เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี

                หมายเหตุ : “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ”  ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า  ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐ”

                - มองปรากฎการณ์เลือกตั้งปี 2566 แตกต่างจากปี 2562 อย่างไรบ้าง

                มีความแตกต่างตั้งแต่กติกาจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวมาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2ใบ จำนวนส.ส.เขตที่เพิ่มมาอีก 50 เขต การแข่งขันกันที่เขตมากขึ้น  และดูเหมือนว่าพรรคการเมืองต่างๆ มีความหวังและมีโอกาสชนะในกติกาแบบนี้ เราจะเห็นว่ามีพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมา มีการแยกพรรคสะท้อนให้เห็นว่าเขามีความหวังในเกณฑ์นี้ และโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลไม่ได้เป็นสูตรตายตัวแบบก่อนหน้าที่มีรัฐธรรมนูญ 60 และบทเฉพาะกาลที่มีส.ว.มาร่วมเลือก ซึ่งทำให้การแข่งขันรอบนี้น่าสนใจ เพราะจะทำให้พรรคที่ไม่ได้ลุ้นที่ 1 แต่ได้ 40-50 ที่นั่งมีสิทธิ์ลุ้นเป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี 

                -การที่บ้านใหญ่ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย จะสะท้อนอะไรหรือไม่

                การที่บ้านใหญ่ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยก็ไม่สะท้อนอะไรเพราะก็เพื่อไทยเดิม แต่เขาฟื้นกระแสเพื่อเพิ่มความชัดเจนว่า รอบนี้พรรคเพื่อไทยเอาจริงมากกว่าปี 2562 โดยการส่งน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาก่อน แล้วปลุกกระแสแลนด์สไลด์ คนเก่า คนแก่ คนที่เลือกพรรคตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย  พรรคพลังประชาชน ปลุกความหวังจนเป็นกระแสว่า พรรคเพื่อไทยก็เป็นที่หนึ่งที่ได้เสียงเยอะพอสมควร

                ซึ่งการได้ที่หนึ่งในรอบนี้ต่างจากปี 2562 เพราะมีโอกาสตั้งรัฐบาล ขณะที่การปลุกกระแสแลนด์สไลด์ เขาก็ปลุกกระแสการผสมข้ามรัฐบาล ที่ไปประกบกับอีกฝั่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แยกกันเดินทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสไปรวมขั้วกับพล.อ.ประวิตรได้ พอตัดสมการพล.อ.ประยุทธ์ ออกไปก็เริ่มคลายล็อกที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ไปร่วมรัฐบาลกับรัฐบาลที่เคยรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์​

                ก็ทำให้เป็นบวกกับพรรคเพื่อไทย ที่ดูแล้วคะแนนนำโด่งและน่าจะได้ตัวเลขเยอะจนน่ากลัว พอน่ากลัวก็เลยเป็นแรงดึงดูดบ้านใหญ่ในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งบ้านใหญ่จากภาคตะวันออก บ้านใหญ่กลุ่มสามมิตร ซึ่งเขาประเมินแล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะไปได้ไกลขนาดไหน เขาก็รู้สึกว่าต้องไปดูกระแสแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย หรือถ้าไปทานกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย จะไม่ได้เป็นรัฐบาล อาจจจะสอบตกในพื้นที่ ไม่มีชื่อตัวเองในสภา เลยได้เห็นภาพบ้านใหญ่ไหลเข้ามารวม ทำให้กระแสแลนด์สไลด์เพิ่มเข้าไปอีกจากเดิม 220 เป็น 240-250

                - การเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะส่งผลบวกหรือลบกับพรรคเพื่อไทย

