ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีได้ไปเยือนจีน และได้พบกับนายฉินกัง รมว.ต่างประเทศของจีน ในการพูดคุยฝ่ายเยอรมนี พยายามเรียกร้องให้จีนกดดันรัสเซียให้ยุติสงคราม ซึ่งในข้อความระบุว่า “ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะมีอิทธิพลต่อรัสเซียเพื่อให้ยุติสงคราม นอกจากจีน”

ถ้าจะให้แปลความหมายก็ต้องบอกว่าเยอรมันอยากให้จีนไปกดดันรัสเซีย ให้มีการเจรจายุติสงครามยูเครน ตามแผนสันติภาพที่จีนนำเสนอ

แต่พอนางอันนาเลนา แบร์บ็อก กลับประเทศ เยอรมนีก็มีแผนการซ้อมรบทางอากาศกับนาโต โดยใช้พื้นที่เยอรมนีเป็นหลัก ในเดือนมิถุนยนซึ่งจะมีเครื่องบินรบมาร่วมรบประมาณ 200 ลำ อันนับว่าใหญ่มาก

มองในด้านหนึ่งก็อาจมองได้ว่าต้องการกดดันรัสเซีย อีกด้านให้มาเจรจา อีกด้านหนึ่งการจัดซ้อมรบดังกล่าว จะนับเป็นการข่มขู่รัสเซียได้หรือไม่ ว่าถ้าไม่เจรจาก็พร้อมรบ แล้วคนอย่างปูตินจะยอมหรือ

ตรงข้ามถ้าใช้ท่าทีการทูตกับรัสเซียจะไม่ดีกว่าหรือ แต่เยอรมนีทำการตรงข้าม ขับเจ้าหน้าที่การทูตรัสเซียออกนอกประเทศนับร้อย ผลคือรัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการขับนักการทูตจำนวนเท่าเทียมกันคือ 200 คน

เท่านั้นยังไม่พอเยอรมนียังเร่งส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตไปให้ยูเครน แม้ไม่อาจป้องกันภัยทางอากาศได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด นอกจากเมืองใหญ่อย่างเคียฟ แต่ก็เป็นการกดดันรัสเซีย จนทำให้ออกมาตอบโต้ว่าไม่อาจป้องกันภัยยูเครนทางอากาศจากรัสเซีย เพราะนอกจากฝูงบินที่ทันสมัย รัสเซียยังมีขีปนาวุธพิสัยกลาง พิสัยไกลและโดรน อีกหลายชนิดที่จะเข้าโจมตีทางอากาศ หลังจากนั้นก็จะมีการซ้อมรบทางภาคพื้นดินกว่า10ประเทศ เพื่อประสานงานให้สอดรับกับกองกำลังของสหรัฐฯที่จะเคลื่อนเข้าไปสมทบ

ทางด้านสหรัฐฯ นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลัง ก็ได้ไปปาฐกถาพิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ SCHOOL OF ADVANCED INTERNATIONAL STUDIES ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่20เมษายน2566

โดยมีข้อความที่ระบุว่า สหรัฐฯต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สร้างสรรค์และยุติธรรมกับจีน ในขณะที่นางเยลเลน ประกาศแนวทางดังกล่าว เพื่อผลประโยชน์ของความร่วมมือ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็ไปตีท้ายครัว คือ เข้าแทรกแซงการเมืองภายในของจีน โดยเฉพาะสนับสนุนนักการเมืองที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนของไต้หวัน อย่างนางไช่อิงเหวิน และให้มีการพบปะอย่างออกหน้าออกตาทั้งกับนางเปโลซี ในอดีตที่ไทเป และประธานสภาคองเกรส นายแมคคาร์ธี คนปัจจุบันที่แคลิฟอร์เนีย อันเป็ฯการย้อนแย้งกับการประกาศนโยบายจีนเดียวของสหรัฐฯ และสหประชาชาติ

ในคำปาฐกถาของนางเยลเลน เธอยังตอกย้ำว่าสหรัฐฯไม่ต้องการแยกเศรษฐกิจของสหรัฐฯออกจากจีน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทั้ง 2 ประเทศ

แต่ในทางปฏิบัติพิจารณาตั้งแต่ปีที่แล้วจนปัจจุบัน รัฐบาลไบเดนได้ดำเนินการหลายประการที่จะกดดันและกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เลวร้ายยิ่งกว่าสมัยทรัมป์

