นักกำหนดอาหารวิชาชีพ แนะ ฤดูร้อน ลดอาหารฤทธิ์ร้อน เผ็ดจัด หวานจัด ไขมันสูง ผลไม้กลุ่ม ลิ้นจี่ ลำไย ลองกอง ทุเรียน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดเสี่ยงการเกิดร้อนใน และ ฮีสโตรก ย้ำ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการ
ดร.วนะพร ทองโฉม นักกำหนดอาหารวิชาชีพ งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อน หรือ Summer Season อุณหูมิอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด มีผลให้ร่างกายอาจเกิดภาวะร้อนใน หรือทำให้อุณหภูมิในร่างกายอาจสูงกว่าปกติ หากสูงมากเกินไป จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน อาจทำให้เกิดฮีสโตรกหรือโรคลมแดด ส่วน “อาหาร” มีหลักการแบ่งอาหารตามศาสตร์การแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนจีน โดยแบ่งอาหารออกเป็นฤทธิ์ร้อน (หยาง) และฤทธิ์เย็น (หยิน) ที่จะช่วยในการปรับสมดุลร่างกายตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม
การรับประทานอาหารปรับสมดุลร่างกาย สำหรับคำถามที่ว่าจริงหรือไม่ หากกินอาหารฤทธิ์ร้อนจะทำให้ร่างกายร้อนด้วยนั้น พบว่ามีงานวิจัยในวารสารนานาชาติที่ตีพิมพ์ในปี 2012, 2020 และ 2021 ได้ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสารอาหารกับอาหารกลุ่มฤทธิ์ร้อนและเย็น พบว่า อาหารฤทธิ์ร้อนมักสัมพันธ์ในกลุ่มอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต แป้ง น้ำตาล และไขมันสูง เมื่อรับประทานเข้าไปอาจทำให้ภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น จากการที่ร่างกายเกิดการเมตาบอลึซึมหรือเผาผลาญพลังงาน ดังนั้นในฤดูร้อนจึงต้องระมัดระวังไม่รับประทานอาหารที่มีรสชาติจัด ไม่ว่าจะเป็น รสเผ็ดจัด และหวานจัด รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาหารกลุ่มนี้จัดเป็นอาหารกลุ่มฤทธิ์ร้อน ส่วนเครื่องดื่มที่เพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะดื่มแบบเย็นใส่น้ำแข็งหรือแช่เย็น เนื่องจากตัว "เอทิลแอลกอฮอล์" หรือ "เอทานอล" ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้รบกวนกระบวนการควบคุมอุณหูมิในร่างกายทำให้รู้สึกร้อนเมื่อดื่มในช่วงแรก หากดื่มในขณะที่อากาศร้อนจัดอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เนื่องจากร่างกายพยายามปรับอุณหภูมิให้ต่ำลงโดยขยายหลอดเลือดและขับเหงื่อออกมากขึ้น
“ฤดูร้อนต้องระมัดระวังในการรับประทานอาหารกลุ่มที่มีฤทธิ์ร้อน อาหารในกลุ่มที่ต้องระมัดระวังที่จะทำให้ร่างกายเกิดอุณหภูมิความร้อนมากเกินไป อาหารกลุ่มแป้ง-ธัญพืชที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ข้าวเหนียว ส่วนผัก เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา หอม กระเทียม ส่วนผลไม้ในกลุ่มที่รับประทานเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง น้อยหน่า และมะม่วงสุก อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าอาหารกลุ่มนี้จะรับประทานไม่ได้ เพราะยังเป็นอาหารกลุ่มที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ” ดร.วนะพร กล่าว
