วันที่ 26 เม.ย.66 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2566 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) ร่วมประชุม
นายชัชชาติ ได้เสนอญัตติขอความเห็นชอบจากสมาชิกสภากทม. เรื่อง การเช่าที่ของเขตราชเทวีบริเวณใต้ทางด่วนเพื่อจอดรถขยะ โดยให้เหตุผลว่า กทม.มีความจำเป็นเช่าที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อใช้จอดรถเก็บขยะมูลฝอย ของสำนักงานเขตราชเทวี จึงขอความเห็นชอบเรื่องการขยายงบประมาณประจำปี 2566 ในโครงการดังกล่าว ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2564-2569 จำนวน 2,029,950 บาท
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 กำหนดว่า เจ้าของที่ดินเป็นผู้เสียภาษีที่ดิน ดังนั้น กทม.ต้องคำนึงถึงการเก็บภาษีที่ดินจากการทางพิเศษฯ จึงไม่แน่ใจว่า ในสัญญาการเช่าที่ใต้ทางด่วนระหว่างกทม.กับการทางพิเศษฯ กำหนดให้ใครเป็นผู้จ่ายภาษีที่ดินฯดังกล่าว เพราะตามหลักแล้วเจ้าของที่ดินคือ การทางพิเศษต้องเป็นผู้จ่ายภาษี ไม่ใช่ กทม.ซึ่งเป็นผู้เช่า เนื่องจากเกรงว่า การทางพิเศษฯจะผลักภาระภาษีที่ดินมาให้กทม.ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน ทั้งที่พื้นที่ด้านบนได้เก็บค่าทางด่วนไปแล้ว ยังมาหาประโยชน์จากพื้นที่ด้านล่างใต้ทางด่วนเพิ่มเติม แทนที่จะให้ใช้พื้นที่เป็นสาธารณประโยชน์มากกว่า ดังนั้น จึงควรตรวจสอบสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อกทม.มากที่สุด
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ตั้งคำถามว่า พื้นที่ว่างใต้ทางต่างๆ กทม.มีการจัดเก็บภาษีหรือไม่เนื่องจากมีรายได้เกิดขึ้น จึงควรสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บภาษีตามกฎหมายต่อไป รวมถึง กทม.มีการเจรจาขอลดค่าเช่าหรือไม่ หรือหาทางออกโดยการร่วมมือกับการทางพิเศษเพื่อแลกกับการไม่ต้องเสียค่าเช่าและค่าภาษี เนื่องจากเป็นหน่วยงานสังกัดภาครัฐเช่นเดียวกัน
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า จากเอกสารโครงการเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่จอดรถขยะเขตราชเทวีระบุว่า กทม.ต้องจ่าย 2 ส่วน คือ 1.ค่าเช่าที่ดินเดือนละ 51,262 บาท 2.ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเดือนละ 5,125.50 บาท ดังนั้น จึงสงสัยว่า หากต่อรองขอใช้พื้นที่ฟรี โดยงดการเก็บภาษีที่ดินบางส่วนจากการทางพิเศษฯสามารถเป็นไปได้หรือไม่
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.จัดเก็บภาษีส่วนที่การทางพิเศษฯหารายได้มาตลอด ตลอดจนที่ดินที่การทางพิเศษฯเปิดให้เช่าต้องเสียภาษีให้กทม.เช่นกัน โดยในปี 2565 กทม.จัดเก็บภาษีการทางพิเศษฯได้ประมาณ 92 ล้านบาท ส่วนปี 2566 อยู่ระหว่างการประเมินของกองรายได้กทม. ส่วนเรื่องการเช่าที่ดินของการทางพิเศษฯ กทม.ใช้ได้ใน 3 กรณี ประกอบด้วย 1.สวนสาธารณะ 2.ลานกีฬา ซึ่ง 2 กรณีแรก การทางพิเศษฯไม่คิดค่าเช่าจากกทม. แต่หาก กทม.ต้องการใช้พื้นที่เพื่อจอดรถขยะหรือหาประโยชน์ ต้องเสียภาษีตามเกณฑ์ของการทางพิเศษฯ โดย ผอ.เขตพยายามขอต่อรองค่าเช่าทุกครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องปฏิบัติตามมติของการทางพิเศษฯ ทั้งนี้ กทม.ยังไม่มีการทำข้อตกลงร่วมกับการทางพิเศษฯ แต่เป็นการทำสัญญาเช่าเป็นกรณีไป อย่างไรก็ตาม ภาษีที่กทม.จ่ายให้การทางพิเศษฯ สุดท้าย กทม.ก็จัดเก็บกลับคืนมาในรูปแบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนการคิดค่าเช่าต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่
นายชัชชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 กำหนดว่า ที่ดินยกเว้นการเก็บภาษีคือ ทรัพย์สินของรัฐ หน่วยงานของรัฐ ที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ ดังนั้น หากหน่วยงานของรัฐที่หาผลประโยชน์ กทม.มีหน้าที่ประเมินภาษีเช่นเดียวกัน หาก กทม.เช่าพื้นที่ของรัฐเพื่อหาผลประโยชน์ในการจอดรถขยะก็ต้องเสียภาษีลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ค่าเช่าและค่าภาษีที่ กทม.จ่ายไป สุดท้ายก็กลับมาที่ กทม.
ทั้งนี้ ในที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบญัตติของผู้ว่าฯกทม. เรื่อง การเช่าที่ของเขตราชเทวีบริเวณใต้ทางด่วนเพื่อจอดรถขยะ จำนวน 38 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 งดออกเสียง 1 จำนวนผู้ลงคะแนน 39 คน จำนวนผู้ร่วมประชุม 39 คน