น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.66) เฉลี่ยอยู่ที่ 160.85 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในครึ่งปีหลัง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.78 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.6% การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 76.40 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 0.2% โดยเป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 สูงถึง 66.66 ล้านลิตร/วัน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต ร่วมกับกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ตรึงราคาให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร

ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และบี 20 มีการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.08 ล้านลิตร/วัน และ 0.16 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ เนื่องจากการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วขั้นต่ำที่เท่ากันทุกชนิด การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 14.04 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 95.2% ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหลายประเทศ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.02 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.6% โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ลดลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 10.7%

ส่วนการคาดการณ์ภาพรวมการใช้น้ำมันหลังจากนี้จนถึงสิ้นปี 2566 คาดการณ์ว่าในภาพรวมโดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเปิดตัวของธุรกิจใหม่ที่ต้องพึ่งพาการขนส่งและการใช้พลังงานปริมาณมาก โดยคาดว่าจะมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ น้ำมันกลุ่มเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้น 12.2% น้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้น 8.3% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (JET A1) ปรับเพิ่มขึ้น  23.2% น้ำมันเตา ปรับเพิ่มขึ้น 4.2% และ LPG  เพิ่มขึ้น 9.0% โดยการคาดการณ์ของกรมธุรกิจพลังงาน ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้กรมฯ คาดว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ปี 2566 ในภาพรวมจะกลับมาใกล้เคียงปี 2562 ยกเว้นน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (JET A1) เนื่องจากหลายประเทศยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทาง ประกอบกับสายการบินอยู่ระหว่างการฟื้นฟู