โดยรามวัชรประดิษฐ
www.arjanram.com
พระผงสุพรรณ หนึ่งใน ‘พระชุดเบญจภาคี’ สุดยอดพระเครื่องของเมืองไทย ที่เป็นที่ใฝ่ฝันและแสวงหานั้น เป็นพระกรุเก่าแก่ศิลปะยุคอู่ทอง เนื้อดินเผา แต่ทำไมจึงเรียก ‘ผงสุพรรณ’ ?... มูลเหตุสืบเนื่องจาก ดินที่เป็นมวลสารหลักเป็นดินเนื้อละเอียดเมื่อผสมน้ำว่านยาต่างๆ จึงมีความละเอียดมากขึ้น ลักษณะคล้าย ‘ผง’ อีกทั้ง ‘จารึกลานทอง’ ที่พบก็ได้กล่าวถึงการสร้างที่มีส่วนผสมของผงว่านและเกสรดอกไม้ เดิมทีชาวบ้านจึงมักเรียกกันว่า “พระเกสรสุพรรณ” หรือ ‘พระผงสุพรรณ’ และติดปากมาถึงปัจจุบัน
พระผงสุพรรณ พบที่ พระปรางค์ประธาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี โดย ชาวจีนซึ่งปีนเนินฐานองค์ปรางค์ขึ้นไปเพื่อปลูกผัก แล้วเห็นเป็นโพรงทะลุลงไป และยังพบพระประเภทอื่นอีก อาทิ พระปทุมมาศ พระกำแพงศอก พระกำแพงคืบ พระกำแพงนิ้ว ฯลฯ จนในราวปี พ.ศ.2456 ทางราชการ นำโดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสาะหาที่ตั้งของเจดีย์ยุทธหัตถี ครานั้น พระยาสุนทรบุรี (อี้ กรรณสูตร) เจ้าเมืองสุพรรณบุรีขณะนั้น จึงได้พบองค์พระปรางค์ ปรากฏว่ามีจารึกลานทองบางส่วนถูกขโมยไปและได้คืนมาบ้าง นอกจากนี้ยังได้มีการถวาย ‘พระผงสุพรรณ’ รวมทั้งพระในกรุแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงแจกบางส่วนแก่ข้าราชบริพารผู้ติดตาม พระผงสุพรรณ จึงอยู่ในมือตระกูลราชการเก่าๆ ด้วยส่วนหนึ่ง
ตาม ‘จารึกลานทอง’ นั้น ได้กล่าวถึงตำนานการสร้าง “พระผงสุพรรณ” ความว่า ...
“ศุภมัสดุ ๑๒๖๕ สิทธิการิยะแสดงบาทไว้ให้รู้ว่า มีฤาษีพิลาลัยเป็นประธาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำเครื่องประดิษฐ์มีสุวรรณ เป็นต้น คือ พระบรมกษัตริย์ พระศรีธรรมาโศกราชเป็นผู้ศรัทธา ฤาษีทั้ง ๔ ตน จึงพร้อมใจกันนำเอาแร่ว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์กับแร่ต่างๆ ครั้นได้แล้ว พระฤาษีจึงอันเชิญเทพยดาเข้ามาช่วยกันทำพิธีเป็น พระพิมพ์สถานหนึ่งดำ สถานหนึ่งแดง ได้เอาว่านทำผงปั้นพิมพ์ด้วยลายมือ พระมหาเถรปิยทัสสะดิสศรีสาริบุตร คือ เป็นใหญ่ เป็นประธานในที่นั้น ได้อาแร่ต่างๆ ซัดยาสำเร็จแล้วให้นามว่า ‘แร่สังฆวานร’ ได้หล่อเป็นพิมพ์ต่างๆ มีอานุภาพต่างๆ กัน เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือน แล้วเอาไปประดิษฐานไว้ในสถูปใหญ่แห่งเมืองพันทูม ถ้าผู้ใดได้พบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดี พระเกสรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี ให้รีบเอาไปสักการบูชาเป็นของวิเศษนักแล ...”
