หลายคนคงเคยพบเจอเวลาจ้างงานกับบริษัท หรือบุคคลที่จดทะเบียนภาษีเงินได้ต้องมีเรื่องของ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ค่าจ้างหัก ณ ที่จ่าย ในการจ้างทำงานต่าง ๆ ส่งผลให้รายได้ที่เกิดขึ้นไม่เต็มจำนวน จึงเกิดเป็นข้อสงสัยว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร มีกี่ประเภท และแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด จึงอยากนำเอาข้อมูลทั้งหมดมาอธิบายให้เข้าใจกันมากขึ้น

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ เงินที่ผู้จ่ายซึ่งได้มีการจดทะเบียนภาษีไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาก็ตามทำการหักรายได้ส่วนหนึ่งเอาไว้ก่อนจ่ายชำระเงินให้กับผู้รับจ้างทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา จากนั้นจึงนำเอาเงินส่วนดังกล่าวส่งให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป และต้องมีการออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับจ้างทุกครั้ง ซึ่งตัวของผู้รับจ้างสามารถใช้หนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารรับรองสำหรับยื่นขอคืนภาษีในภายหลัง
ทั้งนี้หากการว่าจ้างดังกล่าวมีมูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท ทางกรมสรรพากรได้ระบุเอาไว้ว่าไม่ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ยกเว้นการจ้างงานรวมกันหลายครั้งแม้แต่ละครั้งจะมีค่าจ้างไม่เกินข้อกำหนดแต่เมื่อรวมกันตลอดปีแล้วมากกว่า 1,000 บาท ก็ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร
เมื่อเข้าใจถึงความหมายของการหักภาษี ณ ที่จ่ายกันไปแล้ว คราวนี้ก็มาลองเช็กอัตราที่ผู้รับจ้างต้องโดนหักว่าการจ้างงานแต่ละประเภทอยู่ในอัตราเท่าไหร่ ซึ่งแบ่งออกได้ ดังนี้

1. ค่าจ้าง / เงินเดือน
เชื่อว่ามีพนักงานบริษัทหลายคนไม่รู้เกี่ยวกับรายได้ของตนเองที่ได้รับต้องมีการหักภาษีดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเรียกว่า “ค่าจ้างหัก ณ ที่จ่าย” ก็ได้เช่นกัน ปกติแล้วทางฝ่ายบัญชีขององค์กรจะนำเอารายได้ตลอดปีของพนักงานมารวมกันและหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยกรณีที่รายได้หักค่าลดหย่อนต่าง ๆ เหลือเป็นรายได้สุทธิตลอดปีไม่เกิน 150,000 บาท พนักงานจะไม่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ถ้าหากเกินจากนั้นก็ใช้วิธีคำนวณตามฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น
นาย A มีเงินได้สุทธิตลอดปีอยู่ที่ 300,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนแรก 150,000 บาท เหลือเงินที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 150,000 บาท ก็จะต้องไปเข้าเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้ตามอัตราก้าวหน้าที่ 5% 
เมื่อคำนวณออกมาจะได้เป็น 150,000 x 5% = 7,500 บาท แล้วจึงนำไปเฉลี่ยออก 12 เดือน ตามสูตรคือ 7,500 / 12 = 625 นั่นหมายถึง นาย A ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเดือนละ 625 บาท 

2. ค่าจ้างทำงาน
จะเป็นลักษณะของนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนภาษีจ้างบุคคลธรรมดาให้ทำงาน เช่น พนักงานขายรายวันได้ส่วนแบ่งเป็นค่าคอมมิชชั่น จ้างเก็บข้อมูลโดยใช้อุปกรณ์ของผู้ว่าจ้าง ฯลฯ จะใช้หลักการคำนวณค่าจ้างหัก ณ ที่จ่าย แบบเดียวกับข้อแรก ซึ่งอัตราต่ำสุดอาจอยู่ที่ 0% คือ ไม่ต้องจ่ายเลย กรณีรายได้สุทธิตลอดปีไม่ถึง 150,000 บาท

3. ค่าจ้างบริการ / ค่าจ้างเหมา
ไม่ว่าจะเป็นการรับทำนามบัตร รับทำการตลาดออนไลน์ รับผลิตสินค้า รับรีวิวสินค้า ช่างภาพถ่ายรูป หรืออื่นใดที่ผู้รับจ้างต้องใช้อุปกรณ์ของตนเองเป็นหลัก ผู้ว่าจ้างที่จดทะเบียนภาษีไม่ได้มีการจัดหาวัสดุ / อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ แบบนี้จะเรียกเป็นค่าจ้างบริการ หรือการจ้างแบบรับเหมา ต้องมีการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายอยู่ที่ 3% 

4. ค่าจ้างวิชาชีพอิสระ

จะมีความแตกต่างกับการจ้างรับเหมาทั่วไป เพราะวิชาชีพอิสระ หมายถึง อาชีพเฉพาะทางที่ผู้ว่าจ้างจดทะเบียนภาษีได้ทำการจ้างงาน ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งวิชาชีพอิสระประกอบไปด้วย
-    โรคศิลปะ เช่น เภสัชกรรม ทันตกรรม เวชกรรม พยาบาล ผดุงครรภ์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด 
-    สถาปนิกเพื่อการออกแบบ
-    งานประณีตศิลป์ เช่น หล่อพระพุทธรูป งานวาดผนัง งานปั้นต่าง ๆ
-    วิศวกรเพื่อการออกแบบ
-    นักบัญชี เช่น การตรวจสอบบัญชี การจ้างทำบัญชีนอกองค์กร
-    ทนายความ

5. ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์
เช่น การเช่าที่เปิดบริษัท เช่าที่เปิดสาขา เช่าที่เพื่อให้พนักงานอยู่อาศัย ฯลฯ ทั้งหมดถือเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ซึ่งการเช่าในที่นี่นับเฉพาะผู้เช่าคือคนที่ถือกุญแจเสมือนเป็นอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง ถ้าหากเป็นการเช่าชั่วคราว เช่น เช่าที่ขายของในอีเว้นท์จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มการจ้างเหมา หักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
6. ค่าจ้างโฆษณา

การทำโฆษณาสำหรับโปรโมทองค์กร โปรโมทแบรนด์ ซึ่งจ้างผ่านเอเจนซี่ บริษัทโฆษณา เพื่อให้ผลงานออกไปตามสื่อต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (ไม่เกี่ยวกับจ้างทำการตลาด เช่น รีวิวสินค้า จ้างทำ SEO) ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 2% 

7. ค่าขนส่ง
เฉพาะกรณีที่ผู้ขนส่งมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและขึ้นทะเบียนครบถ้วน ผู้ว่าจ้างต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% แต่ถ้าผู้ขนส่งไม่ได้มีการจดทะเบียนก็ไม่ต้องหักใด ๆ
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือจะเรียก ค่าจ้างหัก ณ ที่จ่าย ก็ไม่ว่ากัน ย้ำอีกครั้งว่าเงินดังกล่าวที่ถูกหักไปไม่ว่าผู้รับจ้างจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา สามารถขอคืนภาษีได้ตามกฎหมาย เพียงแค่เก็บเอกสารหลักฐานทั้งหมดเอาไว้และดำเนินการตามขั้นตอนที่ทางกรมสรรพากรกำหนด