                ต้องยอมรับว่าบทบาทของทักษิณ มีมาตลอด ตั้งแต่โทนี่ในคลับเฮ้าส์ กลุ่มแคร์ ก็ถือว่ามีอิทธิพลต่อการสร้างกระแสแลนด์สไลด์ย้อนไปเป็นปี แต่บทบาทของทักษิณกับพรรคเพื่อไทยอยู่ในลักษณะขึ้น ๆ ลงๆ แม้ว่าทักษิณจะสร้างอิมแพคไว้สูง แต่ขณะเดียวกันก็สร้างแรงโต้กลับในระดับสูงได้เช่นกัน เห็นได้ว่าบางช่วงการเคลื่อนไหวของทักษิณช่วยเพิ่มกระแสให้พรรคเพื่อไทย หรือบางช่วงพรรคเพื่อไทยก็ต้องกลับมาแก้เกม แต่โดยรวมจะเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดว่าพรรคเพื่อไทยเอาจริง และเดิมพันสูงกับการเป็นรัฐบาลให้ได้

                -แสดงว่าวันนี้ ทักษิณ ยังมีบทบาทในการเมืองไทย

                แน่นอน คุณทักษิณเป็นตำนานที่ยังเหลือเชื้อของความขัดแย้งทางการเมือง ที่วันนี้การเมืองมีการแบ่งขั้วก็พัฒนามาจากจุดนี้ แต่พอมาเป็นปัจจุบันหน้าตาอาจจะไม่เหมือนเดิม แม้แต่ยุคที่คุณยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร เพียงแต่ว่าคนที่เกิดทันสมัยคุณทักษิณ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็ยังอยู่เยอะ ทำให้คุณทักษิณเป็นภาพจำ ทั้งพรรคไทยรักไทย รัฐประหาร การแก้รัฐธรรมนูญ โดยคนกลุ่มนี้คุณทักษิณยังเป็นตัวแสดงสำคัญในการที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหน ไม่เลือกพรรคไหน

                ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่อาจจะเกิดไม่ทันโดยตรง แต่เรื่องราวยังอยู่ เพราะเขามีบทบาททางการเมือง คำบอกเล่าจากผู้คน ข่าวย้อนหลังที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจว่าเขาจะชอบพรรคไหน เขาจะเลือกใคร

                -พล.อ.ประยุทธ์ จะยังเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติชนะการเลือกตั้งได้หรือไม่

                พล.อ.ประยุทธ์ มีความสำคัญ 2 ส่วน 1.เขายังเป็นคนที่มีกระแสในบางพื้นที่ เช่น ภาคใต้ กรุงเทพฯในเขตเมืองหลายๆ จังหวัด 2.เขายังมีบทบาทสำคัญ คือเป็นสัญลักษณ์ของขั้วความคิดการเมืองอนุรักษ์นิยม รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ วันนี้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ภาพตรงนี้ชัดที่สุด คือพล.อ.ประยุทธ์

                ซึ่งคนที่กำลังคิด กำลังตัดสินใจ แล้วเขามองผู้นำประเทศที่มีความนิยม ยังผู้นำเป็นตัวแทนขั้วความคิดทางการเมืองที่สอดคล้องกับเขา ก็อาจจะมองไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ  ทำให้พรรครวมไทยสร้างขาติได้คะแนนกระแสพวกนี้ไป เอาไปเติมกับส่วนที่เขาดึงมา ส่วนคนที่เขาดึงมาได้ เขาก็เห็นความได้เปรียบตรงนี้ หากเขาจะลงเขตของเขาก็ต้องคิดว่าเอาชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไปขายได้หรือไม่ มันช่วยเพิ่มคะแนนหรือไม่ ถ้าใช่เขาก็พร้อมที่จะย้ายมาพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเติมคะแนนให้ตัวเอง

                -สโลแกน "ความสงบจบที่ลุงตู่" ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังใช้ได้หรือไม่

                วันนี้พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้พูดแล้ว แต่เขาใช้ "ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ" ซึ่งคำนี้ออกมาเพื่อแก้ทาง “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ” ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ คงอยากจะบอกว่า ผมก็ทำเป็นเหมือนกัน เพราะทำมามากกว่า 8 ปีแล้ว และอีกเรื่องหนึ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดทุกครั้งที่มีโอกาส คือเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเขาก็ประเมินจุดแข็งของตัวเองว่าอย่างน้อยๆ เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2557 บ้านเมืองไม่ได้เสียหายพังพินาศอะไร แม้จะไม่ได้ดีในมุมของคนที่อยากให้ประเทศชาติเจริญเติบโตก้าวหน้า แต่ก็ประคับประคองมา ไม่ได้แย่ก็พอทำได้

                ในขณะเดียวกันภาพของความจงรักภักดี ก็ชัดเจนที่สุด ใครที่กังวลกับเรื่องสถาบันหลักของชาติจะถูกปฏิรูปจะถูกสั่นคลอน เขาก็พร้อมที่จะเป็นคนยืนหยัดต่อสู้กับคนอื่นได้

                -การประกาศก้าวข้ามความขัดแย้งของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะมาดึงคะแนนของพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

                การก้าวข้ามความขัดแย้งของพล.อ.ประวิตร ไม่ได้หวังผล และไม่ได้ดึงคะแนนฝั่งพล.อ.ประยุทธ์เสียทีเดียว เพราะคนที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ คงไม่อยาก ก้าวข้ามความขัดแย้ง สไตล์พล.อ.ประวิตร เขาอยากชนะ อยู่ในอำนาจและเป็นรัฐบาล เขาจึงเลือกพล.อ.ประยุทธ์

                แต่เรื่องก้าวข้ามความขัดแย้งเอามาใช้ 1.เพื่อดึงคะแนนของคนที่ไม่ได้อยากวนเวียนกับการแบ่งขั้ว แยกข้างทางการเมือง แต่อยากเดินหน้าประเทศไทยโดยมองเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องนำเรื่องการเมือง ซึ่งมีฐานคนแบบนี้จำนวนมาก

                2.เพื่อสลัดตัวเองจากที่ถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการร่วมคณะรัฐประหาร เป็นการสลัดคราบเหล่านั้นเพื่อที่จะบอกว่าลืมความขัดแย้งในอดีต และเราก็มาจับมือร่วมกันทำงาน ซึ่งพล.อ.ประวิตรสามารถจับมือกับคนที่ในอดีตเป็นคู่ขัดแย้งได้ เป็นการโน้มตัวเข้าไปหาอีกฝ่ายหนึ่ง

            -พรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดยพล.อ.ประวิตร และพรรคไทยรวมไทยสร้างชาติ ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ แตกกันจริง ๆ หรือไม่

            เขาแตกกันจริงๆ แต่เป็นการแตก ที่เรียกว่า ไม่ได้แตกแล้วแตกกันเลย เป็นการแตกแบบประหลาด เพราะยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีความคิดทางการเมืองเห็นไม่ตรงกันก็ต้องแยกกันเดิน ไม่ได้เกี๊ยเซี๊ยะ หรือวางแผนกันว่า พี่ไปซ้าย น้องไปขวา แล้วเรามาเจอกันข้างหน้าไม่ใช่แบบนั้นแน่ๆ

                แต่เป็นภาวะจำเป็นทางยุทธศาสตร์ที่เห็นไม่ตรงกัน แทนที่เห็นไม่ตรงกันแล้วทะเลาะกัน ไม่มองหน้ากัน ไม่เผาผีกัน ก็เลยต่างคนต่างลุยการเมือง ไม่ยุ่งกัน พี่เห็นแบบนี้พี่ก็ไปทางของพี่ ผมเห็นแบบนี้ก็ไปทางของผม แล้วเรามาพิสูจน์กันว่า เราเลือกเส้นทางถูกไหม แต่ถึงวันหนึ่งไม่ว่าถูกหรือผิด แต่ถ้าจำเป็นว่าจะต้องมารวมกันเพื่อเป็นรัฐบาลด้วยกันก็มารวมกันได้ จะเป็นอารมณ์นี้มากกว่า

