วันที่ 20 เม.ย.66 ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากรและคลองแสนแสบ ว่าเรื่องสำคัญในการประชุมคือ การขอความร่วมมือให้บ้านเรือน  สถานประกอบการ และตลาดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครติดตั้งบ่อดักไขมันและบ่อรวมน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง เนื่องจากพบว่าไขมันเป็นตัวปิดกั้นออกซิเจนในแหล่งน้ำ ทำให้น้ำเสียเร็วขึ้น และการบำบัดทำได้ยาก โดยกทม.ร่วมกับกรมอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ ออกมาตรการสุ่มตรวจโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และสถานประกอบการต่างๆ ตามรายงานที่ระบุว่าบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลองแล้วจริงหรือไม่ หากพบว่าไม่จริงตามรายงานระบุ ต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 7 วัน ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข จากการสุ่มตรวจสถานประกอบการในพื้นที่ กทม. ระยะ 500 เมตรจากคลองแสนแสบ 195 แห่ง พบมี 41 แห่ง ยังไม่ได้มาตรฐาน กำลังเร่งดำเนินการแก้ไข และจะมีการประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการตรวจซ้ำมากขึ้น รวมถึงให้อาคารต่างๆที่มีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่แล้ว ดำเนินการเชื่อมต่อเข้าระบบบำบัดน้ำเสียของ กทม.โดยตรง ไม่ต้องปล่อยลงคลองสำหรับตลาดทุกแห่งใน กทม.กำหนดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย หากไม่มีต้องเข้าร่วมโครงการบำบัดน้ำเสียของ กทม. คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทุกแห่งภายในปี 2566

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า 70% ของน้ำเสียมาจากบ้านเรือน ซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการติดตั้งบ่อดักไขมัน โดย กทม.เตรียมสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับสร้างบ่อดักไขมันสำหรับบ้านเรือนชุมชนผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันจึงเร่งดำเนินการติดตั้งบ่อดักไขมันตามบ้านเรือนให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายติดตั้งปีละ 4,000 หลัง

 

นายขจิต กล่าวว่า ตามนโยบายข้อที่ 171 ของผู้ว่าฯกทม.มุ่งเป้าติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทาง โดยเน้นที่ตลาดเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสียเข้มข้นสูง จากการสำรวจ กรุงเทพมหานครมีตลาดถึง 292 แห่ง และมีตลาดที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานตลาด กทม.จำนวน 13 แห่ง อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักการโยธาร่างกฎหมายประกอบด้วย 1.กำหนดให้ทุกบ้านเรือนต้องมีถังแซทส์ หรือถังบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ2.กำหนดให้ทุกบ้านเรือนมีบ่อดักไขมันก่อนปล่อยน้ำเสียลงท่อระบายน้ำสาธารณะ โดยมีนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จนำมาบังคับใช้ได้ภายในปี 2566