นโยบายการปิดล้อมและกดดันนอกจากยังไม่มีการผ่อนคลาย กลับหนักหน่วงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในคำปาฐกถาพิเศษ นางเยลเลนก็ตอกย้ำว่าสหรัฐฯจะต้องยึดมั่นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ และผลประโยชน์ด้วยเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ไม่ว่ามันจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในขณะที่สร้างพันธมิตรเพื่อให้กดดันจีนด้วยข้อกล่าวหาว่าจีนทำการค้าที่ไม่ยุติธรรม

ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯกำลังดำเนินการที่จะควบคุมการไปลงทุนของสหรัฐฯในจีน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีที่อ่อนไหวต่อความสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติ

ทั้งนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารในเร็วๆนี้ ที่จะจำกัดการลงทุนในองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีน เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิป ปัญญาประดิษฐ์ และควอนตัม (รายงานจากบลูมเบิร์ก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน 2566)

ต่อข้อความดังกล่าวโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน นายหวัง เวนเหวินปิน  ได้ออกแถลงตอบโต้ต่อสื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ คือ การทำลายการพัฒนาของจีน และต้องการรักษาสถานภาพความเป็นผู้นำเดียวของตนไว้ เพื่อผลประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว ด้วยการบีบบังคับจีนให้เศรษฐกิจจีนพังทลายและการทุบทำลายความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จนในที่สุดก็จะมีผลในการไปทำลายระบบการส่งต่อชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับการผลิตในระบบการค้าโลก (Supply Chain Disruption) อันก่อให้เกิดผลเสียและเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ฝ่ายจีนได้อ้างว่า ที่สหรัฐฯพูดถึงความไม่ยุติธรรมทางการค้านั้นหมายถึงอะไร เป็นการสร้างคำจำกัดความขึ้นมาเอง เพื่ออ้างอิงในการปิดกั้นเศรษฐจิจหรือไม่ นอกจากนี้จีนยังตอบโต้ว่าทุกวันนี้จีนทำตามระเบียบขององค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO)

ส่วนการจะปิดกั้นการค้าจีนเป็นการเฉพาะ บนพื้นฐานของความจริงว่าได้มีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศนั้น จีนยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของสินค้า หน่วยธุรกิจ หรือ ปัจเจกชน

นอกจากนี้ในระหว่างการปาฐกถาพิเศษของนางเยลเลน เธอยังได้กล่าวพาดพิงถึงแนวโน้มการเจริญเติบโตของจีนว่าในระยะยาวจะค่อยๆลดลง และยังอ้างว่าจีนจะไม่มีวันมาเทียบชั้นกับสหรัฐฯในการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ และสหรัฐฯจะยังคงเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป

นักวิจารณ์ฝ่ายจีนก็ออกมาตอบโต้ว่าแทนที่รมว.คลังของสหรัฐฯ จะมาพูดพาดพิงถึงจีนในลักษณะนี้ เธอควรที่จะไปหาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯให้บรรเทาเสียก่อน เพราะขณะนี้ทั้งโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่นับวันมีแต่รุนแรงขึ้นทุกที โดยเฉพาะผลอันเกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เงินเฟ้อ และวิกฤตการณ์ธนาคารในประเทศที่ล้มลงหลายแห่ง และอาจกลายเป็นโดมิโนได้

อนึ่งจีนยังเตือนประเทศทั้งหลายในโลกให้เตรียมตัวรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ความผันผวนทางการตลาด ปัญหาการขาดแคลนอาหาร และพยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบด้วยประการทั้งปวง

สิ่งสำคัญคือ การปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นั้นมันมีผลกระทบไปทั่วโลก โดยที่สาเหตุก็เกิดจากการดำเนินนโยบายพิมพ์เงินเพิ่ม QE จนมาถึงความพยายามลดจำนวนเงินในที่สุดQT จะเป็นการดีกว่าไหมถ้าเฟดจะส่งสัญญาณเตือนก่อนเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อให้ธนาคารกลางทั่วโลกได้เตรียมตัวรับมือล่วงหน้า เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ท้ายสุดนางเยลเลน ยังโจมตีว่าจีนเป็นต้นเหตุที่ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม (จาก IMF)

ในส่วนนี้ผู้เขียนเข้าใจว่านางเยลเลนคงหมายถึง โครงการ BRI ของจีน ที่มีผลทำให้มีการผูกพันหนี้สินก้อนโต อย่างศรีลังกา ปากีสถาน สปป.ลาว เป็นต้น

ประเทศไทยพร้อมรับมือในสงครามครั้งนี้หรือยังครับ