ในช่วงที่ผ่านมานี้  นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้มีการพบปะนักการเมืองต่างๆ อย่างเช่น ได้มีการพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  หลัง ปชป. เสนอชื่อ นายจุรินทร์ คนเดียวเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

ในห้วงเวลาการเลือกตั้ง ปี 2566 ที่จะมาถึงนี้ เราตั้งคำถามได้ว่า สหรัฐอเมริกาจะมีการแทรกแซงการเมืองไทยถึงขนาดไหน

ตามที่สื่อไทยรายงาน นายจุรินทร์ ได้กล่าวหลังการพบนายโกเดคว่า  เอกอัครราชทูตโกเดคมีความสนใจติดตามสถานการณ์ทางการเมือง มีท่าทีที่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้  นายโกเดคได้พบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายโกเดคก็มีการพูดถึงประเด็นการเลือกตั้ง และ การนำประเทศไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย ตามที่ นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทยระบุ

ก่อนมารับตำแหน่งเป็นทูตประจำประเทศไทย นายโกเดคได้มีการแถลงต่อกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อ 13 ก.ค. ปี 2565 และ มีการตอกย้ำเรื่องประชาธิปไตยในการแถลง โดยกล่าวว่า

สหรัฐฯสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบมีหลายพรรคการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก การปกครองโดยเป็นธรรม และความเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกและในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

นายโกเดค ยังกล่าวว่า แม้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยอมรับรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2562 หลังจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 แต่ยังมีงานที่ต้องทำโดยประเทศไทย อันนี้ก็แปลว่า ทางสหรัฐฯจะมีการพยายามผลักดันรัฐบาลไทยให้มีการปรับปรุงระบอบการปกครอง ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศไทย

ที่จริงแล้ว ประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี แต่สหรัฐฯมักใช้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงการเมืองของประเทศอื่นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตน และแนวทางนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศต่างๆบ่อยครั้งในแต่ละยุคแต่ละสมัย

ในยุคสงครามเย็น ประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็คือ กัมพูชาก็เป็นประเทศที่ได้รับผลร้ายจากการแทรกแซงการเมืองของสหรัฐฯ  เมื่อปี 2514 สหรัฐฯได้สนับสนุนให้นายพลลอนนอลโค่นล้มรัฐบาลสมเด็จนโรดมสีหนุ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม และ บาดแผลที่เจ็บปวดรวดร้าว

เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่ตะวันออกกลางเกิดการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งสื่อมวลชนตะวันตกเรียกว่า อาหรับสปริง สหรัฐฯได้ชูธงประชาธิปไตย เรียกร้องและสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในหลายประเทศอาหรับ อย่างเช่น อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย เป็นต้น จนเกิดสงครามภายใน ณ ประเทศ ลิเบีย และ ซีเรีย ประชาชนก็เป็นฝ่ายที่รับผลร้าย และ ตกเป็นผู้ลี้ภัยหนีจากประเทศของตน

ในปี 2562 ฮวน กุยโด ผู้นำฝ่ายค้านของประเทศเวเนซุเอลาได้ประกาศให้ตัวเองเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคู่ขนานกับ ประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร หลังมีการกล่าวหาว่า มาดูโรมีการโกงเลือกตั้ง สหรัฐฯออกมายอมรับให้กุยโดเป็นผู้นำที่ถูกต้องตามกฎหมายของเวเนซุเอลา จนเกิดวิกฤตการณ์ประธานาธิบดี ที่เพิ่งจบไปต้นปีนี้ ตามที่สำนักข่าวเอเอฟพีได้รายงานข่าวว่า สหรัฐฯได้ โยกงบประมาณ 41.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯมาสนับสนุนกุยโด และอีก 19.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯสำหรับเป็นเงินเดือนทีมงานของกุยโด รวมถึงเงินสนับสนุนฝ่ายค้านที่ดำเนินการต่อรองกับรัฐบาลมาดูโรอีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ในการแทรกแซงการเลือกตั้งของต่างประเทศนั้น สหรัฐฯได้ทำมาหลายต่อหลายครั้ง ตามบทรายงานของDov Levin จากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในระหว่างปี 2489 ถึงปี 2543 สหรัฐฯได้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งของประเทศอื่นถึง 81 ครั้ง ซึ่งไม่ได้รวมความพยายามปั่นให้เกิดรัฐประหาร หรือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองหลังจากมีผู้นำที่สหรัฐฯไม่ชอบชนะการเลือกตั้ง

ในช่วงเกิดการประท้วงในประเทศไทย ในปี 2563 และ 2564 สหรัฐฯก็อาจมีการแทรกแซงด้วยเช่นกัน จนมีกลุ่มประชาชนไปประท้วง ตามสื่อต่างๆ รายงานว่า ในปี 2564 กลุ่มประชาชนชาวไทย นำโดยทนายนกเขา พิชิต ไชยมงคล ไปแสดงความเห็นหน้าสถานทูตสหรัฐฯ โดยกลุ่มนี้มีความเห็นว่า สหรัฐฯ มีความพยายามในการแทรกแซงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย อันเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับประชาชน ครอบงำทางความคิด สร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ

การเลือกตั้งของประเทศไทยจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ และ นายโกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย น่าจะไปพบนักการเมืองไทยอีกหลายคน ซึ่งอาจเป็นวิธีหนึ่งที่สหรัฐฯพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งย่อมจะมีผลด้านลบต่อประชาชนชาวไทย

ทั้งนี้ นักการเมืองไทยควรมีความระมัดระวัง ต้องพัฒนาประเทศตามเส้นทางของประเทศไทยเอง มิให้ประเทศไหนมาชี้บอก และพาหลงทาง จนทำให้ประเทศชาติ เผชิญหน้ากับวิกฤติการเมือง และ ประชาชนต้องรับความเสียหาย