                อย่างภาพเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรนั่งด้วยกันระหว่างการรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งความสัมพันธ์ส่วนตัวทั้ง 2 คนก็ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าวันนี้ยุทธวิธีทางการเมืองที่จะต่อยอดอำนาจ นี่คือทางเดียวที่จะเดินได้ ถ้าทู่ซี้ไปพรรคเดียวกันก็ไม่รอด ถ้าแยกกันไปแบบเด็ดขาดไม่มองหน้ากันก็ไม่รอดทั้งคู่ ก็ต้องไปแบบนี้ต่างคนต่างเดินในแบบที่ยังมีไมตรีและเยื้อใยต่อกัน

                -ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.ไม่ถึง 50 ที่นั่งจะเกิดความขัดแย้งในพรรคตามมาหรือไม่

                ไม่แปลกอะไร ก็เป็นธรรมเนียมของพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ที่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นำพรรคแล้วเกิดได้ต่ำกว่าเป้า เขาก็ประกาศแล้วว่า ต้องไม่น้อยกว่าปี 2562 ถ้าน้อยกว่าเขาก็ต้องแสดงความรับผิดชอบเหมือนที่คุณอภิสิทธิ์ เคยแสดงความรับผิดชอบเมื่อปี 2562 สมมติว่าวันที่ 14 พ.ค. พรรคประชาธิปัตย์ได้ 30 กว่าที่นั่ง และไม่มีโอกาสที่จะพลิกได้ 50-60 ที่นั่ง คุณจุรินทร์ ก็ต้องแถลงลาออกเหมือนกับคุณอภิสิทธิ์ ภาพแบบปี 2562 จะเกิดขึ้นทันทีเพราะธรรมเนียมเขาเป็นอย่างนั้น

                แล้วเขาก็เข้าสู่กระบวนการของพรรคประชาธิปัตย์ คือการเลือกหัวหน้ากันใหม่ ทีมบริหารชุดใหม่ก็เข้ามา ถึงเวลานั้นขั้วอำนาจคุณอภิสิทธิ์ อาจจะกลับเข้ามา ส่วนจะกลับเข้ามาโดยตรงหรือเป็นคนที่คุณอภิสิทธิ์สนับสนุนมาเป็นหัวหน้าก็ต้องไปรอดูกัน

                -พรรคภูมิใจไทยวันนี้ดูเหมือนจะมีพลังมากขึ้น จากการดึงคนเข้ามาจำนวนมาก

                พรรคภูมิใจดูทรงพลังมาก ช่วงก่อนเกิดวิกฤติชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เป็นพรรคที่แผ่แสนยานุภาพ เกรียงไกรมาก จนกล้าตั้งเป้าที่ระดับ 120 ที่นั่ง และมีการวิเคราะห์ตรงกันว่า พรรคภูมิใจไทยต้องมี 70 - 80 ที่นั่ง ซึ่งในพื้นที่อีสานพรรคเพื่อไทยคงไม่ถึงขั้นกวาดได้ทุกจังหวัด เพราะอย่างน้อยก็พรรคภูมิใจไทยแทรกอยู่ รวมถึงภาคใต้ ภาคกลางอีกหลายจังหวัดและบ้านใหญ่หลายหลัง ที่พรรคภูมิใจไทยชวนมาอยู่ด้วยได้ก็น่าจะเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งมากเป็นอันดับ 2 จากการประเมินคร่าวๆ

                 แม้วันนี้จะโดนกระแส ชูวิทย์ทำให้ความร้อนแรงลดลงไปบ้าง ซึ่งผู้นำพรรคเขาก็พยายามปรับตัวเอง อย่าเด่นมากเดี๋ยวจะมีปัญหา เขาก็อยู่เงียบๆ แล้วก็ฟาดเรียบของเขาไป โดยเฉพาะส.ส.เขตที่เขาวางเอาไว้

