นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆออกนโยบายหาเสียงและมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากว่า มาตรการต่างๆคงไม่สามารถดำเนินการภายใต้งบประมาณปี 2566 ได้ทัน และหากมีความต้องการใช้งบประมาณก็จะเหลือช่องว่างให้ใช้ได้อยู่อีกไม่มาก เช่น งบกลางกรณีฉุกเฉิน ซึ่งมีอยู่ 9.24 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในความเห็นของกระทรวงการคลังยังสามารถนำมาใช้ แต่ที่ผ่านมา การใช้งบส่วนนี้ จะใช้กับภัยพิบัติ หรือความเสียหายที่ไม่อาจคาดเดาได้เท่านั้น รวมถึงความจำเป็นของการใช้งบในอนาคตอีกส่วนหนึ่งด้วย
โดยเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สิ่งแรกคือการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จากการหารือกับสำนักงบประมาณ ตามแผนการคลังระยะปานกลางที่ใช้ในปี 2566-2570 มีการกำหนดงบรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนใช้จ่ายงบประจำ งบลงทุนไว้หมดแล้ว เท่าที่ติดตามข่าวนโยบายพรรคการเมืองมีหลายโครงการใช้งบประมาณอยู่หลายแสนล้านบาท ค่อนข้างจะเกินจากรายจ่ายที่กำหนดเอาไว้ ดังนั้นจะต้องดูว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่ เมื่อมีการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร จะต้องดูว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งใด ต้องมีการปรับแผนการคลังหรือไม่
ทั้งนี้แผนการคลังระยะปานกลางที่ใช้อยู่ ในปี 2566-2570 มีหลักการที่สำคัญ คือ 1.ต้องการลดการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพี ซึ่งปี 2567 ตั้งไว้กู้ชดเชยการขาดดุลที่ 3% เป็นตัวเลขที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ที่มีภาระด้านการคลังเหมือนไทยหลังสถานการณ์โควิด และหลังจากปี 2567 จะทยอยลดลงต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นกติกาที่มีไว้ให้เกิดวินัยการคลัง ควบคุมการใช้จ่าย ลดภาระรัฐบาล 2.เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการคลังในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย การจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงประสิทธิภาพในการจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อให้มีการบริหารพื้นที่ทางการคลังให้เหมาะสม 3.การมุ่งสู่ภาคการคลั่งที่ยั่งยืน และมีศักยภาพในการรับความเสี่ยงของประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการมุ่งทำงบประมาณสมดุลในอนาคต ตามแผนการคลังระยะปานกลาง
นอกจากนี้ในส่วนของสัดส่วนหนี้สาธารณ์ต่อจีดีพี ซึ่งมีเพดานอยู่ที่ 70% จากปัจจุบันสัดส่วนหนี้อยู่ที่ราว 60% ซึ่งจำนวนเงินก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะกู้ได้ต้องมีเงื่อนไขต่างๆเช่น ในช่วงโควิด-19 มีการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในสถานการณ์โควิด 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาเยียวยาผลกระทบ การเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งงบที่ออกมาจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ซื้อวัคซีน ทำโครงการจ้างงาน ให้ประชาชนมีรายได้ประทังชีวิตในช่วงที่เกิดโควิด-19 ดังนั้นการกู้เงินต่างๆต้องดูในเรื่องของผลกลับคืนมาให้กับประเทศ
โดยในด้านวินัยการคลัง มองว่าถ้ากู้มาแล้วก็ควรจะนำมาลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนกลับมาสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง รวมถึงสาธารณูปโภค พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ถ้ากู้มาแล้ว ควรจะมีผลิตภาพที่มากขึ้น ดังนั้นวงเงินกู้ที่มีก็ไม่จำเป็นที่จะใช้เต็มวงเงินก็ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นภาระลูกหลานของเราที่ต้องมาหารายได้ชำระคืนเงินกู้ รวมทั้งการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศจะมองว่าเรามีการใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น ก็ต้องไปดูวิธีการและโครงการที่จะนำเงินมาใช้จริงๆ