นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางดำเนินงานด้านผู้สูงอายุว่า เรื่องผู้สูงอายุเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายกรุงเทพฯเพื่อทุกคน โดย กทม.มุ่งเน้นการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเข้าสู่ระบบรับเบี้ยผู้สูงอายุและสวัสดิการจากภาครัฐ จากการสำรวจล่าสุด กรุงเทพมหานครมีประชากร 5,588,222 คน(ไม่รวมประชากรแฝง) เป็นผู้สูงอายุถึง 1,140,509 คน ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่ากรุงเทพมหานครเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทั้งนี้จากการคาดการณ์ ยังมีผู้สูงอายุที่ตกสำรวจและยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการอีกมาก รวมถึงยังมีหลายคนที่กำลังเข้าสู่อายุ 60 ปี ซึ่งต้องได้รับเบี้ยผู้สูงอายุและสวัสดิการตามกฎหมายกำหนด กทม.จึงเน้นดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุไว้หลายมิติ เช่น การจัดหางานให้กับผู้สูงอายุที่ยังต้องการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าในตนเอง โดยการเป็นอาสาสมัครในชุมชน การดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน การถ่ายทอดประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของตนเองผ่านช่องทางต่างๆ การเป็นพี่เลี้ยงแก่คุณแม่มือใหม่ภายในชุมชนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึงการให้คำแนะนำเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว การดูแลผู้ป่วยติดเตียง และการเพาะพันธุ์กล้าไม้เพื่อสนับสนุนการปลูกต้นไม้ในเมือง โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพประมาณ 936,723 คน ได้รับเบี้ยยังชีพแล้วประมาณ 870,931 คน และมีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพเพิ่มอีกประมาณ 71,480 คน คาดว่าภายในปี 2566 จะนำจำนวนผู้สูงอายุดังกล่าวเข้าสู่ระบบสวัสดิการตามขั้นตอนได้แล้วเสร็จ
นายศานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.ยังมีแผนสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุให้มากขึ้น เช่น การให้ความรู้ในการเขียนโครงการเพื่อของบดำเนินกิจกรรมจากกองทุนสุขภาพกรุงเทพมหานคร การอำนวยความสะดวกเรื่องข้อมูลและเอกสารในการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ การสนับสนุนพื้นที่ในสวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ รวมถึงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเสริมทักษะความรู้แก่ผู้สูงอายุ เช่น การพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี สามารถเป็นคลังปัญญาแก่เยาวชนและคนในชุมชนได้
นายศานนท์ กล่าวว่า การสนับสนุนผู้สูงอายุเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาชุมชนเส้นเลือดฝอย เนื่องจากผู้สูงอายุมีประสบการณ์และความสามารถหลากหลาย กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนพื้นที่ให้เกิดชมรมและกิจกรรมต่างๆ สนับสนุนงานสร้างรายได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเอง สิ่งสำคัญคือ สร้างคุณค่าความภาคภูมิใจ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม อย่างไรก็ตาม กทม.กำลังรวบรวมเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เพื่อผลักดันกิจกรรมและโครงการใหม่ๆ ให้ผู้สูงอายุสามารถเป็นคลังปัญญาที่มีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป