดโต่ง โดยไม่รับฟังเสียงส่วนน้อย และกระทบต่อสถาบันอิสระที่มีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน และนำไปสู่การปกครองแบบ “อำนาจนิยม” เพราะมีการยึดติดในตัวผู้นำมากจนเกินไป เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรืออัลเบร์โต ฟูจิโมริ (เปรู) เป็นต้น

ประชานิยมในความหมายไทย

เพื่อความสมประโยชน์ของสังคมแน่นอนความเกรงกลัวว่า จะมีการผลาญเงินงบประมาณเพื่อมาใช้ในการดำเนินการนโยบาย “แบบประชานิยม” ทำให้การพัฒนาประเทศเสียหาย ไม่ต่อเนื่อง เพราะมุ่งหาเสียงโดยใช้งบประมาณรัฐ รัฐบาลยุค คสช. จึงได้ตรากฎหมายเพื่อการควบคุม “นโยบายประชานิยม” นี้ไว้ในกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายวินัยการเงินการคลัง คือ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยเฉพาะ มาตรา 9 ที่บัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

กฎหมายไทยบัญญัติความหมายคำว่า “นโยบายประชานิยม เป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” โยงไปถึงกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยเฉพาะการหาเสียงโดยสัญญาว่าจะให้ หรือ การหาเสียงโดยหลอกลวง ที่พูดแล้วทำไม่ได้ ด้วยเหตุ “ความเป็นไปได้” “เพ้อฝัน” “เกินจริง” ที่กำลังมีปัญหาวิพากษ์กันอยู่มาก ณ เวลานี้ เป็นปัญหาเรื่องบรรทัดฐานว่าอยู่ตรงไหน จะต้องให้ใครมาวินิจฉัยตัดสิน เพราะว่า เมื่อได้หาเสียงไว้แล้วแต่ไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล นโยบายหาเสียงที่พูดไว้ก็ไม่สามารถบรรลุผลได้ กกต.มิได้มีองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์มากนัก การโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญไกลเกิน เพราะอาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง

ประชานิยมในความหมายแบบบ้านๆ ที่คนเข้าใจง่ายคือ นโยบายที่ฝ่ายการเมืองเอาใจคน ผูกใจคนให้รัก ให้ชอบ ให้นิยม เอามาเป็นหัวคะแนน มาเป็นฐานเสียงในการค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของตน และฝ่ายตน ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป และตลอดไป แต่ก่อนการผูกใจคนก็โดยการซื้อ การจ้าง การแจกเงิน แจกสิ่งของ (แจกจริง) ต่อมา มีกติกาห้ามแจก เพราะเป็นการจูงใจคนที่ไม่ถูกต้อง เอาเปรียบกัน เป็นการทุจริต คนมีเงินก็จ่ายได้หมด แต่คนไม่มีเงิน หรือ คนมีเงินน้อยจะทำไม่ได้ ต่อๆ มาก็มีเทคนิคต่างๆ อีกเยอะ โดยไม่ต้องจ่ายเงิน เช่น การอุปถัมภ์ลูกหลานญาติให้เข้าทำงานในส่วนราชการที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจอยู่ก่อนที่จะหมดวาระอำนาจ การสัญญาว่าจะให้ฯ การช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ต่างๆ ต่อกลุ่มคน โดยใช้งบประมาณของรัฐ ในทางอ้อมประชานิยมทำให้คนไทยประมาท ราคาสินค้าขึ้นเร็ว คนต้องจ่ายต้องใช้ พลังงาน ไฟฟ้า แก๊ส สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ขึ้นราคาบาน น้ำมันปั๊มเล็กก็แพงลิบลิ่ว ค่ารถเมล์ รถไฟ ฟรี น้ำฟรี ไฟฟรี ก็คงจะขายไม่ได้แล้ว เพราะมันน้อยไป

วัฒนธรรมการเมืองไทย (political culture) ยังอ่อนแอ

ฝ่ายก้าวหน้ามองระบบตุลาการอ่อนต่ออำนาจนิยม สังคมมีแต่เรื่องแก้ตัว (ไม่แก้ไข) ไปวันๆ กฎหมายเอาผิดคนลอยนวลไม่ได้ เลยไม่มามองเห็นประโยชน์คุณค่าของนโยบายประชานิยม ที่มันอาจไปแทงใจดำอีกฝ่ายในคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ลองย้อนไปเมื่อคราวการหาเสียงของพรรคการเมืองครั้งที่แล้ว (2562) เพราะเอาเข้าจริง นโยบายที่ฝ่ายอำนาจได้หาเสียงไว้มันทำตรงกันข้ามไปเลย

