บทความพิเศษ/ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

พรรคการเมืองคือจุดเชื่อมของสัญญาประชาคม

ระบบพรรคการเมืองไทยยังไม่เป็นอุดมคติอาจมีผู้แย้งว่า ผู้พูดมีอคติ เพราะพรรคการเมืองไทยมีกฎหมายพรรคการเมืองรับรองมาแต่ปี 2498 สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับแรกคือกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไปหรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปสามารถจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ยังไม่เป็นนิติบุคคล โดยต้องยื่นเรื่องกับ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายทะเบียนพรรคการเมืองศาลมีอำนาจยุบพรรคการเมืองได้ และกฎหมายพรรคการเมืองฉบับต่อๆ มาได้แก่ ฉบับปี 2511, 2517, 2541, 2550 และ 2560 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ในสังคมประชาธิปไตยนั้น นโยบายพรรคหรือสัญญาประชาคม (Social Contract) สำคัญมากตามเจตจำนง (Will) ของประชาชนที่จะกำหนดทิศทางของสังคม เป็นความเชื่อมต่อระหว่างพรรคการเมืองกับ ประชาชนเข้าด้วยกัน ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์หรือเผด็จการ ที่มีพรรคเดียว ไม่มีตรงนี้ ในแนวคิดประชาสังคม (Civil Society) เพื่อสังคมและชุมชนที่เข้มแข็งนั้น การเมืองภาคตัวแทน (Representatives) กับ การเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมือง (Civic political culture) ที่ไม่ผ่านทางตัวแทนของพรรคการเมือง หรือหน่วยงานราชการ ซึ่งมีความสำคัญพอๆ กัน ควรไปด้วยกัน ในในทางปฏิบัติความเข้มแข็งของการเมืองทั้งสองภาคล้วนอยู่ที่ระบบ และสำนึกรับผิดชอบของประชาชนท้องถิ่น ที่สังคมไทยต้องแสวงหาควานหา

หลากหลายชูนโยบายหาเสียงและการดีเบตเรื่องเดียวกันแต่อาจต่างแนวทาง เช่น การจ่ายเงินคนจน นโยบายรายได้ พลังงาน การเกณฑ์ทหาร มาตรา 112 รวมทั้งนโยบาย เรียนฟรี รถไฟฟรี รักษาฟรี ไฟฟรี น้ำฟรี รถเมล์ฟรี จำนำ /ประกัน ราคาข้าว เบี้ยยังชีพ ปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ ฐานเงินเดือน 25,000 บาท

ปัญหาทุนและสำนึกรับผิดชอบของพรรคการเมือง

สิ่งที่ฝ่ายรัฐเกรงกลัวมานานแล้วคือ ทุนหนุนของพรรคการเมืองที่เป็นทุนมหาศาลข้ามชาติจากต่างชาติ มีอิทธิพลมากสามารถล้มระบบ องค์กร สถาบันสำคัญได้ เพราะเงินทำได้ทุกอย่างทั้งการซื้อเสียง ซื้อตัว สินบน เงินรางวัล ใต้โต๊ะ ค่าจ้าง ฯลฯ ที่เห็นๆ และโจษขานกันคือ ทุนต่างชาติที่ซื้อความสะดวกต่างๆ จากราชการได้อย่างง่าย หากเป็นธุรกิจสีเทา สีดำ ย่อมหมายความว่าสังคมเต็มไปด้วยอบายมุข และสิ่งผิดกฎหมาย สังคมคงไม่น่าอยู่ รังแต่จะเสื่อมถอย เพราะเงินทุนที่สกปรก ในสังคมประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมา (CLM) ทุนการเมืองถือว่ามีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองมาก ทำให้พรรคการเมืองมีอิทธิพลต่อรัฐบาล และต่อการตัดสินใจในเรื่องกิจการสาธารณะของประเทศ ในการตัดสินใจ การออกกฎ มติ ที่สามารถถูกโน้มน้าวชี้นำโดยระบบทุนได้

จุดทุนที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นระบบระบอบใดก็ตามคือ เงินทุนนั้นต้องทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ ในกิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการ เช่น การคมนาคมขนส่ง ถนน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ การรักษาพยาบาล การศึกษา ธนาคาร ตลาด แหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ฯลฯ เมื่อองคาพยพเหล่านี้เข้มแข็งประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ การพัฒนาดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนกับชาติที่เจริญแล้ว หรือได้รับการอนุเคราะห์ช่วยเหลือ (Grant & Donation) การระดมทุน (Crowd funding) จากต่างชาติ องค์กร NGO เศรษฐีนายทุน เช่น เงินช่วยเหลือกิจการ สถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ แค่นี้สังคมก็เป็นสุขได้ เพราะมีการเฉลี่ยทุนที่มีมากมายจากต่างชาติ หรือจากบุคคลองค์กรผู้ใจบุญ (Charity) แต่การบริจาคหรือการให้เงินแบบให้เปล่าโดยปราศจากหัวใจแห่งการให้เพื่อการสงเคราะห์อนุเคราะห์ช่วยเหลือมีแอบแฝง คือตัวปัญหาทำให้สังคมของชาตินั้นๆ ย่ำแย่ซ้ำหนัก

