เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ "สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย" วันที่ 20 เมษายน 2566 ขณะดวงอาทิตย์ปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุดร้อยละ 1.82 เวลา 11.01 น.บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ติดแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2566 เป็น “สุริยุปราคาแบบผสม” (เกิดทั้งสุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) ตั้งแต่เวลา 09:42 - 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) แนวคราสเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ในช่วงเวลาประมาณ 10:22 - 11:43 น. (ตามเวลาประเทศไทย) มองเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น และสังเกตได้เพียงบางพื้นที่ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่ และบางส่วนของจังหวัดตราด อุบลราชธานี และศรีสะเกษ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน และถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ ที่จังหวัดนราธิวาส (ร้อยละ 4.06)
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาในประเทศไทยครั้งต่อไป จะเกิด “สุริยุปราคาบางส่วน” ในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 ผู้สนใจติดตามข้อมูลได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือเว็บไซต์ www.NARIT.or.th