การไปด้อยค่า (bullying) คือปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย ที่ไม่สร้างสรรค์ สาด ค้น รื้อ ประจาน สาวไส้ความไม่ดีของฝั่งตรงข้าม รวมทั้งการหลอกล่อ สร้างสถานการณ์ การวิเคราะห์เทียม สร้างภาพในโซเชียลทั้งของจริงของปลอมมั่วไปหมด นักเลือกตั้งและพรรคการเมืองต้องแยกแยะ ไม่หาเสียงด้อยค่า เอามัน สะใจแล้วได้อะไร คนเรามีดีกับเสีย มันปนกันอยู่ ถ้าตนแยกไม่ออก แล้วจะปล่อยให้คนอื่นแยกแยะออกคงยาก การเสพข่าวโซเชียลง่ายมาก แต่การแยกแยะกรองข่าวปลอม ข่าวเท็จ เฟกนิวส์แสนยาก ยิ่งปัจจุบันที่โลก AI มีมากขึ้น การแยกข่าวจริงข่าวปลอมจึงแสนยากสำหรับคนธรรมดาทั่วไป การตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ง่ายก็เท่ากับมีการเสพข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ง่าย ส่งผลให้การตัดสินใจการรับรู้ทางการเมืองที่ผิดพลาดไปหมด อันตรายยิ่ง

ปัจจัยแนวโน้มใดที่ทำให้ผู้เลือกตั้ง (voter) แต่ละกลุ่มตัดสินใจเลือกผู้สมัครพรรคการเมืองใดๆ เช่น กลุ่มผู้เลือกตั้งที่ไม่ค่อยศึกษาติดตามข้อมูลเรื่องการบริหารบ้านเมือง หรือ ศึกษาผลงานของ ส.ส.รอบที่ผ่านมา เขาจะยังคงเลือกผู้ที่ตนคุ้นเคยเป็นหลัก รองลงไป ก็คือ นโยบายที่ตรงใจ จึงน่าเป็นห่วงในวัฒนธรรมทางการเมืองไทยว่า ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก และเปิดโอกาสให้เขาได้แสวงหาข้อมูลข่าวสารได้โดยเสรีหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งการเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่าย แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยฝ่ายอำนาจรัฐไม่ปิดกั้น ไม่เลือกปฏิบัติให้แตกต่าง ยิ่งการทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ ยากไว้ก่อน แม้เรื่องเพียงเล็กน้อยของฝ่ายอำนาจ (เช่น กกต.) ยิ่งทวีคูณสร้างปัญหา การไม่ส่งเสริมความเข้มแข็งของการเมืองระบบพรรค ก็คืออุปสรรคสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะการไม่ส่งเสริมระบบพรรค และการปิดกั้นสิทธิทางการเมืองใดๆ ย่อมหมายถึงปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนไปด้วยนั่นเอง เพราะแม้ว่ากระบวนการการเลือกตั้งจะมีกฎหมายบัญญัติกติกาไว้แล้วก็ตาม มันยังไม่เพียงพอต่อวัฒนธรรมทางการเมืองของโลกเสรีที่ไร้พรมแดน สื่อโซเชียลออนไลน์มีอิทธิพลมากทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ติ๊กต๊อก ไลน์ มีหมด ที่คนรุ่นใหม่ใช้สื่อสารกัน ว่ากันว่า มีผลต่อการโน้มน้าวในรุ่นลูก รุ่นพ่อรุ่นแม่ เช่น คนรุ่นลูกจะโน้มน้าวคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้มาลงคะแนนตามด้วย แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะโน้มน้าวให้คนร่นลูกมาลงคะแนนตามไม่ได้ ในสัดส่วนคนรุ่นใหม่นิวโหวตเตอร์ (New&First Voter) 4 ล้าน (7.67%) กับคนรุ่นเก่า baby boomer 4 ล้าน (27.48%) ที่เสียงคนรุ่นใหม่ไม่สามารถชนะเสียงคนรุ่นเก่าได้ และสัดส่วนฝ่ายเสรีนิยมต่ออนุรักษนิยม 60:40

หากต่างฝ่ายต่างไม่หันหน้ามาทำความเข้าใจกัน พูดกันคนละที คนละเรื่องเหนื่อยจังประชานิยมไทย