อธิบดีกรมการจัดหางาน เตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อเพจปลอมแอบอ้างใช้ “LOGO กรมการจัดหางาน” รับสมัครงานผ่านสื่อโซเชียล เสี่ยงเสียทรัพย์ โดนรีดข้อมูลส่วนบุคคล

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมากรมการจัดหางานพบเพจปลอมที่มีการนำตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ กรมการจัดหางาน ไปใช้สร้างความน่าเชื่อถือประกาศรับสมัครงานจำนวนมากทางสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์, ยูทูป )  โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นงานอิสระ สามารถทำงานที่บ้านได้ และมีรายได้ดี รวมทั้งการประกาศรับสมัครคนไทยไปทำงานต่างประเทศโดยอ้างว่าจัดส่งผ่านกรมการจัดหางาน ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นความจริง หากหลงเชื่ออาจทำให้เสียทรัพย์ หรือโดนรีดข้อมูลส่วนบุคคลนำไปใช้ในทางมิชอบ เฉพาะปีงบประมาณ 2566 กรมการจัดหางานมีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้วถึง 84 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 264 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 18,585,242 บาท ทำให้กรมฯ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการหลอกลวงทางสื่อโซเชียลมีเดียยิ่งขึ้น โดยมีการตรวจสอบแล้วรวม 93 เรื่อง ส่วนใหญ่มาจากการหลงเชื่อสาย-นายหน้าจัดหางานเถื่อนที่อ้างว่าสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้ หรือถูกหลอกลวงไปทำงานโดยแอบอ้างโลโก้กรมการจัดหางาน จึงดำเนินคดีข้อหาโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 66 แห่งพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินคดีผู้แอบอ้างใช้โลโก้กรมการจัดหางานต่อไป

ทั้งนี้กรมการจัดหางานมีวิธีตอบโต้และเอาผิดกลุ่มมิจฉาชีพอย่างทันทีทันใด โดยดำเนินการ 3 ด้านคือ 1.ตรวจสอบ เฝ้าระวังและตอบโต้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่โพสต์ชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยด้วยวิธีผิดกฎหมาย โดยทันทีที่พบเห็น ชุดเฝ้าระวังจะนำข้อความแจ้งเตือนที่กรมการจัดหางานได้จัดทำขึ้น (แบนเนอร์โฆษณาสื่อออนไลน์) ไปโพสต์โต้ตอบใต้โพสต์ดังกล่าวทันที เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าโพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง 

2.ประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ Anti Fake News เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากความเข้าใจผิดและนำข่าวที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อ 

3.การดำเนินการของฝ่ายกฎหมาย ของกรมฯที่ส่งเรื่องดำเนินคดีไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จำนวน 8 คดี

สำหรับผู้ที่นำเข้าข้อมูลเท็จ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482 ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะอนุญาต และ ห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายราชการ ไม่ว่าจะเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆก็ตาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ทั้งนี้ หากพบเห็นประกาศเชิญชวนสมัครงานทางสื่อโซเชียล และไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้โพสต์ได้เช่น ไม่มีรูปภาพจริงเจ้าของโพสต์ มีการนำตราของหน่วยงานราชการมาใช้ประกอบในการโพสต์เชิญชวน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ ซึ่งหากเป็นตำแหน่งงานในต่างประเทศต้องโพสต์โดยบริษัทหางาน ซึ่งขออนุญาตโฆษณารับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจากกรมการจัดหางานแล้วเท่านั้น บุคคลธรรมดาไม่สามารถกระทำการได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการผ่านเว็บไชต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th หรือทาง Mobile Application "ไทยมีงานทำ" หรือติดตามข่าวสารของกรมการจัดหางานได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดdoe.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน