วันที่ 24 เม.ย.66 ที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2566 ว่า เรื่องสำคัญในการประชุมวันนี้คือ การเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อรองรับการเปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ ในเดือนพฤษภาคม จากตัวเลขที่พบ ยังมีประชาชนในกรุงเทพมหานครที่ต้องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นถึงหลักล้านคน จึงได้สั่งการให้ขยายจุดรับวัคซีนเพิ่มเติมโดยประสานกับภาคเอกชนเพื่อบริการให้ประชาชนสะดวกที่สุด

 

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.เป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อโควิดวันละประมาณ 300 คน จากเดิมวันละประมาณ 100 คนในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ พบว่าอาการโควิดในปัจจุบันใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เนื่องจากตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์ประชาชนเริ่มพบปะและฉลองเทศกาลสงกรานต์กันจำนวนมาก ตลอดจนวันที่ 17-18 เม.ย.จนถึงปัจจุบันคาดว่ามียอดผู้ติดเชื้อโควิดวันละประมาณ 1,000 คน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ สถานการณ์ปัจจุบันโรคโควิดติดต่อกันค่อนข้างง่ายและมีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงจากผู้ที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวคืออาการยังไม่น่ากังวล สามารถรับยากลับไปรักษาตนเองที่บ้านได้ ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตในหลักหน่วยเท่านั้น

 

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ปัญหาที่น่ากังวลขณะนี้คือ การแพร่เชื้อสู่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น ซึ่งห่างหายจากการรับวัคซีนเพิ่มเติมเป็นเวลานาน หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ดังนั้น กทม.จึงขอความร่วมมือประชาชนให้กลับมารักษามาตรการโควิคเหมือนเดิม เช่นล้างมือบ่อย สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลง ทั้งนี้ กทม.ได้เพิ่มยารักษารองรับผู้ติดเชื้อไว้ประมาณ 10,000 คน รวมถึงเตรียมหน่วยรับคนไข้โควิดโดยเฉพาะ ซึ่งมีอัตราการครองเตียงไปแล้ว 40% จากเตียงทั้งหมด เนื่องจากผู้เข้ารับการรักษามีจำนวนน้อย ส่วนมากรับยาไปทานเองที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอัตราการครองเตียงไม่มาก แต่มีข้อสังเกตคือ ผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 30% เป็น 40% ภายในระยะเวลา 4-5 วัน กทม.จึงมีแผนเพิ่มเตียงอีกเท่าตัวเมื่อพบว่ายอดผู้ป่วยครองเตียงถึง 80% โดยเฉลี่ย กทม.มีเตียงรองรับ 2 เท่าของยอดผู้ป่วยโควิดในแต่ละวัน นอกจากนี้ กทม.ยังมีมาตรการเชิงรุกในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน และแจกชุดตรวจโควิดบริการในศูนย์สุขภาพชุมชน ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้

 

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 3-4 เดือนไปแล้ว ขอให้รับวัคซีนเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลสังกัด กทม.ทุกแห่ง ในวันจันทร์ถึงศุกร์ รวมถึงที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ในวันพุธกับวันศุกร์ เวลา 09.00 - 15.00 น. และกำลังพิจารณาเปิดบริการในวันเสาร์ รวมถึงจัดหาพื้นที่เอกชนในจุดที่มีประชาชนหนาแน่นเพื่อให้บริการวัคซีนเพิ่มเติมต่อไป