อัตราการว่างงานของคนไทยต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้รายงานถึงสถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงต้นปี 66 ที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนมากขึ้น ส่วนผู้ว่างงานก็ลดลง สสช.ระบุว่า ณ เดือน ก.พ.66 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มที่เป็นกำลังแรงงานอยู่ 58.81 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.49 ล้านคน อยู่นอกกำลังแรงงาน เช่น อยู่ระหว่างเรียนหนังสือ เป็นแม่บ้านทำงานบ้าน เป็นผู้พิการ ทุพพลภาพ 18.32 ล้านคน ซึ่งเมื่อแยกพิจารณาเฉพาะผู้อยู่ในกำลังแรงงานพบว่าเป็นผู้มีงานทำ 39.91 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 39.81 ล้านคนเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 เป็นผู้ว่างงาน 3.6 แสนคน หรือร้อยละ 0.9 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน เทียบกับ 3.9 แสนคน หรือร้อยละ1 ณ สิ้นปี 65  ส่วนที่เหลืออีก 2.2 แสนคนเป็นผู้อยู่ระหว่างการรอฤดูกาล

“อัตราการว่างงานที่ระดับร้อยละ 0.9 นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดและต่ำกว่าร้อยละ 1 ครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี ซึ่งระบบกำลังแรงงานไทยเคยมีอยู่ว่างงานต่ำว่าร้อยละ 1 ครั้งล่าสุดคือเดือน ต.ค.62 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 เช่นกัน ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการเติบเป็นปกติและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่ทั่วโลกเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด19 ในต้นปี 63” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น และผู้ว่างงานที่ลดลงเข้าไปสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด19 เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้มอบหมายแก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาการมีงานทำและการมีรายได้ของประชาชน ส่วนในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ให้ดูแลการฟื้นตัวดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช้มาตรการกระตุ้นที่รุนแรงโดยไม่มีความจำเป็น เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างการเติบโตกับเสถียรภาพ ไม่มุ่งไปที่การเติบโตจนก่อผลกระทบข้างเคียงทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่นปัญหาเงินเฟ้อ และต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงซึ่งอาจเกิดผลเสียงานต่อระบบการเงินของประเทศและประชาชน แบบที่เห็นตัวอย่างในต่างประเทศ