วันที่ 27 เม.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 56,792 คน ตายเพิ่ม 184 คน รวมแล้วติดไป 686,692,298 คน เสียชีวิตรวม 6,860,995 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และเวียดนาม
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.28 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 71.73
...การขาดหรือลางานในสหราชอาณาจักร
ข้อมูลล่าสุดจาก Office for National Statistics (ONS) ชี้ให้เห็นว่า อัตราการขาดหรือลางานจากการเจ็บป่วยในปี 2022 (พ.ศ.2565) ที่ผ่านมานั้น อยู่ที่ 2.6% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับจากปี 2004 เป็นต้นมา
หากนับจำนวนวันของการขาดหรือลางานจากการเจ็บป่วย พบว่า ปี 2022 สูงถึง 185.6 ล้านวัน
ลักษณะของคนที่ขาดหรือลางานจากการเจ็บป่วยนั้น มักเป็นเพศหญิง วัยทำงานที่อายุมาก รวมถึงคนที่ทำงานด้านการดูแลและอุตสาหกรรมบริการ
...ข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของประชากรที่สูงขึ้น และมีผลกระทบต่อการทำงานทั้งระดับบุคคล และระบบแรงงานในประเทศ
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถิติที่สูงขึ้นมากนั้นมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโรคโควิด-19 โดยสอดคล้องกับความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ที่เราทราบกันดีว่า มีคนติดเชื้อจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหายหรือตาย แต่ทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวอย่าง Long COVID ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติได้แทบทุกระบบในร่างกาย ทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิต และสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงาน
งานวิจัยหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก รายงานไปในทางเดียวกันว่า Long COVID ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถทำงานได้ ต้องออกจากระบบงาน ขาดรายได้ และต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง ในขณะที่ข้อมูลของ ONS ล่าสุดนี้เสริมให้เข้าใจผลกระทบภาพรวมมากขึ้นว่า Long COVID ไม่ได้ทำให้เพียงคนออกจากระบบงาน แต่ยังน่าจะมีส่วนที่จะทำให้คนที่ยังคงอยู่ในระบบงานนั้นทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ขาดหรือลางานมากขึ้นอีกด้วย
...สำหรับไทยเรา ย่อมมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
เคสติดเชื้อมีมากขึ้นชัดเจน สังเกตได้จากสถานการณ์รอบตัว
ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท
ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
Sickness absence in the UK labour market: 2022. Office for National Statistics. UK. 26 April 2023.