สงครามใหญ่ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่เชียงใหม่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ “งานปอย” ที่ทางภาคเหนือท่านหมายถึงงานเฉลิมฉลองหรืองานในวาระพิเศษต่างๆ ถ้าเป็นชาวบ้านก็หมายถึงงานวัดหรืองานเทศกาลทางศาสนาทั้งหลาย ถ้าเป็นงานที่จัดอย่างยิ่งใหญ่หรือในสมัยก่อนเจ้าเมืองเป็นผู้จัดจะเรียกว่า “ปอยหลวง” ดังที่มีโรงแรมระดับห้าดาวเก่าแก่แห่งหนึ่งบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ก่อนเข้าเมืองเชียงใหม่ตั้งชื่อไว้เช่นนั้น

คำว่า “หลวง” ที่คนเหนือเขาใช้ต่อท้ายคำนามต่างๆ หมายถึง “ใหญ่” อย่างคำว่าปอยหลวงดังกล่าว หรือคำว่า “เอื้องหลวง” ที่บริษัทการบินไทยเอามาเป็นแบรนด์สำหรับเส้นทางบริการทางภาคเหนือ ก็หมายถึงดอกกล้วยไม้ที่มีดอกใหญ่ๆ จำพวกแวนด้าหรือฟ้ามุ่ย อีกคำหนึ่งที่คนทั่วไปเอามาใช้ผิดๆ ก็คือคำว่า “พ่อหลวง” ที่ชาวเหนือหมายถึงผู้มีตำแหน่ง “ผู้ใหญ่บ้าน” แต่คนทั่วไปเอามาเรียกพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จนติดปาก ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้พูดไว้ขำๆ ว่า “ขึ้นต้นก็เป็นพระเจ้าอยู่หัว อยู่ไปอยู่มาก็ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าถึงงานปอยในอดีตว่า จะเน้นภาพของความเลื่อมใสศรัทธาในหมู่ชาวบ้านชาวเมืองของผู้คนในแต่ละถิ่น คือจะมีการบอกบุญให้คนออกมาร่วมงานมากๆ ใครมีอะไรมากินมาถวายพระก็ช่วยๆ กันหามาหรือทำมา แต่ด้วยศรัทธานั้นก็จะมีการตกแต่งประดับประดาตามสมควร การแต่งกายที่สวยงามสะอาดสะอ้านด้วยเสื้อผาใหม่ๆ การตกแต่งบ้านเรือน และการจัดเตรียมตกแต่งวัดให้สวยงาม ร่วมกับการจัดขบวนแห่ของที่จะไปถวายวัด ซึ่งที่สุดของศรัทธาก็คือการ “ฟ้อน” เพราะเป็นการฟ้อนแบบ “มหาชน” อันประกอบด้วยผู้คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นผู้หญิงเพื่อความสวยงาม ประกอบด้วยท่าทางในการฟ้อนง่ายๆ ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกว่า “ยืดยุบๆ” และดนตรีช้าๆ ชัดๆ ที่เรียกว่า “เติดเนิงๆ”

เคราะห์ดีที่งานปอยต่างๆ ของเชียงใหม่ยังรักษาภาพลักษณ์ดังกล่าวเช่นในอดีตไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ติติงก็คือ การแตกแต่งขบวนแห่ต่างๆ ที่สมัยนี้อาจจะใช้คำว่า “เว่อร์วังอลังการ์” เป็นต้นว่า การแห่ตุง(คนเหนือเรียกธงว่าตุง)ที่มากมายลายตา ทั้งยังมีมีขนาดใหญ่สูงยาว จนบดบังผู้คนที่มาร่วมขบวนแห่ รวมถึงทำให้บรรดานางฟ้อนทั้งหลายที่ควรจะต้องเป็นขบวนหลักได้กลายเป็นตัวประกอบไปเลย แต่ภายหลังเมื่อมีผู้มาอธิบายว่าเป็นเรื่องของพัฒนาการตามสมัยนิยม ที่จะต้องมีการ “ออกสื่อ” คือถ่ายทอดโทรทัศน์และส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาพต่างๆ ต้องสร้างสรรค์ออกมาให้ “ตระการตา” เพื่อสร้างความประทับใจและให้เกิดความ “ยิ่งใหญ่” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อดแซวไม่ได้ว่า ต่อไปคงจะกลายเป็นงาน “เต้นคาร์นิวาล” อย่างที่เขามีกันในประเทศบราซิล

การทำสงครามของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้หมายถึงท่านออกไปสู้รบหรือฆ่าฟันใครๆ เพียงแต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้น อย่างทีเรียกว่า “ติเพื่อก่อ”