สมัยก่อนมีข่าวโกงการเลือกตั้งที่อุกอาจ อิทธิพลเปิดหีบยัดบัตรปลอม เช่น การเลือกตั้งเทศบาลนครสมุทรปราการปี 2542 ศาลพิพากษาให้ติดคุกจริง 1 ปี 6 เดือน หากพิจารณาถึงสำนึกรับผิดชอบแล้ว ไม่สามารถหาเหตุผลใดมาอธิบายหักล้างได้เลย เพราะถึงขนาดเปลี่ยนหีบ ปลอมบัตร เปลี่ยนถุงบัตรได้ คงมิใช่เรื่องปกติธรรมดา นอกเสียจากคำว่า “อิทธิพล(เถื่อน)นอกกฎหมายและอำเภอใจ” แม้ว่าคนอยู่วงการเมืองล้วนมือเปื้อนทั้งสิ้น แต่หลายสิ่งอยู่ที่กฎหมาย และบางสิ่งอยู่ที่สำนึกรับผิดชอบ อยู่ที่มีพยานหลักฐานมาเล่นงานกล่าวโทษอีกฝ่ายได้หรือไม่ อย่างไร แต่ประชาชนคนสามัญชนต้องยืนว่า ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นพื้นฐานการรับรองสิทธิประชาชน “ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ชั่วน้อยที่สุดในโลก มิได้หมายถึง ดีที่สุดในโลก” เพราะแต่ละสังคม เลือกใช้เลือกปฏิบัติอย่างไรต่างกันไปตามบริบทแต่ละท้องที่

ว่ากันว่า สมัยก่อนมีการปลอมบัตรเลือกตั้งกัน งวดนี้ควรให้ปลอมยากขึ้น ต้องเอาโลโก้พรรคมาลงในบัตรเลือกตั้ง ป้องกันความสับสนด้วย เพราะแต่ละเขตเบอร์ แต่ละเขต แต่ละพรรคไม่เหมือนกันเลย หากอิทธิพลเสียอย่าง ระหว่างกระสุน กับการเปลี่ยนถุงบัตร ค่าใช้จ่ายซื้อเสียง เปลี่ยนถุงบัตรจะถูกกว่า แค่ซื้อตัวกรรมการ

แต่การนับคะแนนที่หน่วยเปลี่ยนบัตรทำได้ยาก ต้องเปลี่ยนบัตร เปลี่ยนถุง ก่อนการนับคะแนน การนับที่ศูนย์ทำได้ง่ายก็จริง ในระหว่างทางหากมีการเปลี่ยนถุง บัตรอาจทำได้ เพราะ เปลี่ยนบัตรก่อนนับ ยังไม่ได้นับคะแนน แต่ในการนับที่หน่วย ยังไงก็มีคนมาจดคะแนน มาดูมาสังเกตการนับคะแนน ซึ่งคะแนนตามที่นับ ตามที่อ่าน(ขาน) ตามที่ประกาศของกรรมการประจำหน่วย ต้องถูกต้องตรงกัน คะแนนจะผิดพลาด บัตรจะเขย่งไม่เท่ายอดรวมไม่ได้ เมื่อนับคะแนนที่หน่วยคะแนนจะส่งไปที่อนุ กกต.เขตแต่ละอำเภอ รวมยอดคะแนนแต่ละอำเภอ ส่งมาเขตเลือกตั้ง และรวมคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้ ห้ามรายงานคะแนนไม่เป็นทางการ พรรคต้องส่งคนไปติดตามดูเอง ดังนั้นคะแนน จะรอประกาศโดย กกต. ซึ่ง กกต.เขตไม่ต้องประกาศผล แต่ให้ส่งผลให้ กกต. ฉะนั้น การแก้ไขคะแนน กกต.เขต จะแก้คะแนนไม่ได้ แม้แต่บัตรเขย่ง เพียง 1-2 คะแนนก็ตาม เพราะฝ่ายจับผิดเขาเก็บภาพ เก็บข้อมูลมาจากหน่วยแล้ว นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครเฝ้าสังเกตการณ์อีกเป็นแสนคน เนื่องจาก กกต.ไม่รายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ การรายงานคะแนนโดยอาสาสมัครอาจเป็นช่องทางหนึ่งในการรับทราบข่าวสาร และป้องกันการตุกติกทุจริต กระทำไม่ชอบด้วยประการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นกลาง ไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้ มีข้อสังเกตว่า การแก้ไขคะแนนไม่อาจกระทำได้ ยกเว้นเปลี่ยนถุงบัตรก่อนการนับ หรือ มีการเวียนเทียนบัตรเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายที่เวียนเทียนบัตรได้มีคะแนนสูงกว่ารายอื่น ผู้สมัครและพรรคการเมืองคงต้องช่วยเหลือตนเอง

