ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์สัญจร ครั้งที่ 2 “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจปลายด้ามขวานไทย” นำโดย ดร.พิสิฐ  ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และม.ร.ว. ศศิพฤนท์  จันทรทัต อดีตซีอีโอ บล. กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายนิพัฒน์ อุดมอักษร ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ดร.สามารถ โชว์วิสัยทัศน์ “เร่งเมกะโปรเจกต์ ดันหาดใหญ่ เชื่อมไทย-เชื่อมโลก” โดยกล่าวว่า หาดใหญ่มีทำเลยุทธศาตร์ในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภาคใต้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องขับเคลื่อนหาดใหญ่ด้วยระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้หาดใหญ่เป็นขุมทองทางเศรษฐกิจของปลายด้ามขวานไทย โดยพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียงดังนี้

 

1. โมโนเรล คือรถไฟฟ้า ที่วิ่งคร่อมรางโดยใช้รางเดี่ยว หรืออาจจะแขวนห้อยอยู่ใต้รางก็ได้ แต่ที่นิยมใช้กันมากก็คือแบบคร่อมราง โดยหาดใหญ่เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ที่มีปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา สมัยนายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นนายก อบจ. จึงได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลขึ้น โดยระยะที่ 1 มีระยะทางยาว 13 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 16,000 ล้านบาท มี 15 สถานี ประกอบด้วยสถานีควนลัง แยกสนามบิน รถตู้ หาดใหญ่ใน ชุมทางรถไฟหาดใหญ่ ตลาดกิมหยง น้ำพุ หาดใหญ่วิทยาลัย บิ๊กซี คอหงส์ มอ. คลองเรียน เซ็นทรัล คลองหวะ และบ้านพรุ ระยะที่ 2 จะขยายเส้นทางจากสถานีน้ำพุไปยังถนนลพบุรีราเมศร์ และจากสถานีคอหงส์ไปยังสวนสาธารณะหาดใหญ่ ส่วนระยะที่ 3 จะมีเส้นทางเชื่อมระหว่างสถานีหาดใหญ่ในกับสถานีคลองเรียนโดยวิ่งผ่านโรงเรียนพัฒนศึกษาและศูนย์การค้าไดอาน่า โมโนเรลจะไม่ส่งผลกระทบต่อรถตุ๊กตุ๊ก รถสองแถว และวินมอเตอร์ไซค์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ในทางกลับกัน โมโนเรลจะช่วยให้รถตุ๊กตุ๊ก รถสองแถว และวินมอเตอร์ไซค์มีเส้นทางการให้บริการเพิ่มขึ้น ได้แก่ เส้นทางระหว่างแหล่งที่อยู่อาศัยกับสถานีโมโนเรล และเส้นทางระหว่างแหล่งทำงานและสถานศึกษากับสถานีโมโนเรล

ดร.สามารถ ให้ความมั่นใจว่า “เวลานี้ผมมีผลการศึกษา และแบบเบื้องต้นอยู่ในมือแล้ว การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือEIA ก็ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะผลักดันให้โมโนเรลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหารถติดในเมืองหาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี”

2.รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ รถไฟทางคู่หมายถึงทางรถไฟที่ประกอบด้วยเหล็กรางรถไฟ 4 ราง หรือใช้เหล็กรางรถไฟ 4 เส้น รถไฟทางคู่จะช่วยประหยัดเวลาการเดินทางและการขนส่งสินค้าได้มาก เพราะรถไฟสามารถวิ่งสวนทางกันได้ ไม่ต้องรอสับหลีกที่สถานี รถไฟทางคู่เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของโครงข่ายรถไฟ พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ริเริ่มโครงการรถไฟทางคู่ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2536 และจะเดินหน้าก่อสร้างรถไฟทางคู่ต่อไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะเร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อรองรับรถไฟจากประเทศมาเลเซียที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเช่นเดียวกัน หากมีชาวมาเลเซียนั่งรถไฟนี้มาหาดใหญ่วันละ 2,000 คน หรือปีละ 730,000 คน สมมติว่าคนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาที่อยู่ในหาดใหญ่ 15,000 บาท ก็จะมีเงินหมุนเวียนในหาดใหญ่ปีละประมาณ 11,000 ล้านบาท อีกทั้ง รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จะช่วยกระตุ้นให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียพุ่งสูงขึ้นจากเดิมในปี พ.ศ. 2565 ที่มีมูลค้าการค้า 660,392 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการค้าชายแดนที่สูงที่สุดของประเทศ ทั้งนี้รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร มีมูลค่าโครงการประมาณ 6,700 ล้านบาท เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อไปสู่กรุงเทพฯ โดยจะบรรจบกับรถไฟทางคู่ที่เวลานี้สร้างมาถึงชุมพรแล้ว เมื่อมีรถไฟทางคู่จากหาดใหญ่ถึงกรุงเทพฯ เวลาการเดินทางจะลดลงจาก 16 ชั่วโมง เหลือเพียง 8-10 ชั่วโมงเท่านั้น ประหยัดเวลาลงได้ครึ่งหนึ่ง

ดร.สามารถ เผยว่า “แบบก่อสร้างเสร็จแล้ว และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก็ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งรัดให้มีการก่อสร้างโดยเร็ว”

3.มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา มอเตอร์เวย์เป็นถนนที่รถวิ่งได้เร็ว รถไม่ติด มอเตอร์เวย์ก็เหมือนกับทางด่วนนั่นเอง พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดทำแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ และได้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางแรกของประเทศไทยคือเส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งพรรคจะเดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ต่อไป โดยจะเร่งผลักดันโครงการก่อสร้าง “มอเตอร์เวย์จตุรทิศ” เชื่อมใต้สุดกับเหนือสุด และตะวันตกกับตะวันออกของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ (1) เส้นทางสุไหงโกลก-พัทลุง-ทุ่งสง-นครปฐม ระยะทาง 1,100 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ทุ่งสงเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของภาคใต้  (2) เส้นทางด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ-เชียงใหม่-บางปะอิน ระยะทาง 853 กิโลเมตร และ (3) เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 710 กิโลเมตร สำหรับมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดานั้น มีระยะทาง 71 กิโลเมตร วงเงิน 40,787 ล้านบาท เริ่มจากบ้านควนทรายทองถึงทางเข้าด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ แบบก่อสร้างเสร็จแล้ว และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก็ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว กำลังรอหารือเรื่องถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่-ด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซียในเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา จะช่วยกระตุ้นให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน

4.สะพานเชื่อมเกาะสมุย ดร.สามารถ กล่าวว่าตนเป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย โดยได้เสนอความเห็นไว้ในเฟสบุ๊กเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ทั้งนี้ ตนได้เสนอแนวคิดที่จะก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย ระหว่างบริเวณด้านใต้ของแหลมทาบ (หรือแหลมประทับ) ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของท่าเรือดอนสักและเป็นพื้นที่ใน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปที่แหลมหินคมบนเกาะสมุย จะได้แนวสะพานที่เหมาะสมแนวหนึ่ง มีระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ทั้งนี้ รูปแบบสะพานควรเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) มีจำนวน 4 ช่องจราจร หรือข้างละ 2 ช่องจราจร หากมีสะพานเชื่อมเกาะสมุยจะใช้เวลาข้ามทะเลแค่เพียงประมาณ 20 นาทีเท่านั้น ต่อไปเมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในหาดใหญ่แล้วจะไปเที่ยวต่อที่สมุยก็สะดวก ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเที่ยวหาดใหญ่มากขึ้น เพราะสามารถเดินทางไปเที่ยวที่อื่นได้ด้วยในระยะเวลาไม่นาน ขณะนี้ รัฐบาลปัจจุบันได้นำแนวคิดนี้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบเบื้องต้น และพรรคประชาธิปัตย์จะติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของชาวสุราษฎร์ธานี ชาวนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

ดร.สามารถ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โดยสรุป พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งรัดการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมขนส่งในเมืองหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อทำให้หาดใหญ่เชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพิ่มโอกาสการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้า ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมรับกระแสโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5”