ดนตรี/ทิวา สาระจูฑะ

ไม่น่าเชื่อว่า 42 ปีของการก่อตั้งวง และ 40 ปีนับจากการออกอัลบั้มแรก เมทัลลิก้า เพิ่งออกอัลบั้มมาแค่ 11 ชุด รวมถึง 72 Seasons ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดชุดที่ 11

เมทัลลิก้า เป็นหนึ่งใน ‘บิ๊กโฟร์’ ของวงแทรช-เมทัลกระแสที่มาแรงตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 อีก 3 วงคือ เมกาเด็ธ, แอนแทร็กซ์ และ สเลเยอร์ ทุกวันนี้ยังเป็นสมาชิกหน้าเดิม สามคนอยู่กันมาตั้งแต่อัลบั้มแรก คือ เจมส์ เฮ็ทฟีลด์ - ร้องนำ/กีตาร์ริธึ่ม, เคิร์ค แฮมเม็ทท์ - กีตาร์นำ, ลาร์ส อูลริช – กลอง และ โรเบิร์ท ทรูฮิลโล่ ที่เข้ามาแทน คลิฟฟ์ เบอร์ตัน มือเบสคนเก่าที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

เหตุที่ผลงานออกมาไม่มาก อาจจะเป็นเพราะห้วงเวลาแห่งความสำเร็จมหาศาล พวกเขาก็พบปัญหาภายในวง ทั้งปัญหายาเสพติด, ความตึงเครียดในการทำงาน, เรื่องเปลี่ยนแปรทางธุรกิจ และปัญหาครอบครัวของสมาชิก

เมทัลลิก้า ก็เหมือนวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จขนาดใหญ่ หลังจากนั้นแฟนเพลงมักคาดหวังให้วงสร้างผลงานเป็นเช่นเดิมอย่างที่พวกเขาเคยฟังและชื่นชอบ ขณะที่คนทำเพลงก็อยากขยายขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ของตนออกไป อย่างน้อยก็เพื่อหลีกเลี่ยงจากความเบื่อหน่ายที่เกิดจากความซ้ำซาก หรือไม่ก็ปรับตัวเพื่ออยู่รอดทางธุรกิจ

ในช่วงทศวรรษ 1990 กระแสของกรันท์กำลังมาแรงและส่งอิทธิพลแพร่หลาย เมทัลลิกา ก็ปรับตัวในอัลบั้ม Load (1996) และ Reload (1997) ด้วยการลดภาคของเมทัลลง และเพิ่มวิธีของอัลเทอร์เนทีฟเข้าไปในดนตรี แม้ทั้งสองอัลบั้มจะประสบความสำเร็จบนตารางอันดับเพลงทั่วโลก แต่แฟนเพลงสายแข็งและนักวิจารณ์กลับวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ

และแม้ผลงานหลังจาก Load และ Reload จะติดอันดับ 1 บนตาราง บิลล์บอร์ด 200 ทุกชุด แต่ เมทัลลิก้า คงคิดหนักเกี่ยวกับการทำงาน หรือบางทีอาจจะมีภาวะของศิลปินที่เรียกว่า ‘ตัน’ ผลงานแต่ละชุดจึงใช้เวลานานขึ้น อย่าง 72 Seasons ก็ทิ้งช่วงห่างจาก Hardwire…to Self-Destruct อัลบั้มก่อนหน้านี้นานถึง 7 ปี

ดูเหมือนว่า เมทัลลิก้า พยายามจะย้อนไปสู่ยุคสมัยแรกๆที่ทำให้วงมีชื่อเสียงขจรขจายด้วยการทำดนตรีหนักหน่วง รวดเร็วเหมือนรถติดซูเปอร์เทอร์โบ ไม่มีเพลงช้าเลยแม้แต่เพลงเดียวใน 72 Seasons แต่ก็นั่นแหละ เมื่อวันเวลาเปลี่ยน วัยที่มากขึ้น วุฒิภาวะและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น เมทัลลิก้า กลายเป็นมืออาชีพรุ่นใหญ่ที่เก๋าเกม ซาวด์รวมของอัลบั้มจึงไม่ดิบกร้านเหมือนยุคที่พวกเขาถูกประทับตราว่าเป็นแทรช-เมทัล

ขณะเดียวกัน 72 Seasons ก็เปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนได้โชว์ฝีมือจัดจ้านและความแข็งแกร่งของตนเองอย่างเต็มที่ กลองของ ลาร์ส อูลริช ถูกดันออกมาข้างหน้าในการมิกซ์ เบสของ โรเบิร์ท ทรูฮิลโล่ เดินอย่างหนักแน่นและแพรวพราว ดนตรีมีช่องว่างมากมายให้ เคิร์ท แฮมเม็ทท์ สำแดงฝีมือโซโล่กีตาร์ ขณะที่ เจมส์ เฮ็ทฟีลด์ เหนียวหนึบกับกีตาร์ริธึ่ม และที่สำคัญ เสียงร้องของเขายังคงสุดยอดอย่างเหลือเชื่อ

จุดแข็งอีกอย่างของ เมทัลลิก้า ที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จเหนือวงเมทัลรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือพวกที่ตามหลังมา และยังเกาะเกี่ยวอยู่ในกระแสดนตรีปัจจุบันที่ผันผวนเปลี่ยนแปรไปมากมายได้นั้น คือ แนวเนื้อหาและลีลาการใช้คำของเพลงซึ่งเขียนโดย เจมส์ เฮ็ทฟีลด์

72 Seasons หรือ 72 ฤดูกาล เป็นการเปรียบว่า 1 ปีมี 4 ฤดู (ของฝรั่ง) 72 ฤดูก็คือ 18 ปี ชื่ออัลบั้มจึงหมายถึงช่วงเวลา 18 ปีแรกของชีวิตคน ความหมายของแนวเนื้อหาในอัลบั้มนี้คือ ระยะเวลาของคนเราตั้งแต่เกิดถึงอายุ 18 ช่วงที่คนคนหนึ่งกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

เจมส์ เฮ็ทฟีลด์ ย้อนกลับไปสู่อดีตของเขาเอง นำเอาสิ่งที่เขาเคยเป็น, รู้สึก และพานพบมาร้อยเรียง มีทั้งความเกรี้ยวกราด, เก็บกด, เจ็บช้ำ, พลังเร่าร้อนรุนแรงของวัย และอิทธิพลร้ายๆที่เข้ามา แต่ถูกเติมด้วยการไตร่ตรองถึงชีวิต, ความตาย และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เขามองกลับไปในการเติบโตขึ้นมาของตัวเองอย่างชัดเจน แต่ไม่ใช่ด้วยความโกรธอีกต่อไป

พูดได้ว่า 72 Seasons เป็นผลงานคุณภาพที่เหมาะสมกับวัยของ เมทัลลิก้า ในวันนี้ เหมือนกับว่า ขณะที่พยายามพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ด้วยเนื้อหา พวกเขาก็ยื่นมือกลับไปจูงแฟนเพลงเก่าๆให้เดินไปข้างหน้าด้วยกัน แต่ก็แน่นอนว่า หลายคนคงไม่ตามมาด้วย

 

ขอบคุณภาพจาก metallica.com