ความหมายจาก ‘จารึกลานทอง’ ได้กล่าวถึงประเภทของพระผงสุพรรณไว้ 2 ชนิด อันได้แก่ พระเนื้อดิน ที่มีส่วนผสมจากว่านและเกสรต่างๆ โดยเป็นพระเนื้อดินเผาตามกรรมวิธีการสร้างพระพิมพ์สมัยโบราณ สีของพระผงสุพรรณจึงเป็น ‘สถานหนึ่งดำ สถานหนึ่งแดง’ และอีกชนิดหนึ่งคือ พระผงสุพรรณที่ทำจากแร่ธาตุโลหะซึ่งเรียกตามจารึกว่า แร่สังฆวานร ซึ่งหมายถึงพระผงสุพรรณเนื้อชินที่รู้จักกันในชื่อ ‘พระผงสุพรรณยอดโถ’ นั่นเอง
พระผงสุพรรณ ที่เป็นพระยอดนิยมจะเป็น ‘พระเนื้อดินเผา’ ซึ่งเป็นดินของ จ.สุพรรณบุรี ที่ค่อนข้างละเอียด แล้วนำมาผ่านการกรอง หมัก และนวดอย่างพิถีพิถัน ผสมกับว่านและเกสรดอกไม้มงคล โดยการนำหัวว่านมาคั้นเอาแต่น้ำมาผสม เรียกว่า ‘แก่ว่าน’ ดังนั้น เมื่อผ่านกรรมวิธีการเผา ผิวขององค์พระจึงไม่เป็นโพรงจากการย่อยสลายของเนื้อว่าน และเนื้อจะดูชุ่มฉ่ำไม่แข็งกระด้าง วงการพระเรียก ‘หนึกนุ่มซึ้งจัด’ อันเป็นลักษณะพิเศษที่ต่างจากเนื้อดินทั่วไป อีกทั้งกรรมวิธีการเผามีการควบคุมอุณหภูมิความร้อนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เนื้อขององค์พระมีสภาพแข็งแกร่งไม่เปราะหักง่ายเหมือนพระเนื้อดินเผาอื่นๆ แต่สีสันยังคงเป็นเช่นเดียวกัน คือ มีตั้งแต่สีแดง สีมอย สีน้ำเงินเข้ม สีเทา ไปจนถึงสีดำ
แต่ลักษณะการตัดขอบจะไม่มีรูปแบบที่แน่นอน บางองค์เป็นเหลี่ยมสี่ด้านบ้าง ห้าด้านบ้าง บางองค์ตัดปีกกว้าง บางองค์ตัดเฉพาะด้านซ้ายขวาและล่างแล้วปล่อยด้านบนไว้ ฯลฯ ลักษณะพิเศษอีกประการคือ ในขั้นตอนการสร้างจะใช้วิธีใส่เนื้อมวลสารลงในแม่พิมพ์แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดด้านหลังให้แน่น โดย พระมหาฤาษี มหาเถระปิยะทัสสี ศรีสารีบุตร ด้านหลังจึงปรากฏเป็น ‘รอยนิ้วมือ’ ของคนโบราณมีลักษณะใหญ่กว่าลายนิ้วมือคนปัจจุบัน และมีเส้นลายนิ้วมือเป็นแบบก้นหอย
พระผงสุพรรณ เป็นพระขนาดเล็ก มีความกว้างประมาณ 2.1 ซม. สูงประมาณ 3.2 ซม. พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานเขียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา พระกรทอดเรียว เน้นความละม้ายคล้ายคลึงมนุษย์ตามแบบศิลปะสกุลช่างอู่ทอง การจำแนกพิมพ์และการเรียกชื่อจึงเหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง คือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และ พิมพ์หน้าหนุ่ม
ซึ่งนอกเหนือจากเนื้อหามวลสารและความเก่าซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ ‘พระผงสุพรรณ’ โดยภาพรวมแล้ว การแยกเยอะพิมพ์ทรงยังมีเอกลักษณ์เฉพาะและจุดชี้ตำหนิต่างๆ เพื่อการพิจารณาแตกต่างกันไป นอกจากนี้ เนื่องจาก “พระผงสุพรรณ” เป็นพระที่บรรจุในกรุและผ่านกาลเวลายาวนาน จึงปรากฏ ‘คราบดินกรุ’ ติดอยู่ทั่วบริเวณองค์พระและตามซอกต่างๆ เรียกว่า “นวลดิน” โดยเฉพาะพระที่ไม่ได้ผ่านการใช้จะปรากฏชัดเจน คราบนวลดินนี้จะเกาะติดแน่นแทบกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับผิวขององค์พระ นับเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่งครับผม