หมายเหตุ ; “เสรี สุวรรณภานนท์” สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrath Online เมื่อวันที่ 8 เมษายา 2566 ได้แสดงทัศนะถึงการต่อสู้ทางการเมือง ในสนามเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม ทิศทางจะเป็นอย่างไร การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆมีใครได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร
นอกจากนี้บางพรรคการเมือง ประกาศเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ในรัฐสภา โดยไม่พึ่งเสียงส.ว.จะเป็นไปได้หรือไม่ และประเด็นร้อนๆ ที่ว่าด้วยการกลับมาของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กับจุดเปลี่ยนการเมืองเมืองไทย หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นอย่างไร
-หลังจากที่มีการเปิดตัวผู้สมัครส.ส.ทั้งสองระบบ ไปเรียบร้อยแล้ว คิดว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ
การหาเสียงแต่ละพรรคการเมือง คงจะต้องเสนอจุดอ่อนจุดแข็งกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น จุดแข็งตัวของตัวเองก็พยายามเสนอออกมา จุดอ่อนของคนอื่นก็พยายามจะพูดออกมา เพราะฉะนั้นการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองหรือของแต่ละผู้สมัครจะต้องเสนอแนวทางที่จะให้ประชาชนพอใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาของแต่ละพรรคการเมืองที่ลดแลกแจกสะบัดตอนนี้ ทำได้หรือไม่ได้ ยังไม่รู้ แต่แจกกันมากมายก่ายกองก่อน
ก็อยู่ที่ประชาชนจะพอใจในข้อเสนอหรือนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอหรือไม่ แต่ข้อสำคัญการเลือกตั้ง จะดูแค่นโยบายอย่างเดียวไม่พอ เพราะในการเมืองไทยมันมีเงื่อนไข มันมีแนวทาง วิธีการในหลายๆรูปแบบ ที่จะได้คะแนน ตั้งแต่ในเรื่องของหัวคะแนน ในเรื่องของการที่สร้างคุณงามความดีในแต่ละพื้นที่ ที่ตัวเองมีภูมิลำเนาอยู่ หรือในเขตเลือกตั้งของตัวเอง ก็จะเป็นผู้นำในทางสังคมในแต่ละพื้นที่ ที่เรียกว่าพวกบ้านใหญ่ บ้านใหญ่แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ก็จะถูกสร้างขึ้นมา ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งด้วยซ้ำไป
เรียกได้ว่ามีอิทธิพลทางความคิด มีอิทธิพลทางสังคม มีอิทธิพลในเรื่องความเป็นอยู่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาแล้วก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนลงคะแนนให้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ประชาชนเองได้รับผลดี ผลตอบแทนจากบรรดานักการเมืองเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ก็จะเป็นส่วนที่จะทำให้คนที่ลงคะแนนเลือกตั้งได้คะแนน แต่เลือกตั้งในระดับเขตก็จะมีในระดับพรรคการเมือง จะเป็นส.ส.ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอเข้ามา ก็จะขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคขึ้นอยู่กับผู้นำในแต่ละพรรคที่เสนอตัวออกมา ก็จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อ มีความศรัทธา ในคนเหล่านี้ก็จะเป็นคะแนนของพรรคการมืองไป
แต่ความยุ่งยากของการเลือกตั้งก็อยู่ที่ตัวเลข ที่แต่ละพรรคการเมืองได้เบอร์ไป พรรคก็ได้เบอร์หนึ่ง ส่วนส.ส.เขตก็ได้อีกเบอร์หนึ่ง ไม่สามารถจะจับทางได้เลยว่า ส.ส.เขตที่ไปหาคะแนนให้แต่ละพื้นที่แล้ว จะหาคะแนนเสียงให้กับพรรคด้วย จึงเป็นความยุ่งยาก เรื่องเหล่านี้ผมเสนอไปตั้งในสภาฯแล้วว่าในการจะกำหนดเลขที่จะลงคะแนนของพรรคการเมือง กับส.สเขตควรจะเบอร์เดียวกัน
แต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องของนักการเมือง ที่กลัวกันเองว่าเกิดความเสียเปรียบ จึงออกมาในลักษณะกระจัดกระจายแบบนี้ โทษใครไม่ได้เลย เพราะนักการเมืองคิดกันเอง ผมเคยพยายามนำเสนอว่าเลขเดียวมันได้ประโยชน์ แต่พรรคการเมือง แต่ก็ไม่เห็นด้วย จึงอยู่ในสภาพที่สับสนอลหม่านพอสมควรในเรื่องตัวเลข แต่ตัวเลขก็จะทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนกัน เลขจำง่าย จำยาก เลขตัวเดียว เลขหลายตัว แต่สังเกตได้อย่างพรรคใหญ่ๆตอนนี้ ได้เลขสองตัวหมด เลขจำยาก มีบางพรรคที่ได้เลขเบิ้ลก็อาจจะได้ประโยชน์ขึ้นมาเหมือนกัน
-เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าพรรคใหญ่มีจุดที่เสียเปรียบ กว่าบางพรรคที่ได้เลขที่จำได้ง่ายกว่า
ก็มีส่วน ซึ่งก็จะต้องเป็นเทคนิคของแต่ละพรรคการเมืองที่จะต้องสร้างอะไรขึ้นมาให้คนจำเลขของพรรคตัวเองได้ง่ายขึ้น ก็ไปหาวิธีกันเองว่าแต่ละพรรคจะพยายามให้ประชาชนจำเลขของพรรคแต่ละพรรคได้อย่างไร ก็คงมีผลพอสมควรทีเดียวในเรื่องตัวเลข นอกจากนี้ยังมีเรื่องของนโยบายว่าแต่ละพรรคจะนำเสนอนโยบายอะไรที่โดนใจ ต้องทำอย่างไร ที่เสนอแล้วให้ประชาชนเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองนั้นๆจะทำจริง ทำแล้วได้ประโยชน์กับประชาชน อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือก
และที่สำคัญก็คือตัวบุคคล ก็มีส่วนสำคัญ หากเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองนานๆก็จะมีโอกาสที่คนรู้จักนาน แต่นักการเมืองหน้าใหม่ก็จะลำบากกว่า ที่จะให้คนลงคะแนนให้
- มีพรรคการเมืองที่บอกว่าถ้าได้เสียงจำนวนมาก 300 เสียง ขึ้นไป จะไม่พึ่งส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่อยู่ในสภาสูงด้วย มองว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าให้จำนวนสมาชิกรัฐสภา คือส.ส.กับส.ว.ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป แต่ถ้าคิดว่า300 เสียงบวก ก็ต้องถามว่าบวกจากใคร ต้องคิดเหมือนกัน ถ้าบวกจากส.ส.เองจะได้จริงไหม แต่ถ้าบวกจากส.ว. 76 เสียง แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่า 76 เสียงของส.ว. เขาจะลงคะแนนให้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าได้ 300 บวก ผมมองว่ามันยังไม่แน่นอน
ถ้าจะเอาให้แน่นอนจริง ต้องได้ส.ส. 376 เสียงขึ้นไป อย่างนี้จึงจะมีความแน่นอนในการตั้งรัฐบาล ถ้าส.ส.เองสามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองได้ 376 เสียงขึ้นไปก็ไม่ต้องไปพึ่งเสียงส.ว.เลย แต่ถ้าหาก 300 เสียงได้ของส.ส. แต่ก็ยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของรัฐสภา แล้วหวังว่าจะไปรอบวกจากเสียงส.ว. จุดนี้ก็ต้องมีประเด็นสำคัญ ที่จะทำให้ส.ว.สามารถตัดสินใจลงคะแนนให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต
-แล้วถ้าส.ว.จะไปเลือกอีกฝั่งที่ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากแบบนี้ได้หรือไม่
คือหลักมันอยู่ที่การรวบรวมเสียง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันเป็นไปได้ทั้งหมดในการเมืองไทย เป็นช่วงเวลาปกติ แต่ในช่วง 5 ปีที่มีส.ว.นั้นมันไม่ปกติตรงที่การที่แต่ละคนในรัฐสภา สมาชิกแต่ละคนจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี มีเสียงส.ว. 250 เป็นตัวตั้ง ที่บอกว่าจะไม่เอาส.ว.มารวมด้วย มันจะยาก เพราะนั่นหมายความว่าในจำนวนส.ส.500 คน อย่างน้อยต้องได้ส.ส. 250 คนก่อน แต่ถึงอย่างนั้น มีส.ส. 250 คน ก็ยังตั้งนายกฯไม่ได้ ก็ต้องบวกของส.ส.อีก ถ้าไม่พึ่งสว. ให้ถึง 376 เสียง แต่ถ้าพูดกันตรงๆต้องบอกว่า ไม่ง่ายเลย ที่พรรคใดจะได้ 376 เสียง
- ฉะนั้นมองโอกาสที่จะเกิดการรวบรวมเสียงที่เรียกว่างูเห่าก็เกิดขึ้น รวมทั้งการพลิกขั้ว เปลี่ยนขั้วใหม่ รวมถึงเรื่อง ดีลลับก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้หมด
