วันที่ 21 เมษายน 2566 เวลา 11.15 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา นายพงษ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมรองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ,ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มทส. และคณะผู้บริหาร รวมทั้งตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ร่วมแถลงข่าวการส่งมอบ" ใบรับรองการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกัญชา พันธุ์ฝอยทองสุรนารี 1 ,สุรนารี 2 ,สุรนารี 3" โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นผู้ปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์พืชกัญชาไทยแท้ให้ผลผลิต มาก โตไว ลำต้นแข็งแรง ออกดอกง่าย ทนทานต่อแมลงศัตรูพืช และมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี พร้อมผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชกัญชาคุณภาพผ่านการรับรองมาตรฐานโดยกรมวิชาการเกษตร ออกสู่ตลาดส่งถึงมือเกษตรกรไทย และผู้สนใจทั่วประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้เริ่มโครงการวิจัย "การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์" เมื่อกลางปี พ.ศ. 2563 ทีมนักวิจัย มทส. ได้การศึกษาค้นคว้า วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกัญชาสายพันธุ์ไทย นับแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นถิ่น มีความต้านทานต่อโรคดีให้ผลผลิตที่มีปริมาณสาร THC สูง และ CBD เด่น รวมทั้งเทคโนโลยีการเพาะปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ถือเป็นความสำเร็จนับตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งผลผลิตที่ผ่านมาได้ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานจากหน่วยงานระดับประเทศ ทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะกรรมการอาหารและยาว่ามีคุณภาพดีเยี่ยม ปลอดภัยต่อ ผู้บริโภคในระดับ Medical Grade ให้สารออกฤทธิ์สำคัญสูง และไม่มีโลหะหนักตกค้างสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยและยาแผนปัจจุบันหลายขนาน เพื่อไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข จากการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กัญชา-กัญชงมาอย่างต่อเนื่อง
โดยวิธีการคัดเลือกจากประชากรกัญชาพันธุ์ฝอยทอง ภูผายล ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ในปี พ.ศ. 2563 - ปี 2565 ได้ปลูกทดสอบเพื่อประเมินพันธุ์ และคัดเลือกพันธุ์ ผ่านรอบการปลูก 6 รอบ ได้กัญชาชั่วรุ่นที่ 5 ทำให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีคุณลักษณะดี แข็งแรง โตเร็ว ใบและลำตันใหญ่ มีการแตกทรงพุ่มได้ดี ต้านทานต่อการเกิดโรคและ แมลง ออกดอกง่าย และมีการปรับตัวให้เหมะสมกับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี ให้ผลผลิตสูงสามารถนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ จากผลสำเร็จดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการยื่นขอใบรับรองการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกัญชา ผ่านสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิซาการเกษตร กระทั่งได้ใบรับรองขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า จำนวน 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย กัญชาสายพันธุ์ "ฝอยทองสุรนารี 1" กัญชาสายพันธุ์ "สุรนารี 2" และ กัญชาสายพันธุ์ "สุรนารี 3" ภายใต้เครื่องหมายการค้า "SUT Cannabis Hub" มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นเจ้าของสายพันธุ์ เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชกัญชา พร้อมบรรจุภัณฑ์สู่ท้องตลาด
สำหรับคุณลักษณะเด่นด้านการให้สาระสำคัญ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD)กัญชาสายพันธุ์ "ฝอยทองสุรนารี 1 " และ "สุรนารี 2" ให้สารสำคัญ THC เฉลี่ยที่ 8 - 12 เปอร์เซ็นต์ และสายพันธุ์สุรนารี 3 มีปริมาณสารออกฤทธิ์สูงทั้งสองชนิดคือ THC และ CBD ในอัตราส่วน 1:1 หรือใกล้เคียง 1:1 เฉลี่ยที่ 6 -12 เปอร์เซ็นต์ จากความหลากหลายนี้ สามารถเลือกสารออกฤทธิ์สำคัญนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ยาเพื่อการบำบัดโรค เป็นต้น
นอกจากนี้ มทส. มุ่งดำเนินการพัฒนาความก้าวหน้าในการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทุกมิติ ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาค้นคว้า วิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีกัญชา-กัญชง การบริการวิชาการแก่สังคม การจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล การพัฒนาเชิงพื้นที่ขยายแปลงปลูกกัญชา-กัญชง ในโครงการ SUT Cannabis Sandbox ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ถือเป็นแห่งแรกของประทศไทย เพื่อเปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือในกรพัฒนาเชิงพื้นที่ในวิสาหกิจเพื่อสังคม เกิดการปรับแปลงถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกัญชา-กัญชง ที่สามารถพัฒนาสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ได้จริง
ด้านนายพงษ์ไท ฯ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทส. กับ กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยได้ส่งมอบเมล็ดกัญชาสายพันธุ์ "ฝอยทองสุรนารี 1" จำนวน 40 กิโลกรัมแก่กรมวิชาการเกษตรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ตามโครงการกัญชา 1 ล้านต้น ได้ทำการร่วมทดสอบกัญชาสายพันธุ์ฝอยทอง ในพื้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวน 7 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงราย สุโขทัย นครปฐม เพชรบุรี ศรีษะเกษ นครพนม และสุราษฎร์ เพื่อผลผลิตช่อดอก ในรอบการปลูกที่ 1 เมื่อปลายปี 2565 นับแต่การเพาะต้นกล้า การปลูก การจัดการในแปลงปลูก การเก็บเกี่ยวช่อดอก และการเก็บข้อมูล ร่วมกันของนักวิชาการทั้งสองฝ่าย ประสานดำเนินการ แลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างใกล้ชิด
ซึ่งต้องมีการเตรียมการอย่างเหมาะสม เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ คุณภาพของดิน และปัจจัยปลีกย่อยอื่นๆเพื่อให้ได้ผลผลิตกัญชา-กัญชงคุณภาพตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ ทั้งเตรียมความของนักวิชาการศูนย์วิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ในความพร้อมสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้เกษตรกรวิสาหกิจชุมชน หรือสนใจทั่วประเทศต่อไป กรมสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิซาการเกษตร ได้ใบทะเบียนรับรองสายพันธุ์กัญชา พันธุ์ฝอยทองสุรนารี 1 (Foi Thong Suranaree 1) กัญชาพันธุ์สุรนารี 2 (Suranaree 2) และกัญชาพันธุ์สุรนารี 3 (Suranaree 3) แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีผู้เป็นเจ้าของสายพันธุ์ ผู้ผลิต และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชกัญชา เป็นไปตามขั้นตอนการจดทะเบียน แจ้งแหล่งที่มาและประวัติพันธุ์ ซึ่งแจ้งผ่านรอบการปลูก 6 รอบ ได้กัญชาชั่วรุ่นที่ 5 และการระบุลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ถือเป็นผลสำเร็จหนึ่งของการผลิตพันธุ์พืชคุณภาพตามมาตรฐานพร้อมจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดเพื่อเกษตรกร และผู้สนใจทั่วประเทศ
สำหรับเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้สนใจ ติดต่อสอบถามได้ที่ โครงการวิจัย "การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์" มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หมายเลขโทรศัพท์ 044 225 097 มือถือ 094-543-0241