สธ. ย้ำเจตนารมณ์ของกฎหมายอาหาร เพื่อคุ้มครองประชาชน กรณีเครือข่ายโอท็อปเทรดเดอร์ ขอแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร 2522 ได้มอบให้ อย.พิจารณาแก้ไขปัญหา

กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเจตนารมณ์ของกฎหมายอาหารเพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน ส่วนกรณีเครือข่ายโอทอปเทรดเดอร์ประเทศไทย ขอให้แก้ไขพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 หลังผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการเปรียบเทียบปรับ กรณีผิดพลาดเรื่องฉลาก ได้มอบ อย. เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหา พร้อมจัดการอบรมเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง 

วันนี้ (19 เมษายน 2566) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องทุกข์จาก นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธานเครือข่ายโอทอปเทรดเดอร์ประเทศไทย ซึ่งนำทีมประธานโอทอปเทรดเดอร์ 25 จังหวัดทั่วประเทศ ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้แก้ไขพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 สืบเนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม มีหนังสือถึงผู้ประกอบการในการเปรียบเทียบปรับ กรณีฝ่าผืน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(10) ฐานฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับฉลาก โดยมีการเปรียบเทียบปรับจำนวน 80,000 บาท โดยเห็นว่าเป็นเงินจำนวนมากและไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่ทำมาหากินโดยสุจริต

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ท่านมีนโนยายที่จะดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยประชาชน และส่งเสริมในมิติเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน กฎหมายดังกล่าว เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าให้มีความปลอดภัยกับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม พร้อมรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา พัฒนากฏหมายดังกล่าวอย่างดีที่สุด 

กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง เช่น เรื่องฉลากที่ถูกต้อง มีการฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขอให้เครือข่ายโอทอปเทรดเดอร์สื่อสารไปยังผู้ประกอบเพื้อเข้าอบรม และหากมีข้อสงสัยในการดำเนินการสามารถติดต่อหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขในระดับพื้นที่และส่วนกลาง

ปัจจุบัน การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นการว่า เฝ้าระวังและว่ากล่าวตักเตือนกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าข่ายมีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับฉลาก อย่างน้อย 2 ครั้ง เน้นการให้ความรู้และแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง เช่น นำผู้ประกอบการเข้ารับการอบรมเพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการดำเนินการที่ถูกต้อง แต่ถ้าตรวจพบว่ายังฝ่าฝืนไม่ปรับปรุงให้ถูกต้องตามระเบียบ จึงดำเนินการตามกฎหมาย 

สำหรับการขอให้ยกเลิกการให้รางวัลนำจับกับผู้ที่ชี้เป้าสินค้า เนื่องจากจะทำให้เกิดไล่ล่าเพื่อรับรางวัลนำจับ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั่วประเทศจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป