ประเพณีปอยส่างลอง หรือประเพณีบวชลูกแก้ว เป็นการบวชเณรให้กับบุตรหลานตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวไทใหญ่หรือชาวไตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ด้านกรมการศาสนา(ศน.) ร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการสืบสานประเพณีปอยส่างลอง จัดพิธีบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2566 ที่วัดในสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจ.แม่ฮ่องสอน นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา และหัวหน้าส่วนราชการในจ.แม่ฮ่องสอน ผู้ปกครอง พุทธศาสนิกชน รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนกว่า 500 คน เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา

การจัดงานบรรพชาสามเณรตามประเพณีปอยส่างลองที่วัดในสอย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 เมษายน 2566 มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมบรรพชาสามเณรกว่า 100 รูป ที่เกิดจากแรงศรัทธาของบิดามารดาของคนไต (ไทใหญ่) ที่ยึดมั่นในบวรพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง โดยสละสิ่งของเงินทองที่เป็นทรัพย์ภายนอกเพื่อสนับสนุนกุลบุตรบรรพชา ให้ได้มีโอกาสพบอริยทรัพย์ในทางพระพุทธศาสนา โดยการบรรพชาเพื่อเสียสละ ความสุขลาภยศสรรเสริญมุ่งสู่พระนิพพาน

ในส่วนของงาน วันที่ 22 เป็นวันรับส่างลอง/เรียกขวัญส่างลอง ปลงผมส่างลอง (จางลอง) และแห่ส่างลองเพื่อขอขมาพระสงฆ์/สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (ศาลเจ้าเมือง) ณ วัดในสอย ขอขมาผู้ใหญ่บ้าน และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่เคารพนับถือ วันที่ 23 เคลื่อนขบวนแห่สามเณรการแห่เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารต่างๆ (ครัวหลู่) พิธีผูกข้อมือรับขวัญส่างลองเพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ได้ผูกข้อมืออวยพร ให้พรแก่ส่างลอง และพิธีบรรพชาสามเณร (ข่ามส่าง) ตามประเพณีของชาวไทใหญ่ และวันที่ 24 พิธีบรรพชาอุปสมบท (ข่ามจาง) ณ วัดในสอย

สำหรับศน. ในส่วนภูมิภาคนั้นได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่นำร่อง 76 จังหวัด ร่วมดำเนินโครงการบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณีทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2566 มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 10,000 คน เป็นการเปิดโอกาสให้ได้แสดงออกทำความดีด้วยการบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี เพื่อถวายพระราชกุศล อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบุพการี ผู้มีอุปการคุณ ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม อาทิ ธรรม วินัย พุทธประวัติ เทศนา ศาสนพิธี ฝึกสมาธิ นำหลักธรรมมาใช้ในชีวิต และยังเป็นการจรรโลงศาสนาทำให้เกิดศาสนทายาทในบวรพระพุทธศาสนา อีกทั้งสืบสานประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามให้คงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป