วันที่ 14 เม.ย.66 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษา เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 3 : ข้อมูลใหม่แลนด์สไลด์ ? กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 400 เขตเลือกตั้งและผลการประมาณการจำนวน 100 ที่นั่ง ผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศ ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวนตัวอย่างในการศึกษาเพื่อประมาณการรวมทั้งสิ้น 6,073 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 13 เม.ย.66
ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ตั้งใจจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ หรือประมาณการได้ว่าจะมีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ประมาณ 32,600,194 คน หรือ กว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 38.6 ไม่ไปหรือประมาณ 20 ล้านคนที่จะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้
ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาประมาณการจำนวน 500 ที่นั่ง และค่าร้อยละของจำนวนที่นั่งผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. แต่ละพรรคการเมืองจำนวนต่ำสุด ถึง สูงสุด ของแต่ละพรรคการเมือง จำแนกทั้ง ส.ส.เขตเลือกตั้งและ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ดังนี้ พรรคเพื่อไทย จะได้ผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 133 ที่นั่งหรือร้อยละ 33.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้ง 400 ที่นั่ง และคาดว่าจะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 27 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น พรรคเพื่อไทยจะได้ 160 ที่นั่ง โดยมีค่าต่ำสุดที่ 135 ที่นั่งและค่าสูงสุดอยู่ที่ 185 ที่นั่ง เป็นของพรรคเพื่อไทยในการศึกษาครั้งนี้
ในขณะที่ พรรคการเมืองที่จะได้จำนวนผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. อันดับที่สอง ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย จะได้ผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 101 ที่นั่งหรือร้อยละ 25.3 ของ ส.ส.เขตเลือกตั้งทั้งหมด 400 ที่นั่ง และคาดว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย จำนวน 20 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น พรรคภูมิใจไทยจะได้ 121 ที่นั่ง โดยมีค่าต่ำสุดที่ 96 ที่นั่งและค่าสูงสุดอยู่ที่ 146 ที่นั่งเป็นของพรรคภูมิใจไทยในการศึกษาครั้งนี้
พรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. อันดับที่สาม ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ จะได้ ผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 53 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.3 ของ ส.ส.เขตเลือกตั้งทั้งหมด 400 ที่นั่งและคาดว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 11 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น พรรคพลังประชารัฐจะได้ 64 ที่นั่ง โดยมีค่าต่ำสุดที่ 39 ที่นั่งและค่าสูงสุดที่ 89 ที่นั่ง เป็นของพรรคพลังประชารัฐในการศึกษาครั้งนี้
อันดับที่สี่ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 44 ที่นั่ง และคาดว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 8 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น พรรคประชาธิปัตย์จะได้ 52 ที่นั่ง โดยมีค่าต่ำสุดที่ 27 ที่นั่งและค่าสูงสุดที่ 77 ที่นั่ง อันดับที่ห้า ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.เขต 35 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 8 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ 43 ที่นั่ง โดยมีค่าต่ำสุดที่ 18 ที่นั่งและค่าสูงสุดที่ 68 ที่นั่ง
ที่น่าพิจารณาคือ พรรคก้าวไกล ได้จำนวน ส.ส.เขตเลือกตั้ง เป็นอันดับที่หก คือได้ 10 ที่นั่ง แต่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้อันดับสามคือ ได้ 12 ที่นั่ง รวมแล้ว พรรคก้าวไกลจะได้ 22 ที่นั่ง โดยจะได้จำนวนที่นั่งสูงสุดที่ 47 ที่นั่ง ในขณะที่ พรรคอื่น ๆ จะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งจำนวน 24 ที่นั่งและ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 14 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น พรรคอื่น ๆ จะได้รวม 38 ที่นั่ง โดยมีค่าต่ำสุดที่ 13 ที่นั่งและค่าสูงสุดอยู่ที่ 63 ที่นั่ง
รายงานของ ซูเปอร์โพล ระบุว่า ข้อมูลใหม่ในผลการศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า แลนด์สไลด์ไม่มีอยู่จริง กับพรรคการเมืองใด ๆ ในภาพรวมทั้งประเทศ แต่อาจจะเกิดได้เป็นรายพื้นที่บางแห่ง เช่น ภาคใต้ที่ยังคงพบว่า พรรคประชาธิปัตย์มีร่องรอยของแลนด์สไลด์ที่อาจจะได้ยกจังหวัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในฝั่งอ่าวไทย ในขณะที่ พรรคภูมิใจไทย จะกระจายแทรกอยู่ในภาคต่าง ๆ ในลักษณะที่เกือบแลนด์สไลด์ แต่พรรคเพื่อไทยจะมีภาพค่อนข้างชัดเจนในแลนด์สไลด์ในภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือแต่จะมีพรรคภูมิใจไทยได้ในอีสานตอนล่าง โดยมี พรรคพลังประชารัฐเด่นในโคราชและอีสานล่างเช่นกัน เช่น ปราจีนบุรี สระแก้ว เป็นต้น ส่วนภาคเหนือ ยังคงชัดเจนในพรรคเพื่อไทย แต่ภาคกลางจะเป็นลักษณะผสมผสานกันของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ ผลโพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 4 จำแนกรายภาคจะนำเสนอในวันอาทิตย์ที่ 16 เม.ย.นี้