สำหรับอาหารฤทธิ์เย็น หรือในศาสตร์แพทย์จีน คือ หยิน มีรสชาติจืด และหวานจากธรรมชาติ มีเส้นใยสูง ให้พลังงานต่ำ รสชาติไม่จัดจ้าน ตัวอย่างอาหารกลุ่มแป้ง-ธัญพืชที่มีฤทธิ์เย็น เช่น วุ้นเส้น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ส่วนผัก เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู ผักบุ้ง ตำลึง ผักหวาน บวบ ฟัก แตง สายบัว หยวกกล้วย มะระ มะรุม ว่านหางจระเข้ บล็อกโครี่ หัวไชเท้า และผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น อาทิ มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูป สับปะรด ส้มโอ สตอเบอรี่ และผลไม้ตระกูลส้มต่างๆ
ส่วนอาหารที่ช่วยคลายร้อน ด้วยอุณหภูมิอากาศที่ร้อน ร่างกายต้องอาหารที่กินแล้วรู้สึกสดชื่น แนะนำเป็นกลุ่ม สมูทตี้ ใส่นมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนย พร้อมเติมผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น สตอเบอรี่ ส้ม สับปะรด หรือจะเป็นน้ำผลไม้ปั่น เช่น น้ำแตงโมปั่น แต่ต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณน้ำตาลที่ไม่ให้มากเกินไป และข้อควรระวังอีกอย่างสำหรับเครื่องดื่มที่เย็นจัด ในช่วงที่รู้สึกร้อนจัดๆ เช่น หลังออกกำลังกาย ทำงานใช้แรงกลางแดด ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเย็นจัดทันที ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันจนขาดสมดุลและส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ หากใครชื่นชอบในรูปแบบของหวาน อาจจะเลือกเป็นผลไม้ลอยแก้ว เช่น สละลอยแก้ว มะยงชิดลอยแก้ว หรือถั่วเขียวต้มน้ำตาล หวานน้อย ก็ช่วยทำให้ร่างกายคลายร้อนได้ หรืออาหารคาวที่มีรสชาติไม่จัดจ้าน นำผักที่มีฤทธิ์เย็นมาปรุงประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ต้มจืดตำลึง/หัวไชเท้า/ฟัก แกงสายบัว ผัดบวบใส่ไข่ ผัดผักบุ้งไฟแดง ผัดเห็ดฟาง
นอกจากนี้ ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย ที่สำคัญ การเลือกซื้อน้ำแข็ง ให้ระมัดระวังการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคต่างๆ ที่มากับน้ำแข็ง แนะให้เลือกซื้อน้ำแข็งจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐานในการผลิต มีถุงหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด หากเป็นไปได้ให้ทำน้ำแข็งกินเองที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยในช่วงหน้าร้อน
สำหรับผู้ประกอบการร้านเครื่องดื่มและของหวาน เช่น ร้านขายเครื่องดื่มเย็น ร้านน้ำแข็งใส แนะให้ตรวจสอบสถานที่ที่รับน้ำแข็งว่าสะอาดปลอดภัยและเป็นแหล่งจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือนำน้ำแข็งมาทดสอบโดยปล่อยให้ละลาย ดูว่ามีตะกอน หรือคราบดำตกค้างหรือไม่ หากไม่สะอาดให้พิจารณาซื้อน้ำแข็งจากร้านที่ให้ความสำคัญกับความสะอาดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค./
เอกสารอ้างอิง
Joerg Kastner, Chinese Nutrition Therapy, Thieme Stuttgart, New York, 2004, pp. 21–34.
Liu, Chun-hong, Yuan-ming Sun, Yu Li, Weixian Yang, Mingming Zhang, Chen-lu Xiong and Yi-chao Yang. The relationship between cold‐hot nature and nutrient contents of foods. Nutr. Diet. 2012;69:64-68.
Xie, Aiying, Han-Chen Huang and Fanbin Kong. Relationship between food composition and its cold/hot properties: A statistical study. J. Agric. Res. 2020; 3:100043.
Ormsby SM. Hot and Cold Theory: Evidence in Nutrition. Adv Exp Med Biol. 2021;1343:87-107.