รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาระบบสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันกทม.กำลังจัดกลไกในการบริหารจัดการพื้นที่ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ (Bangkok health Zoning) เพื่อดูแลประชาชนในกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการจัดหน่วยพยาบาลมอเตอร์แลนซ์ หรือมอเตอร์ไซค์สำหรับเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครเข้าถึงผู้ป่วยได้ยากในเวลาฉุกเฉิน การนำมอเตอร์แลนซ์มาใช้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยในเวลาฉุกเฉินโดยเฉลี่ย 4 นาทีในระยะทาง 10 กิโลเมตร หรือไม่เกิน 8 นาที ตามเวลาสากล ซึ่งกำหนดให้การเข้าถึงพื้นที่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือการบรรเทาสาธารณภัยต้องไม่เกิน 8 นาที จากสถิติ การช่วยเหลือผู้ป่วยบนท้องถนนหรือพื้นที่ต่างๆ ภายในระยะเวลาดังกล่าวสามารถลดการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ ลดการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทั่วโลกจึงกำหนดให้การเข้าถึงพื้นที่ภายใน 8 นาทีเป็นมาตรฐานสากล
โดย กทม.เริ่มทดลองนำร่องที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน มอเตอร์แลนซ์ออกปฏิบัติการไปแล้วทั้งหมด 496 ครั้ง ช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีหัวใจหยุดเต้นทั้งหมด 48 ครั้ง หัวใจกลับมาเต้น 16 รายนอกจากนี้ มอเตอร์แลนซ์ยังมีระบบ Telemedicine หรือกล้องวิดีโอเพื่อวินิจฉัยทางไกล สามารถส่งภาพกลับไปยังแพทย์ในสถานพยาบาลต้นทางเพื่อประเมินอาการและแนะนำการรักษา ณ จุดเกิดเหตุได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล ซึ่งในเดือน พ.ค.นี้ กทม.มีแผนขยายโครงการมอเตอร์แลนซ์ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานครมากขึ้น
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า Bangkok health Zoning คือการรวบรวมภาคีเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยจากภาคส่วนต่างๆซึ่งที่ผ่านมา กทม.พบว่า การเข้าถึงผู้ป่วยในเวลาฉุกเฉินยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร รวมถึงการดูแลผู้ป่วยยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ ทั้งเรื่องเตียงรักษา รวมถึงประชาชนต้องใช้เวลารอคอยการรักษายาวนาน การรวบรวมภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่ใกล้สถานพยาบาล สามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยโครงการ Bangkok health Zoning แบ่งโซนการรักษาเป็น 7 โซน แต่ละโซนมีโซนย่อยอีก 20 โซน ประกอบด้วย คลินิกอบอุ่นศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในพื้นที่ โดย 1 โซนครอบคลุมพื้นที่ 2-4 เขต เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นใจ สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทั้งระดับปฐมภูมิถึงทุติยภูมิ รวมถึงสามารถส่งต่อการรักษาให้โรงพยาบาลภายในเขตและนอกเขตได้ ซึ่งทุกโซนมีโรงพยาบาลหลักรองรับทั้งหมด ภายใต้แนวคิด ใกล้บ้านใกล้ใจ
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านทำหน้าที่เหมือนเพื่อนทางสุขภาพ มีบทบาทมากกว่าการรักษาพยาบาล สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมสุขภาพให้คนในชุมชน สร้างกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ เช่น ออกกำลังกาย การรณรงค์หรือให้คำแนะนำด้านการรักษาสุขภาพต่างๆ ประชาชนสามารถขอข้อมูลและใช้บริการได้หลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องป่วย อย่างไรก็ตาม หากมีอาการป่วยรุนแรง ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านก็พร้อมส่งต่อให้โรงพยาบาลแม่ข่ายภายในโซน ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลในสังกัด กทม.และโรงพยาบาลที่ร่วมเครือข่าย ทั้งนี้ การรวบรวมเครือข่ายสถานพยาบาลต่างๆ นอกสังกัด กทม. ทั้งร้านขายยา โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน พร้อมนำเทคโนโลยี Telemedicine และ มอเตอร์แลนซ์เข้าช่วย เพื่อให้สัดส่วนการดูแลคนไข้จากแพทย์ 1 คน ต่อคนไข้ กทม. 100,000 คน ลดลงเหลือคนไข้ต่ำกว่า 10,000 คน ต่อแพทย์ 1 คน จากประชากรแฝงในกรุงเทพฯ ทั้งหมดกว่า 10 ล้านคน รวมถึงเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายและสะดวกขึ้น