ในปีแรกๆ ที่ท่านไปอยู่บ้านริมปิงที่เชียงใหม่ ท่านได้ไปร่วมงานปอยต่างๆ ของชาวเชียงใหม่อยู่เป็นประจำ อย่างเช่นงานหนึ่งที่ท่านชอบไปก็คือ “งานบุปผชาติ” (วันก่อนได้ยินผู้ประกาศข่าวทางวิทยุแห่งหนึ่งอ่านออกเสียงว่า บุบ-ผา-ชาด เธอน่าจะหาข้อมูลก่อนอ่านให้พอ นี่ผมก็ขอติเพื่อก่อเช่นกัน) ที่ผมจำได้แม่นก็คือใน พ.ศ. 2528 เพราะขบวนแห่นำโดยรถดอกไม้ของนางสาวเชียงใหม่ คุณสรารัตน์ หรุ่มเรืองวงศ์ (ปีต่อมาเข้าประกวดนางสาวไทยได้รองอันดับหนึ่ง) ซึ่งเป็นนางสาวเชียงใหม่ที่ผิวไม่ขาวอย่างสาวเชียงใหม่ และมีชื่อเล่นว่าปูดำ พอดีกับที่ผมได้กล้องถ่ายรูปยี่ห้อ YACHICA มาใหม่ก็เลยถ่ายรูปนางงามกับดอกไม้นั้นอย่างเพลิดเพลิน

งานบุบผชาติเชียงใหม่จะจัดขึ้นในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เริ่มขบวนแห่ที่สะพานนวรัตน์ ไปตามถนนท่าแพ ไปจบขบวนที่สวนบวกหาดซึ่งเป็นสวนสาธารณะประจำเมืองเชียงใหม่ (สวนบวกหาดนี้ในเวลาปกติจะเป็นตลาดขายไม้ดอกไม้ประดับที่มีบริเวณกว้างขวาง เหมือนสวนจตุจักรของกรุงเทพฯ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มักจะไปซื้อต้นไม้ดอกไม้มา “เสริม” ในสวนที่บ้านริมปิงเสมอๆ เช่น ซื้อต้นคริสต์มาสและต้นสนมาแต่งบ้านในเทศกาลคริสต์มาส) แล้วตั้งขบวนรถดอกไม้นั้นไว้อีก 4 – 5 วัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาชมอย่างใกล้ชิด โดยคณะของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะมีอัฒจรรย์ที่ทางธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ สาขาท่าแพ สร้างไว้ข้างหน้าธนาคาร ทำให้มองเห็นขบวนแห่ได้อย่างเต็มตา

 อาจจะเป็นด้วยความที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนช่างสังเกตและเป็นคนที่รู้เรื่องต้นไม้ดอกไม้มาก ท่านได้สังเกตเห็นว่าดอกไม้ที่นำมาประดับขบวนแห่บางชนิด เช่น ดอกกล้วยไม้ประเภทหวาย ที่ชื่อว่า “มาดาม” ที่แม่ค้าแผงดอกไม้จะเอามาทำขายเป็นกำๆ สำหรับปักแจกันไหว้พระ มีดอกสีม่วงๆ นั่นแหละ น่าจะไม่ใช่ดอกไม้พื้นถิ่นของเชียงใหม่ “นี่กล้วยไม้ดำเนินสะดวกชัดๆ” ท่านว่า รวมถึงที่ท่านให้ระวังกล้วยไม้ชนิดนี้ เนื่องจากเขาปลูกเพื่อการค้า เน้นดอกสวย แข็งแรง บานทนนาน จึงใช้ทั้งปุ๋ยเร่งและยาฉีดฆ่าแมลงอย่างเต็มที่ สำหรับตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองนั้นก็ระมัดระวังมาก เวลาไปทานอาหารโดยเฉพาะร้านจีนหรูๆ ก็มักจะเอากล้วยไม้มาดามนี้มาตกแต่งจานอาหาร ท่านก็จะไม่แตะอาหารจานนั้นเลย รวมทั้งเวลาที่ท่านไปสั่งเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อยก่อนทานอาหารฝรั่งที่เรียกว่าค็อกเทล อย่างเช่นค็อกเทลที่ชื่อไหมไทย ที่เขาจะมีร่มอันเล็กๆ เสียบมาพร้อมตกแต่งด้วยดอกล้วยไม้ ถ้าท่านเห็นใครสั่งมาดื่มท่านก็จะเตือนให้ระวังดีๆ จนภายหลังก็ไม่มีใครสั่งอีก

สงครามที่ยิ่งใหญ่ในการสู้รบที่เชียงใหม่ที่ผมสังเกตเห็นว่าท่าน “บ่น” มากๆ ก็คือเรื่องของ “ภาษาคำเมือง” หรือภาษาพูดของคนพื้นถิ่น ที่ก็มีความผิดเพี้ยนไปมาก โดยที่คนภาคเหนือในสมัยใหม่ไม่ใคร่จะเอาใจใส่ แต่ก็นั่นแหละท่านก็บอกว่า “มันเป็นธรรมดาของโลก” ภาษาภาคไหนๆ ก็ผิดเพี้ยนไปจากเดิมด้วยกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม่แต่ของภาษาของชาติอื่นๆ อย่างภาษาอังกฤษที่มีคนใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก ก็ยังกร่อนกลายเปลี่ยนไปตลอดเวลา

วิธีสู้กับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตามยุทธวิธีของท่านอาจารยคึกฤทธิ์ก็คือ “ปรับที่ตัวเรา” เช่น การคบกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ เพราะเมื่อเวลาที่จะต้องไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มใดก็จะได้ “ร่วมสมัย” หรือ “เป็นคณะ” ไปกับเขาด้วย อย่างที่เรียกว่า “ใช้ชีวิตเหมือนๆ กัน” และ “พูดเรื่องเดียวกัน”

               ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเลิกกลุ้มใจและไม่มี “ศึกสงคราม”