ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
ฉบับนี้ผมขออนุญาตเว้นวรรคเรื่องราวการเมืองสักหนึ่งอาทิตย์ โดยใคร่ขอเขียนบทความชิ้นนี้เพื่อมอบให้แก่ผู้ปกครองที่มีลูกๆหลานๆต้องการจะเดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาในวิทยาลัยเล็กๆเรียนฟรีและทุกคนได้งานทำอีกด้วย
อย่างไรก็ตามผมขอแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวของผมสักเล็กน้อย โดยผมจะค่อยๆแบ่งปันระบบการศึกษาในสหรัฐฯที่เราต้องควักกระเป๋าปีละเป็นล้านๆบาท และจะเสนอวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีคุณภาพสูงมากในระดับปริญญาตรีที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนเลย!!!
เนื่องจากผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและได้มีโอกาสศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั้งจากเอกชนและรัฐบาลผสมกันตั้งแต่ปริญญาตรีเรื่อยไปจนถึงจบปริญญาเอก
โดยผมเริ่มต้น ณ มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ (Pepperdine University) รัฐแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยบริคัม ยัง (Brigham Young University) ที่เมืองโพรโว รัฐยูทาห์ และที่ยูซีแอลเอ แถมด้วยเมื่อจบการศึกษาและผมก็สั่งสมประสบการณ์ด้วยการยึดอาชีพทางด้านการเงินและการธนาคาร
อนึ่งตอนนี้ผมเดินทางกลับไปสหรัฐฯ สืบเนื่องจากต้องไปทำภารกิจส่วนตัวเป็นเวลาสองปีกว่าๆ โดยก่อนหน้านี้ผมทำงานที่เมืองเชียงใหม่เป็นเวลานานกว่าสิบปี โดยรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของ “อธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์” ผู้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่”
แรกเริ่มเดิมทีสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ผมเดินทางไปสหรัฐอเมริกาสมัยครั้งยังเป็นหนุ่มละอ่อนเยาว์วัย เนื่องจากผมเป็นเด็กนักเรียนบ้านนอกจากจังหวัดพัทลุง และไม่เคยทราบเลยว่า ในสหรัฐฯมีมหาวิทยาลัยมากกว่า 4,000 แห่ง และถึงแม้ว่าครั้งครานั้นผมจะมีพื้นความรู้ด้านภาษาอังกฤษค่อนข้างดีพอสมควร เพราะได้รับการสอนแบบตัวต่อตัวจากแหม่มชาวอังกฤษติดต่อกันสามปีก็ตาม
และผมก็ไม่เคยทราบมาก่อนเช่นกันว่า ระบบการศึกษาของสหรัฐฯนั้น เราสามารถจะย้ายมหาวิทยาลัยและโอนหน่วยกิตกันได้ แถมผมยังไม่ทราบอีกด้วยว่า ในสหรัฐฯมีแหล่งทุนการศึกษาให้เราอย่างมากมาย!!!
อันดับแรกผมใคร่เน้นย้ำว่าวิทยาลัยท้องถิ่นของรัฐต่างๆล้วนแล้วแต่มีมาตรฐานสูง ค่าเล่าเรียนย่อมเยา ซึ่งมีทั่วทุกรัฐของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีวิทยาลัยท้องถิ่นมากถึง 118 แห่ง และหากว่าภาษาอังกฤษของเราไม่แข็งแกร่ง เราก็ควรเริ่มต้นจากวิทยาลัยท้องถิ่นก่อน โดยเสียค่าเล่าเรียนระหว่าง 600 ดอลลาร์จนถึง 20,000 ดอลลาร์ต่อปี และเมื่อภาษาอังกฤษแข็งแรงพอแล้ว เราก็ค่อยๆขยับขยายย้ายไปมหาวิทยาลัยของรัฐดีๆในปีที่สาม โดยค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 28,000 ดอลลาร์ต่อปี แต่หากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000 ดอลลาร์ต่อปี
สำหรับผมนั้นถึงแม้ว่าตั้งแต่ผมย่างก้าวเข้าไปในสหรัฐฯผมได้พักอาศัยอยู่กับ “คุณพ่อจิม” ซึ่งท่านเป็นคุณพ่อฝรั่งของผม และท่านมีอาชีพเป็นคุณครู โดยคุณพ่อจิมได้ให้คำแนะนำว่า ผมควรจะเข้าไปเรียนที่วิทยาลัยท้องถิ่นใกล้ๆบ้านก่อน เพราะค่าเล่าเรียนไม่แพง แต่ผมกลับรั้น อวดดี คิดผิด ตอบปฏิเสธคำแนะนำของคุณพ่อจิม เพราะต้องการตามกระแสสังคมที่คิดว่า เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่สวยงาม มีค่าเล่าเรียนสูงๆก็ยิ่งเป็นผลดีต่ออนาคต!!!
