นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง หลังราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีก 1 ครั้ง และอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% ได้นานกว่าคาด

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น และรอจับตา รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่อาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีไม่มากนักในสัปดาห์นี้ แต่ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) โดยตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด อาจกดดันให้ภาคการผลิตยังคงหดตัวอยู่ ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือนเมษายน ที่อาจลดลงสู่ระดับ 49 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ทั้งนี้ แม้ภาวะเงินเฟ้อสูงอาจกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้คนในสหรัฐฯ แต่โดยรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบริการจะยังคงได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 51.5 จุด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต รวมถึงรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

▪ ฝั่งยุโรป – ความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารยุโรปที่คลี่คลายลง อาจหนุนให้บรรดานักลงทุนสถาบันมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีมากขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนเมษายน อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 15.1 จุด (ดัชนีสูงกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ) ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของเยอรมนีในเดือนเมษายนเช่นกัน ส่วนในภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซน ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซน รวมถึงอังกฤษยังมีแนวโน้มที่ดี โดยดัชนี PMI รวมของภาคการผลิตและภาคการบริการ (Composite PMI) เดือนเมษายน อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 54 จุด สำหรับยูโรโซน และอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.6 จุด สำหรับอังกฤษ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ โดย แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหาร จะชะลอตัวลงต่อเนื่องแตะระดับ 5.7% (ยูโรโซน) และ 6.0% (อังกฤษ) แต่ระดับดังกล่าวก็ยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารอังกฤษ (BOE) เป็นอย่างมาก ทำให้เราคงมองว่า ทั้ง ECB และ BOE ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ต่ออีกราว 1-2 ครั้งในปีนี้

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวกว่า +3.8%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ หนุนโดยการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในฝั่งการบริโภค หรือ ภาคการบริการหลังการเปิดประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนมีนาคม ตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวกว่า +7.0%y/y ขณะที่ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะขยายตัวเพียง +4.0%y/y สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเหมือนดัชนี PMI ภาคการบริการ ส่วนยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) อาจโตราว +5.7%y/y (นับจากตั้งแต่ต้นปี) ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวในภาคการบริการ หลังญี่ปุ่นได้เปิดประเทศมาสักระยะแล้ว โดยภาพดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนเมษายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.5 จุด ส่วนในภาคการผลิตอุตสาหกรรมก็อาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตามภาพเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีนที่ยังคงสดใส แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งตลาดคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 49.9 จุด ได้ ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาใกล้ชิด คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม โดยเรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core CPI) ยังทรงตัวในระดับสูงราว 3.5% หรือปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในปีนี้ (เราคาดว่า BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +10bps ในการประชุมเดือนกันยายน)


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติกว่า 300 ล้านดอลลาร์ และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ส่วน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ อาจเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้นได้ หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก จนทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้แถว 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ในเชิงเทคนิคัล ต้องจับตาว่า เงินบาทจะสามารถทรงตัวเหนือระดับเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะถ้าเงินบาททรงตัวเหนือเส้นค่าเฉลี่ยได้ ก็จะชี้ว่าเงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงต่อได้บ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจเคลื่อนไหว sideways และขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน แต่เงินดอลลาร์ก็อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการจะออกมาดีกว่าคาด หรือ ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความผิดหวังรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.90-34.60 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.45 บาท/ดอลลาร์