บุคคลสำคัญในแวดวงเศรษฐกิจที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในอดีต เพื่อวางรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาในอนาคต ทั้งความเป็นอยู่ รายได้ อาชีพ และระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นในชนบท เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ และสร้างงานชนบทให้ดียิ่งขึ้น

ท่านผู้นั้นคือ “ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย

ทั้งนี้ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2454 เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านกับ ม.ร.ว.บุญรับ ปราโมช (พี่สาวใหญ่) จนสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้เมื่ออายุ 4 ปี เป็นลูกศิษย์แหม่มโคลที่โรงเรียนวังหลัง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) เมื่ออายุ 6 ปี และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จึงเดินทางไปศึกษาต่อระดับมัธยมฯที่โรงเรียน Trent ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์(P.P.E.) จากมหาวิทยาลัย อ๊อกฟอร์ด

เมื่อ พ.ศ.2486 ได้เริ่มงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย สำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการธนาคาร วิชาบัญชีและวิชาเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์และการเมือง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะเริ่มเข้าสู่วงการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2489

สำหรับผลงานสำคัญของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นที่จดจำ อาทิ โครงการผันเงินชนบท เพื่อปรับปรุง และสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ที่จำเป็นในชนบท เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ และสร้างงานชนบท โดยการสร้างในงบประมาณรายจ่ายเพื่อปรับปรุงและสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อชนบท มีผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำ และมีรายได้ เป็นการยกฐานเศรษฐกิจของชาวชนบทให้ดีขึ้น ,ส่งเสริมการพัฒนาสภาตำบลอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดให้มีโครงการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย และการซื้อสัมปทานเดินรถของเอกชนรวมเป็นของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ยกตัวอย่าง “โครงการผันเงิน” ที่ตั้งต้นโดยรัฐบาล “คึกฤทธิ์ ปราโมช” บนเป้าประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพในชนบท ต่อสู้กับ “สงครามความยากจนของราษฎร” โดยโครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกคือ โครงการผันเงิน มูลค่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเร่งรัดให้ทุกตำบลจัดทำโครงการพัฒนาตามหลักเกณฑ์ และลักษณะที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ได้แก่ โครงการที่ต้องใช้เงินให้เสร็จสิ้นภายในช่วง เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ปี 2518 ไม่ผูกพันกับงบประมาณปีถัดไป และต้องเป็นโครงการที่ใช้แรงงานได้ทั้งหมด หรือเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนใหญ่ที่ว่านั้นต้องเป็นแรงงานท้องถิ่น และไม่ซ้ำกับงานในโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้า

ระยะที่สองคือ โครงการผันเงิน มูลค่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นส่วนต่อขยายจากโครงการผันเงินในระยะแรก ไม่ได้มีดำเนินการ เนื่องจากความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่การประกาศยุบสภาในที่สุด

ผลการดำเนินงาน “โครงการผันเงิน” เนื่องจากระยะเวลาในการทำงานของรับบาลชุดนี้นั้นค่อนข้างสั้น หรือเพียงประมาณ 10 เดือน จึงมีแค่ผลการดำเนินงานของโครงการในระยะแรกเท่านั้น

จากข้อมูลในปี 2518 พบว่า มีการดำเนินงานโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น คลอง ถนน และสะพาน เป็นต้น จำนวน 41,267 โครงการ ครอบคลุมสภาตำบล 5,023 แห่ง  รวมเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,421.97 ล้านบาท ประชาชนนับสิบล้านมีงานและรายได้  และจากการประเมินในหลังจากนั้น พบว่า ได้รับความพึงพอใจจากประชาชนถึงร้อยละ 96

ขณะที่นักวิชาการ “เกริกเกรียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม” ได้วิเคราะห์ไว้เมื่อปี 2518 ว่า โครงการผันเงิน มีจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจเป็นประการแรก คือ การเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน การสร้างงานให้กับประชาชนในฤดูแล้ง และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองรวมอยู่ด้วย คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

นอกจากนั้นยังมีการวิเคราะห์ถึงจุดมุ่งหมายที่แฝงเร้น อย่างการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในชนบท และการหาเสียงของพรรครัฐบาล เพื่อสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้นำรัฐบาลในเวลานั้น การนำการพัฒนาเข้าไปยังชนบทก็เพื่อยับยั้งการแผ่อิทธิพลของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” อีกทั้งเป็น “การลดความอยากจน” ของคนในชนบท ถือเป็นการป้องกันไม่ให้มีสาเหตุที่จะนำไปสู่การสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ เสริมสร้างความมั่นคงของประเทศชาติ เนื่องจากคอมมิวนิสต์ถูกนับว่าเป็นภัยของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นความยากจนของผู้คน จึงเป็นกุญแจสำคัญหนึ่งในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ จนถูกยกให้เป็น “สงครามความยากจนของราษฎร”

ขณะเดียวกันโครงการผันเงิน ยังเป็นการแสดงถึงการนำสังคมสู่การเป็น “ประชาธิปไตย” ผ่านการ “กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ลดทอนความรุนแรงจากข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคน และรัฐบาลในชุดนี้ยังประนีประนอมกับคนกลุ่มต่างๆ เพื่อหวังสร้าง “การเมืองทางสายกลาง” หลีกเลี่ยงการนำสังคมไทยสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสุดขั้วตามกระแส “สงครามเย็น”

อย่างไรก็ตามยังมีการวิเคราะห์อีกว่า โครงการนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีข้อบกพร่องในการออกแบบโครงการและการเบิกจ่าย ยกตัวอย่าง การออกแบบให้แต่ละตำบลได้รับเงินในจำนวนเท่ากัน โดยไม่ได้คำนึงถึงขนาดและประชากรในตำบลนั้นๆ เป็นต้น ทำให้ผลทางเศรษฐกิจออกมาในรูปแบบที่ยังไม่น่าพึงพอใจ เกิดการสูญเปล่าจากการใช้เงิน เนื่องจากเงินที่เบิกจ่ายไปมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมที่ต่ำมาก การเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่ได้มากพอที่จะนำไปเป็นทุน ทำให้เงินที่เพิ่มขึ้นจึงกลายเป็นส่วนของการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับ “การหว่านเงิน”

อีกเรื่องหนึ่งทางเศรษฐกิจที่ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นเป็นเวลาที่ระบบทุนนิยมโลกกําลังประสบภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เป็นผลจาก “วิกฤติการณ์นํ้ามัน” ในปี พ.ศ.2516-2517 อันเกิดจากการรวมหัวกันขึ้นราคานํ้ามันดิบของประเทศกลุ่มโอเปค ระบบเศรษฐกิจไทยต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

ในปี พ.ศ.2517 ค่าครองชีพถีบตัวขึ้นอย่างมาก และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยถ้วนหน้าสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ขึ้นดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงมิใช่สภาวะการณ์ที่ดี ทําให้รัฐบาลต้องดําเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าที่จะดําเนินนโยบายเศรษฐกิจที่หวังผลระยะยาว อีกทั้งในการรักษาเสถียร์ภาพของราคาด้วยการตรึงราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภายในประเทศให้ตํ่ากว่าราคาตลาดโลก ไม่เพียงแต่จะสร้างภาระทางการคลังแก่รัฐบาลอย่างมากเท่านั้น ยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยปรากฏว่า เมื่อรัฐบาลไม่สามารถให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทนํ้ามัน เพื่อขายนํ้ามันในราคาถูกต่อไปอีกแล้ว ก็ต้องปรับราคานํ้ามันให้ตรงต่อสภาพความเป็นจริง

และเรื่อง “การซื้อสัมปทานเดินรถของเอกชนรวมเป็นของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” นั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการได้มีการขายรถบรรทุกให้เอกชน เป็นจำนวนมาก ซึ่งเอกชนได้นำรถบรรทุก มาดัดแปลงเป็นรถ โดยสารประจำทาง มีการเลือกเส้นทางเดินรถเอง โดยไม่ให้ซ้ำกับ เส้นทางที่มีรถรางวิ่งอย่างเสรี จึงก่อให้เกิดการแข่งขันกันขึ้น รัฐบาลจึงได้ออก พระราชบัญญัติการขนส่ง ในปี พ.ศ.2497 มาควบคุม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถ โดยสารประจำทาง ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งและ ในระยะหลังๆการให้บริการรถเมล์ชักจะเกิดความสับสน มีการเดินรถทับเส้นทางกันบ้าง แก่งแย่งผู้โดยสารกันบ้าง การให้บริการของแต่ละบริษัทก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ปล่อยให้มีการเดินรถอย่างเสรี ทำให้เกิดปัญหาความคับคั่งของการจราจร เนื่องจากจำนวนรถในท้องถนนมีมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผลเสียทั้งหมดตกอยู่กับผู้ใช้บริการทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการได้ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา แต่ผู้ประกอบการ ไม่สามารถจะปรับอัตราค่าโดยสารให้เพิ่มขึ้นในอัตราสมดุลกับราคาน้ำมันได้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นผลให้ หลายบริษัทเริ่มประสบกับปัญหาการขาดทุน บางบริษัทก็มีฐานะทรุดลงจนไม่สามารถ จะรักษาระดับบริการที่ดี แก่ประชาชนต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการรวมรถ โดยสารประจำทางต่างๆให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียว

ครั้งในเดือนกันยายน พ.ศ.2518 ในสมัยรัฐบาล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติของคณะรัฐมนตรี ให้รวมรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร เป็นบริษัทเดียว เรียกว่า "บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เป็นรูปรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัท จำกัด มีรัฐถือหุ้นอยู่ 51% และเอกชนถือหุ้น 49% แต่การรวมและการจัดตั้งเป็นบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ในขณะนั้นมีปัญหาบางประการในเรื่องของกฎหมายการจัดตั้งในรูปแบบของการประกอบกิจการขนส่ง ดังนั้นต่อมาในสมัยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งเป็นองค์การขอรัฐให้ชื่อว่า "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมดจากบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจการสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจ และขอบเขตความรับผิดชอบ ในการจัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม มีผู้ใช้บริการ ประมาณกว่า 3 ล้านคนต่อวัน

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในด้านประกอบการอื่นๆที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับ การประกอบการขนส่งบุคคล เนื่องจากกิจการเดินรถโดยสารประจำทางจัดเป็นสาธารณูปโภค ชนิดหนึ่งของรัฐที่ให้บริการแก่ประชาชน ผู้มีรายได้น้อย และปานกลางเป็นหลัก การดำเนินการ จึงมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในด้านการให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังผลกำไร การจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร จึงอยู่ในอัตราต่ำกว่าต้นทุนตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายการให้บริการของ ขสมก. มุ่งในด้านความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินรถของผู้โดยสารเป็นหลัก

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบทบาทบางช่วงบางตอนของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ที่ได้นำมาซึ่งการวางรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเปลี่ยนแปลง และนำพาไปสู่ความยั่งยืนของประชาชน