อันดับที่สองสำหรับนักศึกษานานาชาติแล้วนั้นมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯทุกๆแห่งจะอนุญาตให้นักศึกษาทำงานได้สัปดาห์ละยี่สิบชั่วโมง และมหาวิทยาลัยยังช่วยหางานพาร์ตไทม์ให้ด้วย โดยผมเองก็เริ่มทำงานพาร์ตไทม์มากมายหลากหลายใกล้ๆกับมหาวิทยาลัย อาทิเช่น เป็นพนักงานบริการธนาคาร ทำงานช่วยแคชเชียร์บรรจุสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต (Box Boy) ทำงานบัญชี ทำงานจัดสินค้าในร้านขายปลีก เป็นต้น
คราวนี้ผมขอวกมาพูดถึงวิธีเข้าเรียนแบบที่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเงินและนักศึกษาทุนคนได้งานทำ ทั้งนี้มีวิทยาลัยแห่งหนึ่งชื่อว่า “วิทยาลัยเบเรีย” (Berea College) ที่ตั้งอยู่ในรัฐเคนทักกี ทางฟากตะวันออกของสหรัฐฯ โดยวิทยาลัยแห่งนี้เป็นวิทยาลัยเก่าแก่ ก่อตั้งมาแล้วกว่า 168 ปี เปิดสอนในระดับปริญญาตรีมากถึง 33 สาขา โดยวิทยาลัยแห่งนี้มีเงื่อนไขที่ว่า“นักศึกษาทุกๆคนที่เข้าศึกษาในวิทยาลัยแห่งนี้จะต้องทำงานให้กับวิทยาลัยอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”
เนื่องจากวิทยาลัยนี้มีกว่า 130 แผนกนักศึกษาใหม่จะเริ่มเข้าทำงานในทางปฏิบัติทันที อาทิ การผลิตเว็บไซต์ งานบริการทำความสะอาด หรือการจัดการโครงการอาสาสมัคร เพื่อให้นักศึกษาเข้าร่วมความรับผิดชอบ รู้จักทำงานเป็นทีม มีความคิดริเริ่ม เรียนรู้การบริการเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของแต่ละคน
วิทยาลัยแห่งนี้มีจำนวนนักศึกษาในระดับปริญญาตรีกว่า 1,700 คนจากทั่วทั้งสหรัฐฯและจากนานาชาติอีกกว่า 70 ประเทศ
ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยแห่งนี้เป็นนักหนังสือพิมพ์และนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ โดยปรัชญาของวิทยาลัยแห่งนี้ก็คือ “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทุกคนบนโลกด้วยสายเลือดเดียวกัน”
และเนื่องจากวิทยาลัยเบเรียเป็นสถาบันที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ปรากฏว่ามีผู้บริจาคเงินจากสาธารณชนและจากผู้ที่ศรัทธาต่อวิทยาลัยแห่งนี้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล โดยล่าสุดเมื่อปีค.ศ. 2021 มียอดเงินบริจาคมากถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์ที่สามารถครอบคลุมค่าเล่าเรียนของบรรดานักศึกษาทุกคนได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ที่เป็นศิษย์เก่าและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาจากหลากหลายอาชีพ อาทิเช่น จอห์น เฟนน์ ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี เมื่อปีค.ศ. 2002 โดยเมื่อเขาจบจากวิทยาลัยเบเรียไปแล้ว เขาก็ได้ไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยเยล และเป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อตอนที่จอห์น เฟนน์ ยังเยาว์วัยอยู่นั้น เขาอ่อนวิชาคำนวณเป็นอย่างมาก