                 - การที่ประเมินว่าพรรคภูมิใจไทย เป็นอันดับสองจะกลายเป็นฝ่ายค้านหรือไม่

                ยังไม่แน่ ขึ้นอยู่กับตัวเลข วันนี้ถ้าพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ในระดับ 240 ที่นั่ง อย่างไรก็ต้องมีพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล ซึ่งเงื่อนไขเมื่อพรรคเพื่อไทยบวกกับพรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกลเขาจะไม่บวกด้วย เพราะพรรคภูมิใจไทยไม่เอาพรรคก้าวไกล และอีกเงื่อนไขที่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่บวกด้วยคือ พรรคเพื่อไทยคงมองไปที่พรรคพลังประชารัฐก่อน พอมีพล.อ.ประวิตร พรรคก้าวไกลก็ต้องเฟดตัวออก เพราะเขาไม่เอา 2 ป.อยู่แล้ว

                เมื่อไม่เอา 2 ป. ก็มีเสียงไม่พอตั้งรัฐบาลก็ต้องมาที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งถ้าไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ  พรรคภูมิใจไทย เอาแต่พรรคก้าวไกลก็ไม่พอ 375 คือพรรคเพื่อไทยจะต้องแลนด์สไลด์ 325 แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยทะลุไปถึง 300 กว่าก็ต้องกลับไปดูว่าเพื่อนได้เท่าไหร่ สุดท้ายก็ต้องกลับมาหาอีกขั้วหนึ่งอยู่ดี แต่เลือกได้พรรคเดียวก็อาจเป็นไปได้ว่า พรรคภูมิใจไทยอาจจะหลุดโผไปเป็นฝ่ายค้าน แต่โอกาสจะน้อยมากเพราะดูตัวเลขแล้วพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะได้ไปไกลขนาดนั้น

                -หากพรรคเพื่อไทยได้อันดับหนึ่ง จะมีอุบัติเหตุอะไร ที่ทำให้ไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

                เป็นที่หนึ่งแต่ตัวเลขน้อยมี 200 ไม่เกิน 220 ก็มีโอกาส เพราะตราบใดที่ตัวเลขไม่ถึงครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรมีโอกาสพลิกขั้ว เพราะพรรคที่หนึ่งอาจจะไม่ได้ตั้งรัฐบาลก็ได้ เนื่องจากโจทย์การตั้งรัฐบาลคือ 375 ฉะนั้นก็อยู่ที่ตัวเลขที่พรรคเพื่อไทยจะทำได้ ว่ากระแสแลนด์สไลด์ที่พอจะไปได้ แต่ยังเหลือเวลาอีก 40-50 วัน กระแสจะดรอปลงหรือไม่ พรรคเพื่อไทยจะสะดุดขาตัวเองหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ากระแสของพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนได้ เพราะมีหลายปัจจัย

                ประเภทสะดุดขาตัวเอง จนทำให้คู่แข่งอีกขั้วหนึ่งพลิกเกมกลับมาได้ เพราะหลายเขตก็ชนกับพรรคพลังประชารัฐ หลายเขตชนกับพรรคภูมิใจไทยหลายเขตชนกับพรรครวมไทยสร้างชาติ มันมีโอกาสหากกระแสพรรคเพื่อไทยดรอป ก็จะถูกผู้สมัครส.ส. แข็งๆ ของทั้งสามพรรค พลิกเกมชนะเขตได้

                กระแสของขั้วเดียวกันเอง ระหว่างนี้ถ้าเกิดมีอะไรพลิกทำให้กระแสพรรคก้าวไกลโดดเด่น คล้ายตอนปี 2562 ที่กระแสพรรคอนาคตใหม่อยู่ๆ ก็พุ่งขึ้นมา แบบนี้พรรคเพื่อไทยก็จะเหนื่อย เพราะจะทำให้คนที่คิดว่ารอบนี้ขอเลือกพรรคเพื่อไทยจะได้แลนด์สไลด์ อาจจะเปลี่ยนใจเพราะพรรคก้าวไกลกระแสดี เพราะพรรคเพื่อไทยหวังอะไรไม่ได้ ไม่ไว้ใจ กลายเป็นแชร์คะแนนกันเองก็มีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยที่ตั้งเป้าไว้ 240 - 250 อาจดรอปลงเหลือ 180 – 200 ที่นั่ง

