เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า สืบเนื่องจากตามที่กรุงเทพมหานครได้มีนโยบายกลับมาเปิดให้บริการเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) ในคลองผดุงกรุงเกษมอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อกลางปี 2563 และได้หยุดให้บริการไปเมื่อช่วงปลายปี 2565 แต่พบว่าระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ของเรือนั้นเสื่อมสภาพ ไม่สามารถอัดประจุและจ่ายพลังงานไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนเรือได้ และจำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ชุดใหม่เข้ามาทดแทน
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรอบคอบ คุ้มค่า และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะให้แก่เรือ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยทางวิศวกรรม เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการใช้งาน ดูแลรักษาและในการซ่อมบำรุงเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขับเคลื่อนและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (แบตเตอรี่) ของเรือ รวมทั้งแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเพื่อการให้บริการที่ยั่งยืนต่อไป จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมี ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด , ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท, รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี และ รศ.ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมลงนาม
ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรือโดยสารไฟฟ้ายังคงให้บริการประชาชน โดยใช้งบประมาณการเดินเรือของ กทม. มีเรือที่เปิดให้บริการอยู่จำนวน 7 ลำ ระยะทาง 5.5 กม. จำนวน 11 ท่า เส้นทางจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ถึงท่าเรือตลาดเทวราช โดยยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งกทม. มีนโยบายลดต้นทุนด้านงบประมาณ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของบริษัทที่จะต้องยกระดับการเดินทางของประชาชนควบคู่กับการลดงบประมาณการบริหารจัดการ
ซึ่งในปัจจุบันต้นทุนของแบตเตอรี่มีแนวโน้มที่ลดลง ประกอบกับแม้มีผู้ผลิตและผู้พัฒนาแบตเตอรี่ในประเทศไทย แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มของการแข่งขันด้านราคาและการตลาด ทางบริษัทจึงได้ขอคำปรึกษาทางด้านเทคนิค และแนวทางการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการเดินเรือไฟฟ้าจาก มจธ.ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือนี้มีโอกาสที่จะพัฒนาการดำเนินงานต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อีกมากและจะเป็นส่วนช่วยสะสมความรู้ พัฒนาด้านการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองของเราในอนาคต
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความยินดีที่ได้ร่วมลงนามครั้งนี้ ซึ่งหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนอกจากการผลิตบุคลากรเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือการนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเครื่องมือต่างๆ ที่จะมาช่วยศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพของเรือไฟฟ้า ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาในอนาคตที่ต้องพบกับสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งน้ำท่วม อุณหภูมิที่สูงขึ้นและฝุ่น PM2.5 การพัฒนายานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดจึงเป็นการทำงานเชิงวิชาการที่จะมาช่วยให้ปัญหาต่างๆ บรรเทาลง
ทั้งนี้คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. มีผู้เชี่ยวชาญและผลงานการวิจัยอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงงานทดสอบและวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ มีความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเครื่องมือและอุปกรณ์รองรับการเรียนการสอน การทดสอบ การทดลองได้อย่างเพียงพอ ประกอบกับการมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่มาอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยฯ จึงมีศักยภาพทั้งในแง่ของบุคลากรและสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ที่จะสามารถดำเนินการในด้านการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของเรือไฟฟ้าโดยสารดังกล่าวของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.มานนท์ สุขละมัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาครุศาสตร์เครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานระยะแรกว่า เบื้องต้นจะทำการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้พลังงานของแบตเตอรี่ชุดใหม่ที่ทางบริษัทฯ ได้จัดซื้อมาใช้ทดแทนแบตเตอรี่เดิมที่เสื่อมสภาพ โดยเน้นการบริหารจัดการเรื่องการใช้พลังงาน การดูแลบำรุงรักษา ทำอย่างไรที่จะยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น โดยยังมีนักวิจัยท่านอื่น ๆ ร่วมทีม คาดว่าภายใน 6-8 เดือนนี้ คณะวิจัยจะทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อหาพารามิเตอร์ที่เหมาะสมของแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Li-ion) ที่ใช้กับเรือพลังงานไฟฟ้านี้ รวมถึงข้อมูลทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับชุดต้นกำลังแบบมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการเดินเรือ และวิเคราะห์หาวิธีการปรับปรุงเรือที่เหมาะสมสำหรับการยืดอายุการใช้งานหรือการดูแลรักษาแบตเตอรี่ นอกจากนี้จะทำการศึกษา วิเคราะห์และกำหนดวิธีการหรือแนวทางในการใช้งานและการดูแลรักษาหรือซ่อมบำรุงที่เหมาะสมสำหรับเรือไฟฟ้าโดยสารในคลองผดุงกรุงเกษมนี้ต่อไป