มีโอกาสทั้งนั้น ถ้าหากบ้านเมืองเราเล่นการเมืองแบบยังมีผลประโยชน์กันแบบนี้เล่นการเมืองแบบเอาเป็นเอาตายกัน เล่นการเมืองแพ้แล้วไม่ยอมแพ้ มันก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แล้วก็จะวุ่นวายเหมือนเก่า เพราะเวลาแพ้แล้ว ก็จะไม่ยอมแพ้ ไปเรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อต้าน สนับสนุน ดังนั้นถ้าแพ้แล้วไม่ยอมแพ้มันก็จะขัดแย้งกันอยู่แบบนี้
- เสียงส.ว.มีโอกาสที่จะเทไปที่ขั้วใดขั้วหนึ่งหรือไม่
ต้องดู ว่า ประการที่ 1 คนที่ พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเข้ามา พรรคการเมืองนั้นได้คะแนนสนับสนุนสามารถจัดตั้งรัฐบาลอย่างน้อย 2 พรรคได้หรือไม่ ประการที่ 2 แคนดิเดตนายกฯจากพรรคการเมืองเหล่านั้น ได้คะแนนจากประชาชน มีนโยบาย มีคุณสมบัติที่ได้รับการเสนอชื่ออย่างไร ดังนั้นผมเชื่อว่าส.ว.เองก็คงต้องมีเกณฑ์ในการตัดสินใจ เปรียบเทียบความรู้ความสามารถ ดูจากประสบการณ์ ประวัติ ชื่อเสียง พฤติกรรม จริยธรรมต่างๆ
สิ่งต่างๆเหล่านี้ ต้องเอามาผสมผสานกัน แล้วไปตัดสินกันในช่วงที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งจากประชาชนมาแล้ว ก็จะอยู่ในเกณฑ์นี้ ถ้าเราไปพูดนอกเกณฑ์ เราก็จะถูกมองว่า เราไปเข้าข้างฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ขึ้นมาอีก ก็กลายเป็นประเด็นได้เปรียบ เสีย เปรียบกันในทางการเมืองขึ้นมาอีก
-ประเด็นเรื่องคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บอกว่าจะกลับประเทศไทย ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มองเรื่องนี้อย่างไร
ปัญหา คือหนึ่งเข้ามาจริงหรือเปล่า สอง เข้ามาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นอันดับแรก คือมันมีคดีความที่เป็นชนักติดหลังอยู่ จะยอมรับสภาพในคดีที่เกิดไปแล้ว หรือคดีที่ยังไม่สิ้นสุด ในสภาพคดีที่เป็นอยู่ จะยอมรับสภาพหรือไม่ดังนั้นหากกลับมาแล้วก็จะต้องถูกควบคุมตัว แล้วถ้าเป็นเป็นคดีที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ ต้องต่อสู้กันในกระบวนการ ก็ประกันตัวออกมาได้
แต่ถ้าคดีไหนเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว มีการตัดสินให้มีโทษจำคุก ก็ต้องติดคุก นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น และจะสามารถตั้งรับตรงนี้ได้หรือไม่ สมมติว่ารับได้จริง เห็นพูดมาหลายครั้งแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีอิมแพคอะไรกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งผมก็เชื่อว่ามีเพราะว่าประชาชนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่น้อยก็ยังสนับสนุน ยังรักอดีตนายกฯทักษิณอยู่ ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกกลุ่มที่เขาไม่ยอมรับคุณทักษิณ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือการเผชิญหน้ากัน ระหว่างคนสองกลุ่มฝ่ายที่สนับสนุน กับฝ่ายที่ไม่สนับสนุน
เมื่อเกิดความขัดแย้งก็ไม่เป็นผลดีกับสถานการณ์บ้านเมือง แต่ถ้าผลในทางการเมืองก็อาจจะมีผลทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิม เกิดการรวมตัวสนับสนุน ก็เป็นไปได้ สำหรับฝ่ายที่ตั้งใจหรือคาดหวังไว้จะให้มันเกิดแบบนั้น แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าวุ่นวายแน่นอน ถ้ายอมรับในผลคดีก็กลับมา เป็นสิทธิอยู่แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายอยู่แล้ว ที่สามารถจะเข้าประเทศไทยได้แต่ก็ต้องปฏิบัติตัว ถูกบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทุกๆคนด้วยเช่นกัน