ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2454 ที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของ พลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง ปราโมช สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี (พระพันปีหลวง) พระราชทานชื่อว่า 'คึกฤทธิ์'
ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียนหนังสือที่บ้านกับหม่อมราชวงศ์บุญรับ ปราโมช (พี่สาวใหญ่) จนสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้เมื่ออายุ 4 ปี เป็นลูกศิษย์แหม่มโคลที่โรงเรียนวังหลัง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) เมื่ออายุ 6 ปีได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จึงเดินทางไปศึกษาต่อระดับมัธยมที่โรงเรียน Trent ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาปรัชญา การเมือง และเศรศฐศาสตร์ (P.P.E.) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และได้สมรสกับ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ ใน พ.ศ.2480 มีบุตรชายคือ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ล.วิสุมิตรา ปราโมช บุตรสาว
ประวัติการทำงาน ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช รับราชการที่กรมสรรพากร ,เลขานุการที่ปรึกษากระทรวงการคลัง,ผู้จัดการธนาคารพาณิชย์ สาขาลำปาง,รับราชการทหาร[ เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา],หัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการและหัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย,ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด,เขียนบทความลงในคอลัมน์ "ซอยสวนพลู" และ พ.ศ. 2531 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นพลตรี (ทหารราชองครักษ์พิเศษ)
บทบาททางการเมืองของศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พ.ศ. 2488-2489 เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในเมืองไทย ชื่อ "พรรคก้าวหน้า",ได้ร่วมในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์,ได้ริเริ่มจัดตั้งพรรคกิจสังคม,จนกระทั่ง พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ พ.ศ. 2519 ได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร บริหารประเทศประมาณ 9 เดือนเศษ
ผลงานที่สำคัญ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง ตามนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างปกติ และเป็นมิตรกับทุกประเทศที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทยโดยไม่คำนึงถึง ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองในด้านการพัฒนาประเทศ
และ เริ่มโครงการผันเงินชนบท เพื่อปรับปรุง และสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ที่จำเป็นในชนบทเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ และสร้างงานชนบท โดยการสร้างในงบประมาณรายจ่ายเพื่อปรับปรุงและสร้างสิ่ง สาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อชนบท มีผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำ และมีรายได้ เป็นการยกฐานเศรษฐกิจของชาวชนบทให้ดีขึ้น
,ส่งเสริมการพัฒนาสภาตำบลอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดให้มีโครงการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย,ดำเนินการซื้อสัมปทานเดินรถของเอกชนรวมเป็นของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นอกจากนี้เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้น เมื่อ พ.ศ.2493 และเริ่มบทบาทของการเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง
ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ใน พ.ศ.2528 โดยท่านมีผลงานด้านวรรณศิลป์ที่โดดเด่นมากกว่า 200 เรื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล เช่น สี่แผ่นดิน ไผ่แดง หลายชีวิต ซูสีไทเฮา เป็นต้น,และนังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันไทยคดีศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2513,เป็นผู้ก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2509 เพื่อฟื้นฟูการแสดงโขนให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และเพื่ออบรมให้เยาวชนเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมไทย
ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มปรากฏอาการป่วยเป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2530 จนกระทั่ง 2538 และถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2538 รวมอายุได้ 84 ปี
ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายสละ ลิขิตกุล เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "สยามรัฐ "เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวัน เสนอข่าวทั่วไป ออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ราคา 50 สตางค์ โดยมีคำขวัญประจำหนังสือพิมพ์ว่า "นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ" เป็นพุทธศาสนสุภาษิตภาษาบาลีบทหนึ่ง อ่านว่า "นิคคัณเห นิคคะหาระหัง ปัคคัณเห ปัคคะหาระหัง" แปลว่า "ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม" ถือเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่มีอายุยาวนานที่สุดที่ยังมีวางจำหน่ายอยู่ถึงปัจจุบัน
ความเป็นมาของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเป็นรายละเอียดไว้ โดยอาจารย์ สุกัญญา สุดบรรทัด อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “กำเนิดสยามรัฐ” แล้วก็ถึงตอนที่จะออกหนังสือพิมพ์สยามรัฐ “สยามรัฐ” นั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์คู่บุญของคึกฤทธิ์ เขาคือผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ อุปถัมป์กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาเป็นเวลาช้านาน "สยามรัฐ"นั้นถ้าเทียบไปแล้วก็เหมือนเวทีแสดงความเห็นของคึกฤทธิ์ เป็นอาวุธทางการเมืองที่กลายเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย คึกฤทธิ์ ต่างจากนักการเมืองอื่นๆ ที่ออกหนังสือพิมพ์ด้วยในแง่ที่ว่า เขาเองเป็นผู้ที่เข้าใจในจิตวิญญาณของหนังสือพิมพ์เป็นอย่างดี เนื่องจากตัวเขาเองก็เป็นนักหนังสือพิมพ์ ได้โดดมาทำงานหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเอง มิใช่นั่งชี้นิ้วอยู่ห่างๆ ให้หนังสือพิมพ์ทำเช่นนั้นเช่นนี้ตามใจตนโดยที่ตนไม่รู้เรื่องหนังสือพิมพ์ และธรรมชาติของประชามติเลย จอมพล ป.ก็ดี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ก็ดี ต่างก็มีหนังสือพิมพ์ของตนเอง แต่ในเกมของการต่อสู้ สยามรัฐกลับได้การหนุนจากประชาชนมากกว่า คึกฤทธิ์ได้ปล่อย (หรืออย่างน้อย ก็มีความตั้งใจที่จะปล่อย) ให้กองบรรณาธิการของเขามีอิสระในการตัดสินใจ ทั้งนี้ เพราะหนังสือพิมพ์ย่อมรู้ดีถึงธรรมชาติของตนที่จะต้องคอยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หากสยามรัฐต้องการจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดีก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้โดยเคร่งครัด หนังสือพิมพ์ต้องไวต่อกระแสความเห็นของประชาชน และเหตุการณ์ที่ผันแปรไปทุกเมื่อเชื่อวัน เปรียบเสมือนขนนกที่ไหวสะเทีอนไปตามแรงลม หนังสือพิมพ์ที่เป็นฝักฝ่ายของกลุ่มพรรค หรือกลุ่มคน หรือรัฐบาล หากมุ่งหวังแต่จะเป็นกระบอกเสียงเช่นนั้นแล้ว ก็จะมีสายตาอันมืดบอดต่อกระแสความเห็นและความต้องการของประชาชน และกลับจะเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน เมื่อคึกฤทธิ์จะออก"หนังสือสยามรัฐ"นั้นเขาก็ยังไม่ได้คิดจะเลิกการเมือง แต่เขามุ่งหวังจะให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ดี ทำหนังสือพิมพ์ออกมาฉบับหนึ่ง คือ"หนังสือพิมพ์สยามรัฐ" ด้วยความคิดว่าจะใช้ฉบับนั้นแสดงความคิดทางการเมืองอย่างถูกต้อง ไม่เป็นพวกใครทั้งนั้น คือแสดงความเห็นโดยสุจริต เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งถือหลักหนังสือพิมพ์ทุกประการ คือถือเอาความเป็นจริงเป็นใหญ่ ไม่ลงข่าวที่ไม่มีความจริง ไม่กำหนดข่าวขึ้นเอง ไม่ใช้อารมณ์ในการเขียนข่าว ซึ่งปรากฏว่า "สยามรัฐ "ปฏิบัติเช่นนั้นได้จริง เป็นความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นโดยทั่วไปที่เน้นข่าวประเภทเร้าอารมณ์ ความแตกต่างดังกล่าวเมื่อผสมผสานเข้ากับความมีอารมณ์ขันของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ทำให้สยามรัฐเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างรวดเร็ว บทวิจารณ์ทางการเมืองเป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง แต่สยามรัฐก็มิได้ละเลยเนื้อหาประเภทอื่นที่เกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตสาธารณชน ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนา สังคม และสภาวะแวดล้อม ดังนั้น ภาพของ"สยามรัฐ"จึงมิใช่ภาพของคึกฤทธิ์อย่างที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นกำลังวาดให้นักการเมืองผู้เป็นเจ้าของได้สดสวยกว่าตัวจริง ไม่ว่านักการเมืองผู้นั้นจะชั่วร้ายเลวทรามอย่างไรก็พยายามระบายสีสวยๆ หวังจะให้ประชาชนเชื่อ มันก็เลยกลายเป็นความน่าเบื่อ และสยามรัฐก็ได้เข้ามาแทรกเป็นตัวเลือกหนึ่งท่ามกลางความน่าเบื่อเหล่านั้น