พรรคการเมืองกับกลุ่มมวลชนจิตอาสาและคนรุ่นใหม่

สังคมปัจจุบันคนเลวมักคิดว่าตนเองเป็นคนดี ในมุมมองคนท้องถิ่นไทยต้องอยู่ตรงกลาง ท่ามกลางสายการเมือง สายตาส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และประชาชน ปัจจุบันคนท้องถิ่นต้องไม่มองที่มุมมองของประชาชนแล้ว เพราะว่าประชาชนเขาได้ประโยชน์อะไร เขาก็จะเลือกจากตรงนั้น ซึ่งมีโอกาสที่ไม่ถูกต้องสูงมาก การมองของคนท้องถิ่นต้องมองที่ประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์โดยรวม (Public Interest) เท่านั้น แต่ถ้ามองลึกลงไปอีก จะเห็นว่า โครงสร้างไทยเป็น “รัฐราชการ” ที่ต้องเหนียวแน่นกับสถาบันหลัก ที่เป็นศูนย์กลาง ความมั่นคงของประเทศ ที่ต่อสู้กับภัยคุกคามจากต่างประเทศ นักล่าอาณานิคม และลัทธิคอมมิวนิสต์มาตลอด ไทยจึงมีพัฒนาการของกลุ่มมวลชนอาสาต่างๆ มาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กลุ่มสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน (ลส.ชบ.) กลุ่มอาสาสมัครหมู่บ้าน อปพร. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) กลุ่มสารพัดอาสา กู้ภัย กู้ชีพ กลุ่มอาสาปศุสัตว์ เป็นต้น ที่มีมากมายหลายหลุ่ม ทั้งเป็นกลุ่มเฉพาะทาง และเป็นกลุ่มทางการเมือง ในภาพรวมถือว่าเป็นสิ่งดีที่สามารถระดมราษฎรให้มาอยู่ในวงจรของจิตอาสาได้มาก

รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นฐานกำลังค้ำจุนราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งไม่ได้หมายความแต่จังหวัด อำเภอ แต่ยังหมายรวมถึงราชการส่วนกลางที่มีหน่วยงานออกมาตามจังหวัด อำเภออีกด้วย การช่วงชิงมวลชน สร้างฐาน สร้างความชอบธรรมค้ำจุนหน่วยงานราชการของตนเองให้คงอยู่ถาวรแล้ว ยังเป็นกลุ่มหัวคะแนนให้แก่พรรคการเมืองได้ด้วย เช่น กลุ่ม อสม. กลุ่ม กำนันผู้ใหญ่บ้าน หากนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใดสามารถเข้าถึงและผูกใจบุคคลเหล่านี้ได้ ย่อมได้เปรียบทางการเมืองในการหาเสียง หาคะแนนได้ไม่ยาก

ย้อนมองลงไปอีกว่า กลุ่มมวลเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี คือกลุ่มจัดตั้งทั้งหลายนั้น แน่นอนว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์อื่น ใช้เงินโดยตรงจากเจ้าของพรรค เจ้าของกลุ่มผลประโยชน์นั้นๆ แต่ ณ ช่วงเวลานี้มวลชนอาจเกิดระส่ำระสาย เพราะขาดเงินทุนจากผู้สนับสนุน เช่น พรรคเคยเป็นทุนให้ เลิกส่งเงินทุนสนับสนุน หรือเปลี่ยนขั้ว หรือเพราะผู้สนับสนุนเปลี่ยนใจ รอดูท่าที เพราะทุกวันนี้ ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งพรรคการเมือง ล้วนต่างเสาะแสวงหาเงินทุนเข้าพรรค เข้ากลุ่มให้ได้มากที่สุด จนปล่อยทิ้ง กลุ่มเสื้อสีออกไป เอาใจนายทุนมาแทนคนรากหญ้า ปรากฏการณ์ตกปลาในบ่อเพื่อน งูเห่า นกแล จึงเกิดขึ้นมากมาย สังเกตว่าคนที่ย้ายพรรค เขามีดีที่ฐานเสียง และทุนส่วนตัวอยู่ด้วย ทั้งสองอย่าง (เสียงดี กระสุนดี) พรรคต่างๆ จึงขยันดูดกันเข้าพรรค (พลังดูด) ปรากฏการณ์นี้มักมีมาในช่วงการเลือกตั้ง เป็นเช่นนี้มาหลายครั้งหลายรอบแล้ว ตอนนี้ พรรครอพึ่งเสียง พึ่งสีเสื้อ ไม่ทันการแล้ว กลุ่มอาสาจัดตั้งโดยหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีค่าตอบแทน หรือมีสิทธิพิเศษ จึงเป็นเป้าหมายการสร้างฐานคะแนนเสียง ได้อีกทางเลือกหนึ่ง รวมถึงฐานเสียงจากศาสนา วัดดังๆ ที่มีผู้นิยมศรัทธา เจ้าอาวาส หรือพระผู้นำ ก็เป็นแหล่งสร้างคะแนนได้เช่นกัน ทั้งนี้ รวมทั้งศาสนาอิสลาม คริสต์ และอื่นๆ ด้วย