ส่วนศิษย์คนต่อมาของวิทยาลัยเบเรีย ได้แก่“ศาสตราจารย์กลอเรีย จีน วัทกินส์” นักเขียนเรืองนาม ที่มีผลงานมากกว่าสามสิบเล่ม และยังมี “ฮวนนิตา เอ็ม.เครปส์” รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในยุคสมัยของ “ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์”ตามมาด้วยศิษย์เก่าผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกมากมายที่เป็นทั้ง นักการเมือง นักเขียน นักแสดง นักการศึกษา นักแต่งเพลง นักกีฬาบาสเกตบอล เป็นต้น
สำหรับการได้รับการจัดอันดับของวิทยาลัยเบเรีย ก็มิใช่ธรรมดาเช่นกัน โดยเมื่อปีค.ศ. 2021 นิตยาสาร “Washington Monthly” ได้จัดอันดับให้วิทยาลัยเบเรีย อยู่ในอันดับที่ 13 ของสหรัฐฯในบรรดาวิทยาลัยศิลปศาสตร์ที่ได้สร้างสาธารณประโยชน์ และเมื่อปีค.ศ. 2022 นิตยสารชื่อดัง “ยูเอสนิวส์” ก็ได้จัดอันดับให้วิทยาลัยเบเรีย อยู่ในอันดับที่หนึ่ง ประเภทการให้บริการ อีกด้วย!!!
และเป็นที่น่าสนใจอีกว่าผู้ที่จบจากสถาบันแห่งนี้ได้รับเงินเดือนสูงกว่ามหาวิทยาลัยทั่วไปโดยเฉลี่ยได้รับค่าตอบแทนเริ่มต้นอยู่ที่ปีละ 63,000 ดอลลาร์อีกด้วยเพราะมีประสบการณ์งานอาชีพที่ยอดเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯที่มีชื่อเสียงในอันดับท็อปๆระดับโลกทั้งหลาย ที่เราจะต้องเสียค่าเล่าเรียนตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไปแต่ละปี ดังนั้นเป็นโอกาสดีที่เยาวชนไทยที่สนใจน่าจะเริ่มติดต่อวิทยาลัยนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆโดยไม่มีค่าสมัครใดๆทั้งสิ้น โปรดเข้าไปในเว็บไซต์ https://www.Berea.edu ทั้งนี้ใบสมัครสำหรับปีการศึกษา 2024 เริ่มวันที่ 15 ตุลาคม 2023
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นอย่างไรก็ตามในช่วงสิบปีของการใช้เวลาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯแบบมากมายหลากหลายสถาบันอย่างไม่ขาดขั้นตอนของผม ก็เหมือนกับการเดินทางผจญภัยที่มีทั้งความสนุก และเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามที่ต้องค่อยๆถากถางไปเรื่อยๆก็ตาม แต่ถือว่าผมสามารถวิ่งเข้าสู่เส้นชัย ที่เป็นรางวัลและเป็นสมบัติติดกายที่ผมสามารถเก็บเกี่ยวใช้ไม่หมดไปตลอดชีวิต แถมผมยังสามรถสร้างเครือข่ายกับคณาจารย์หลายๆสิบท่าน ที่พวกท่านให้ความเมตตา และยังมีเพื่อนใหม่ๆอีกมากมาย และเหนือสิ่งอื่นใดไม่มีหนี้สินใดๆผูกพัน และเมื่อใดก็ตามที่ผมมีโอกาส ผมจะไม่รีรอที่จะให้การตอบแทนต่อสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ให้โอกาสแก่ผม เช่นเดียวกันกับผมจะไม่รีรอที่จะตอบแทนประเทศไทยแผ่นดินเกิดบ้านพ่อเมืองแม่ และสุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบพระคุณ“ท่านอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์”แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่ท่านเมตตาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุน ขณะที่ผมยังปฏิบัติภารกิจอยู่ในสหรัฐฯมาแล้วตั้งแต่สองปีที่ผ่านมาด้วยละครับ