ฝุ่น PM2.5 ยังเป็นปัญหาที่ กทม.พยายามดำเนินการแก้ไข เบื้องต้นพุ่งเป้าไปที่การลดการเผาชีวมวลบนพื้นที่เกษตรกรรมใน กทม.กว่า 100,000 ไร่ โดยเฉพาะการเผาฟางข้าว เป็นปัญหาที่ชาวนากังวลใจ เพราะหากรัฐห้ามเผา ฝางทั้งหมดใช้เวลานานในการย่อยสลาย ต้องมีการบริหารจัดการ มีโรงจัดเก็บ ซึ่งทำให้การทำนาล่าช้าลงและเหนื่อยมากขึ้น ประกอบกับมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เบื้องต้นชาวนาจึงเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนรถอัดฟางข้าว โรงเก็บ และรถขนส่ง เพื่อให้เกษตรกรหันมาใช้ประโยชน์จากฟาง ลดการเผาซึ่งก่อให้เกิด PM2.5

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ฝุ่นในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.การเผาชีวมวล 2.การจราจร 3.สภาพอากาศปิด จากการศึกษาพบว่า ช่วงที่ฝุ่นหนาแน่นเกิดจากการเผาชีวมวลเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับลมพัดฝุ่นที่เกิดจากการเผาชีวมวลนอกพื้นที่เข้ามาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเรื่องควบคุมได้ยาก อย่างไรก็ตาม กทม.ต้องจัดการส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ดีที่สุด หากจะลดการเผา ภาครัฐจำเป็นต้องลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยการสนับสนุนเครื่องมือที่เป็นของ กทม.เอง ไม่ต้องหยิบยืมจากหน่วยงานอื่น ส่วนเรื่องการเผาอ้อย ปกติเกษตรกรจะใช้วิธีเผาก่อนตัด เพื่อให้การตัดอ้อยง่ายขึ้น ต้องแก้ไขที่นโยบายการรับซื้ออ้อย หากพบเห็นรอยเผาอาจลดราคาลง เพื่อให้เกษตรกรลดการเผา รวมถึงข้าวโพด ซึ่งมีการปลูกตามเนินเขาหรือพื้นที่ลาดเอียง ทำให้เครื่องมือในการจัดการชีวมวลเข้าถึงยาก เกษตรกรจึงใช้วิธีเผาทำลายซังข้าวโพด ดังนั้น แนวทางแก้ไขคือ การประกันราคาควรคำนึงถึงขบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

ปัจจุบัน กทม.ได้เตรียมแผนจัดการฝุ่น PM2.5 สำหรับปี 2567 จากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาการเผาชีวมวลของเกษตรกร พบว่า กรุงเทพมหานครมีพื้นที่เกษตรกว่า 140,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ปัจจุบันราคาเกวียนละ 8,000 บาท ผลผลิตไร่ละประมาณ 900 กิโลกรัม เกษตรกรทำนาปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะการทำนา วิธีเผาฟางข้าวเป็นวิธีกำจัดชีวมวลที่ง่ายที่สุด ช่วยไล่แมลง แก้ปัญหาวัชพืชข้าวดีด อย่างไรก็ตาม การเผาชีวมวลส่งผลเสียในหลายมิติ การสนับสนุนเครื่องมืออัดฟางข้าวหรือเครื่องมือแปรรูปชีวมวลแก่เกษตรกร คุ้มค่ามากกว่า หากเทียบกับความเสียหายที่เกิดจากการเผา ซึ่งทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล การประกาศให้เกษตรกรหยุดเผา รัฐต้องช่วยเกษตรกรด้านต้นทุน หากไม่ช่วยเชื่อว่าไม่สามารถหยุดการเผาได้

“ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานการเผาชีวมวลเชิงเกษตรกรรม 5 จุด ซึ่งลดลงจากเดิม ปัจจุบัน กทม.กำลังจัดหาเครื่องอัดฟางเพิ่มเติมให้เกษตรกร โดยการเตรียมงบประมาณปี 2567 เพื่อดำเนินการเรื่องลดการเผาชีวมวล รวมถึงเรื่องตรวจสอบควันดำ เครื่องตรวจวัดมลพิษ การทำห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน ในศูนย์เด็กเล็กและในโรงพยาบาล ซึ่งได้วางแผนสำหรับงบประมาณปี 2567 ไว้แล้ว คาดว่าจะช่วยจัดการฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย

นางสาวรุ่งนภา ตรีแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบมีการเผาอยู่ แต่น้อยลงจากเดิม เนื่องจากมีการเฝ้าติดตามจากเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดแล้วและสำนักพัฒนาสังคมตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ในการตรวจจับความร้อนในพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมของนาซ่าจิสด้า สามารถรู้ว่ามีจุดความร้อนเกิดขึ้นที่ใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำเขตและเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาสังคมจะลงพื้นที่ทันที เมื่อมีการติดตามอย่างใกล้ชิดตลอด ทำให้เกษตรกรลดการเผาลง เบื้องต้นสิ่งที่ กทม.ทำได้ทันทีคือ การรณรงค์ส่งเสริมเรื่องการลดการเผาชีวมวล โดยการสนับสนุนน้ำหมักชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือ การนำฟางมาหมักในนาข้าวใช้เวลา 2-3 เดือน ส่งกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวนาเสียเวลาในการทำนาไป จากการลงพื้นที่พูดคุยปัญหากับเกษตรกร เบื้องต้นต้องการให้รัฐสนับสนุนเครื่องอัดฟางข้าวเพิ่มเติม ซึ่งเป็นทางออกในการช่วยลดการเผาในขณะนี้

นายนวพัษน์ จิตต์สุทธิผล ประธานแปลงใหญ่ระดับกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปี 2560 ได้ทำโครงการลดการเผาฟางในนาข้าว ได้รับการสนับสนุนเครื่องอัดฟางจากกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 1 คัน จุดประสงค์เพื่ออัดฟางขายแล้วนำเงินมากระจายรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วม จากราคาขายฟางก้อนละประมาณ 15 บาท(ราคาต่ำสุด) แบ่งรายได้ให้เกษตรกรก้อนละ 3 บาท เพื่อจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา และแบ่งเป็นค่าจ้างคนขับและค่าน้ำมันรถอัดฟางข้าว ค่าเชือกมัดฟางม้วนละ 500 บาท มัดฟางได้ 300 ก้อน รวมถึงเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าบำรุงรักษารถอัดฟางข้าวต่อไป แต่ปัญหาที่พบคือ รถอัดฟางข้าวไม่เพียงพอ โดยรถคันหนึ่งใช้งานร่วมกันถึง 4 เขต ทำให้ชาวนาทำงานล่าช้าเพราะต้องเสียเวลาในการเก็บฟาง เนื่องจากถูกห้ามเผา

“หากได้รถอัดฟางและอุปกรณ์กำจัดชีวมวลเพิ่มเติม จะช่วยลดการเผาลงได้มาก ทำให้ชาวนามีรายได้จากการอัดฟางขายเพิ่มขึ้น และยังมีปัญหาเรื่องสถานที่จัดเก็บฟางและรถขนส่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนฟางที่มี  เนื่องจากมีการสั่งซื้อฟางอัดก้อนจากจังหวัดต่างๆ แต่ไม่มีรถขนส่งทำให้เสียโอกาสทางรายได้และการระบายฟางข้าวออกจากพื้นที่ จึงอยากให้ กทม.ช่วยสนับสนุนและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นต้นตอของการเผาฟางข้าวของชาวนา อยากให้ภาครัฐพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้คะแนนจริยธรรมเกษตรกรที่ไม่เผาชีวมวลและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อนำคะแนนเป็นส่วนลดในการซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ทางการเกษตรที่จำเป็นต่อไป เชื่อว่าภาคเอกชนผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยลดการเผาได้มากขึ้น” นายนวพัษน์ กล่าว