เงินทุนที่พรรคการเมืองใช้ จึงมาจากธุรกิจลงทุนในไทย เช่น งานสัมปทาน ทุนผูกขาด กึ่งผูกขาด หรือทุนแข่งขัน ทั้งนี้รวมเงินที่ไหลเข้ามาจากต่างชาติมาลงทุนด้วย เพราะต้องพึ่งอำนาจรัฐ ในการออกกฎหมาย ระเบียบ นโยบาย เป้าหมาย โครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนด้วย บรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ล้วนมีเป้าหมายไปสู่จุดสูงสุด ในการบริหารประเทศ เพื่อต้องการการยอมรับ หรือเสนอข้อต่อรองกับกลุ่มทุนเหล่านี้ เพื่อให้ได้ทุนมาในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนอย่างต่อเนื่องต่อไป จึงชี้ว่า ใครจะชี้นำใคร ระหว่างพรรคการเมือง กับ กลุ่มทุนนั้น คงอยู่ที่บรรยากาศการเมืองในแต่ละห้วงเวลา สำหรับคนท้องถิ่นในช่วงหลังๆ ระบบอุปถัมภ์เข้ามาครอบงำสูง ทั้งกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานจ้างท้องถิ่น ล้วนมาจากระบบอุปถัมภ์ พึ่งพิง ต่างตอบแทน และหนักถึงขั้นซื้อขาย ตำแหน่ง ก็มากมาย ดังนั้นอย่าได้หวังว่าจะเกิดการยอมรับจากสังคมทั่วไป หรือได้มีบทบาทในสังคมอย่างสง่าผ่าเผย ตราบใดที่ยังไม่ละนิสัยพฤติกรรมเดิมที่แย่เสีย

ยิ่งราชการส่วนภูมิภาค ส่วนกลางที่กลับมายิ่งใหญ่อีกในช่วง 10 ปีให้หลังนี้ เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่เขามุ่งไปมวลชนจัดตั้ง โดยราชการภูมิภาคอยู่แล้ว มวลชนคนท้องถิ่นมีหลายกลุ่ม ต่างก็ขัดแย้งแก่งแย่งกันไม่มีวันจบสิ้น ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ด้วยกันท่ามกลางความขัดแย้งแล้วใครจะมาสนใจดูแลเอาไปเป็นหัวคะแนน

ดูในเรื่องร้องเรียน คดีฟ้องร้อง การชี้มูล ป.ป.ช. ยังมีมากมาย สถานการณ์ภายใน อปท.ไม่มีนิ่ง แต่ก็ยังแอบกินเงียบแบบส่วนกลาง อปท.นับวันจึงมีแต่จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ แม้แต่ฐานเสียงนักการเมืองระดับชาติ หลายแห่งก็ยังรักษาไม่ได้ แล้วอำนาจต่อรอง มันจะมีเหลืออยู่อีกหรือ หมดสิ้นกันแล้วฐานคะแนนจาก อปท. (คนท้องถิ่น)

ส่วนเสียงคนรุ่นใหม่ขอยกตัวอย่างเรื่องทุนที่มาชี้นำการเลือกตั้ง ตาสีตาสาตกเป็นเหยื่อ ในขณะที่เด็กๆ คนรุ่นใหม่ หรือคนกลุ่ม Gen Z อายุ 18-26 ปี มีสิทธิเลือกตั้ง 7.67 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นคนหัวแข็ง เก็บกด ไม่มีจะกิน ไม่มีอาชีพที่มั่นคง แต่ต้องไปเลี้ยงดูคนสูงวัย เพราะปี 2565 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว หรือ สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว ด้วยสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

พรรคการเมืองและนักการเมืองน้ำดี ถือเป็นการบ้านตามนี้ เพราะพรรคการเมืองและท่านเป็นองค์กรและบุคคลสาธารณะ ที่ชาติต้องการ ให้สัญญาประชาคมแก่ชาวบ้านไว้อย่างไร ต้องรับผิดชอบ ไม่เอามันเด็ดขาด