                -พรรคที่จะทำหน้าที่โซ่ข้อกลางได้ดีที่สุดในเวลานี้ คือ

                พรรคที่เชื่อมได้มากสุดคือ พรรคพลังประชารัฐ เพราะลักษณะบุคลิกของพล.อ.ประวิตร และนักการเมืองที่รายล้อม เป็นนักการเมืองสไตล์ที่พร้อมร่วมงานและผูกมิตรกับคนอื่น แต่ประเด็นคือจะเป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมไม่ได้ทุกขั้ว เพราะอย่างน้อยก็ไม่มีพรรคก้าวไกล เป็นไปได้ที่สุดคือเชื่อมพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ แต่ถึงขั้นเชื่อมพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยไหม จริงๆ ก็พอเชื่อมได้ สมมติว่าพรรครวมไทยสร้างชาติได้ไม่ถึง 25 ที่นั่ง พล.อ.ประยุทธ์ หลุดแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถถูกเสนอชื่อได้ พล.อ.ประวิตรก็อาจจะไปเชื่อมเอาส.ส.ที่เล็ดลอดเข้ามาได้ 20 คน โดยที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีเงื่อนไขที่จะมารังเกียจเพราะพล.อ.ประยุทธ์หลุดไปแล้ว

                - ตั้งแต่วันนี้หลังจากได้เบอร์กันแล้ว การหาเสียงจะมีความรุนแรงแทรกเข้ามาหรือไม่ อย่างล่าสุดที่พรรคพลังประชารัฐมีการปะทะกับกลุ่มม็อบระหว่างปราศรัย

                เรื่องความรุนแรงตอนนี้ ตราบใดที่คนยังมีความหวังกับการเลือกตั้งอยู่ คงไม่ลุกลามบานปลาย แต่ถ้ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลระหว่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะสะสม เช่น คนรู้สึกหวาดระแวงว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบมาพากลในกติกา หรือคนที่มีอำนาจในการปฏิบัติ ถืออำนาจรัฐอยู่ในมือ  ไปใช้อิทธิพลบังคับคนให้ไปลงคะแนนให้กับขั้วการเมืองใดการเมืองหนึ่งจนผิดสังเกต และไม่มีใครเอาผิดลงโทษได้ก็จะสะสมไป เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาและสวนกับความรู้สึก หรือถูกบิดเบือนทั้งจากการตีความทางกฎหมาย ใช้กติกาทางกฎหมายเข้าไปลดจำนวนของผลการเลือกตั้งลง

                และฟางเส้นสุดท้ายคือตอนตั้งรัฐบาล หากไม่ใช่ขั้วที่ควรจะได้เป็นรัฐบาล พรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พลิกไปพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 5 อันดับ 6  ซึ่งสวนกับความรู้สึกของคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลปัจจุบันมากๆ ก็จะเกิดการประทุ เริ่มประท้วงกันรุนแรงมากขึ้น แต่มันต้องสะสมไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนี้

                -ขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิม จะเห็นในรัฐบาลหน้าหรือไม่

                ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ขั้วรัฐบาลปัจจุบันรวมเสียงของทุกพรรคพอตั้งรัฐบาลได้ ก็เชื่อว่าเขายินดีมากกว่าการข้ามขั้วไปจับกับพรรคเพื่อไทย แม้เสียงรัฐบาลจะดูเยอะ 300 กว่าเสียงมีเสถียรภาพ แต่เขาไม่ชอบหรอก เพราะธรรมชาติของคนร่วมรัฐบาลเสียงมากก็ต้องแบ่งเก้าอี้โควต้ารัฐมนตรีกันมาก แล้วตัวเองเป็นพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กแล้วไปร่วมกับพรรคขนาดใหญ่ทำให้อำนาจต่อรองน้อย จะไปเรียกร้องกระทรวงเกรดเอ กระทรวงเกรดบีบวกก็ลำบาก

                สมมติหากพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ 250 ขึ้น เขาต้องการพรรคร่วมแค่ช่วงที่โหวตนายกรัฐมนตรีเท่านั้นคือ 375 เสียงที่เขาอยากได้ แต่พอเขาเป็นรัฐบาลแล้ว เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะการอยู่ของรัฐบาล คืออยู่ด้วยเสียงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เขาไม่ต้องการเพื่อนเยอะขนาดนั้น อีก 100 กว่าคนที่มาร่วมกันตอนต้น เขาสลัดทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน เขาก็รู้ว่าหากไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยอำนาจต่อรองก็น้อย ถึงวันนึงเขาจะสลัดเราเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเป็นไปได้เขาก็อยากอยู่ด้วยกันเองแบบ 4 ปีที่ผ่าน เพราะพิสูจน์แล้วว่า อยู่ด้วยกันดีทุกคนก็มีความสุข และอยู่รอดมาจนจะครบเทอม แต่นายกรัฐมนตรียุบสภาก่อน 3 วันเท่านั้นเอง

                -เบอร์บัญชีรายชื่อ ที่จับกันได้ส่วนใหญ่ได้เลขสองตัว จะทำให้หาเสียงยากหรือไม่

                ตอนแรกคนคิดว่า จับเบอร์ได้เลขตัวเดียวดี แต่พอคิดๆไป การที่ได้เลขตัวเดียวมีโอกาสที่จะให้เกิดความสับสนกับเบอร์ส.ส.เขตได้ สมมุติได้เบอร์ 29 อย่างไรก็ไม่ปนไม่สับสน เพราะผู้สมัครส.ส.เขตมีไม่ถึงก็ดีไปอีกแบบ แต่ถ้ากลัวจะสับสนก็เอาเบอร์ออก หาเสียงโดยใช้ชื่อพรรค เพราะบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อมีชื่อพรรคในบัตรอยู่แล้ว ถ้ากลัวประชาชนอ่านหนังสือไม่ออกก็โฆษณาโลโก้พรรคให้ชัดเจน แล้วเบอร์ก็ไปเน้นหาเสียงเฉพาะเขตแทน ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนสับสนน้อยที่สุด

                -การไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้จะมากกว่าปี 2562 หรือไม่

                ก็แอบมีความหวังว่าตัวเลขผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะเพิ่มขึ้น แต่รู้สึกว่าตัวเลข 75 เปอร์เซ็นต์เป็นเพดานที่ทะลุได้ยาก ตอนปี 2562 การเลือกตั้งดูคึกคัก แต่ก็ไม่ทะลุอยู่ที่ 74-75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่แบบนี้มาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งก็มีตัวช่วยแต่ก็เป็นอุปสรรคคือ การไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งที่จริงต้องเป็นตัวช่วยที่ทำให้ตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิ์สูงขึ้น แต่ที่ผ่านมากลับเป็นอุปสรรค เพราะคนต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าที่เดียวกันจำนวนมากๆ ทำให้แออัด คนเข้าไม่ถึงก็ทำให้คนหายไปเยอะ เมื่อระเบียบไม่เอื้อก็ต้องรับสภาพ

                -จะมีบัตรเขย่ง บัตรกระโดดหรือไม่

                มีอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ บัตรโหลชวนให้ทำเรื่องแบบนี้ได้ง่าย ทำให้เกิดบัตรเวียนเทียน เรื่องการจ่ายบัตรไม่สามารถคุมคุณภาพได้ครบทุกหน่วย เพราะต้องยอมรับว่าอาสาสมัครที่เขามาทำงาน เขามาชั่วคราว อบรมสั้น ๆ ไม่ได้ทำต่อเนื่องไม่ได้ทำมาตลอดก็มีโอกาสผิดพลาดได้ ทำให้มีโอกาสเขย่งทั้งที่เจตนาไม่เจตนา