วันที่ 20 เม.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 57,321 คน ตายเพิ่ม 136 คน รวมแล้วติดไป 685,909,818 คน เสียชีวิตรวม 6,844,129 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และเม็กซิโก
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.98 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 83.08
...สถานการณ์ในจีน
ข้อมูลจาก China CDC เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การระบาดในจีนขณะนี้ก็เป็นไปในลักษณะซุปสายพันธุ์
มีทั้ง BF7.14, DY.2, DY.4, BA.5.x และอื่นๆ
แต่สังเกตได้ว่ามีการตรวจพบตระกูล XBB.x มากขึ้นด้วย
...สถานการณ์ในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย
ดังที่ทราบกันว่า XBB.1.16 ระบาดอย่างต่อเนื่อง จำนวนเคสใหม่ที่รายงานในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ยังคงเพิ่มขึ้นชัดเจน เป็นไปในลักษณะ exponential
การเฝ้าระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 กระจายไปแล้ว 34 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
...อัพเดตความรู้โควิด-19
"การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน"
Naveed Z และทีมงานวิจัยจากประเทศแคนาดา ศึกษาติดตามผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 629,935 คน เพื่อดูอัตราการเกิดโรคเบาหวานหลังจากที่เคยติดเชื้อไปแล้วนานกว่า 30 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยทำการติดตามผลไปนานเฉลี่ย 257 วัน หรือเกือบ 9 เดือน
พบว่ากลุ่มที่เคยติดเชื้อจะมีความเสี่ยงที่จะตรวจพบโรคเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ 17% (1.17 เท่า)
ทั้งนี้ หากเป็นเพศชาย พบว่าจะเสี่ยงเพิ่มขึ้น 22% (1.22 เท่า)
และหากติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล จะเสี่ยงขึ้น 2.4 เท่า และหากป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในไอซียู จะเสี่ยงสูงมากขึ้นถึง 3.3 เท่า
ผลการศึกษาข้างต้น ช่วยกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพราะการติดเชื้อไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่ยังเกิดผลกระทบในลักษณะโรคเรื้อรังระยะยาวตามมาอีกด้วย
"คนสูงอายุที่เคยติดเชื้อโควิด เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด"
Gaudet LA และทีมวิจัยจากประเทศแคนาดา ทำการทบทวนหลักฐานวิชาการอย่างเป้นระบบ พบว่า คนสูงอายุ (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) หากเคยติดเชื้อมาก่อน จะทำให้เสี่ยงที่จะประสบปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดตามมา สูงกว่าปกติถึง 1.26-1.99 เท่า
นอกจากนี้ทั้งคนวัยทำงานและวัยสูงอายุ ที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็พบว่าทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท และระบบทางเดินหายใจ มากขึ้นกว่าคนทั่วไปราว 2 เท่า
...ด้วยความรู้ทางการแพทย์จนถึงปัจจุบัน Long COVID หรือผลกระทบระยะยาวหลังจากติดเชื้อไปแล้ว สามารถเกิดได้กับแทบทุกระบบในร่างกาย
ควรใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท
ระมัดระวังกิจกรรมเสี่ยง ที่แออัด สถานที่ระบายอากาศไม่ดี
เลี่ยงการแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. Naveed Z et al. Association of COVID-19 Infection With Incident Diabetes. JAMA Network Open. 18 April 2023.
2. Gaudet LA et al. Associations between SARS-CoV-2 infection and incidence of new chronic condition diagnoses: a systematic review. Emerging Microbes & Infections. 18 April 2023.
3. Turner S et al. Long COVID: pathophysiological factors and abnormalities of coagulation. Trends in Endocrinology & Metabolism. 19 April 2023.