ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ภาษาของคนรุ่นใหม่คือ “Change” หรือ “การเปลี่ยนแปลง” ทั้งที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและเปลี่ยนแปลงตัวเอง
วีวรินทร์หรือวิเวียนเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งเมื่อไปถึงประเทศอังกฤษ จากที่ต้องบังคับตนเองให้เป็น “2 บุคลิก” เวลาที่อยู่ในเมืองไทย เพื่อเอาใจพ่อแม่ทางบ้านแบบหนึ่ง และเพื่อให้เข้า กันได้กับเพื่อน ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอีกแบบหนึ่ง เธอก็รู้สึกได้รับการปลดปล่อย เป็นตัวของตัวเอง และเป็นอิสระจากการเสแสร้งทั้งปวง
เธอได้รู้จักชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่ตอนแรกเธอก็มองหนุ่มคนนี้ว่าคงจะเหมือนหนุ่มไทยทั่ว ๆ ไป ที่ชอบเอาอกเอาใจและแสดง “ความเป็นแมน” เพื่อให้ผู้หญิงสนใจ แต่พอเธอได้พูดคุยด้วยเพียงประโยคแรก ก็รู้ว่าเขาไม่ใช่ชายหนุ่ม แต่เป็นอีกสาวหนึ่งในร่างของผู้ชายเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความคิดความอ่านของเขา ที่ไม่เหมือนคนไทยใด ๆ ที่เธอรู้จัก ทำให้เธออยาก “ค้นคว้า” จึงเริ่มคบหาอย่างสนิทสนม ซึ่งเธอก็ไม่ผิดหวัง
“ออฟ” คือชื่อของสาวในร่างหนุ่มคนนั้น ออฟจบจากโรงเรียนชายที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ และมาเรียนปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษอยู่ก่อนแล้ว พอวิเวียนมาเรียนปริญญาโทก็ได้มาเจอกัน เขาเดินเข้ามาหาวิเวียนในเช้าวันหนึ่งในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย เพราะเห็นเธอเก้ ๆ กัง ๆ เลือกอาหารไม่ถูก เขาบอกว่าอาหารที่โรงอาหารไม่อร่อยสักอย่าง แต่ถ้าอยากกินที่ไม่อร่อยน้อยที่สุดเขาจะแนะนำให้ แล้วก็แนะนำตัวเองว่า ชื่อ “ภิชรัถน์” หรือชื่อเล่นก็คือ “ออฟ”
วิเวียนพอรู้ว่าออฟเป็นสาวด้วยกันก็เผลอผวาเข้าไปกอด ด้วยดีใจเหมือนว่าได้เจอเพื่อนที่เคยรู้จักมานาน ออฟไม่แต่งตัวเป็นผู้หญิง แต่ด้วยเสื้อผ้าของผู้ชายที่เขาใส่อยู่ก็ออกเป็นแนว “หนุ่มหวาน” ที่ดูสวยงามไม่แพ้สาวหวานทั้งหลายเช่นกัน แต่วิเวียนนั้นแต่งตัวออกแนว “สาวเปรี้ยว” ซึ่งออฟบอกว่าที่เข้ามาทักก็เพราะสะดุดตาในความเปรี้ยวของวิเวียนนี่แหละ
แล้วก็ช่างบังเอิญที่ทั้งสองได้มาพักอยู่ในหอพักเดียวกัน หอพักนี้เป็นของเอกชน ราคาจึงแพงพอสมควร แต่ก็อยู่ในย่านที่สะดวกปลอดภัย ที่สำคัญคืออยู่ใกล้มหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า รวมถึงใกล้สถานีรถใต้ดินที่เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งสองคนจึงชอบชวนกันไปเที่ยวตรงโน้นตรงนี้แทบทุกวัน รวมถึงเมื่อมีโอกาสก็จะไปยังต่างจังหวัดแทบทุกเดือน อีกทั้งออฟก็มีเพื่อนนักศึกษาและคนรู้จักอีกมาก จึงได้พาวิเวียนไปพบปะคนเหล่านั้นในปาร์ตี้ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำแทบทุกสัปดาห์
วิเวียนได้เรียนรู้ว่า คนอังกฤษมีกลุ่มความคิดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกอาจจะเรียกได้ว่า “พวกหัวเก่า” คือยังจมอยู่กับอดีตที่ยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษ ที่เคยมีเมืองขึ้นไปทั่วโลก อย่างที่เรียกว่า “ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” พวกนี้ในทุกวันนี้ยังคิดว่าอังกฤษยิ่งใหญ่เหนือกว่าชาติใด ๆ แม้แต่พวกคนยุโรปด้วยกัน อย่างที่เห็นพลังของพวกนี้ที่กดดันจนรัฐบาลอังกฤษต้องยอมถอนตัวออกมาจากสหภาพยุโรป
อีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องเรียกว่า “พวกหัวใหม่” พวกนี้ถือกำเนิดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านชาติจักรวรรดิใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม แล้วต่อมาก็เคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วยสิทธิของคนหลากเพศและความหลากหลายของเชื้อชาติ ที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน พวกนี้บางทีก็เป็นกลุ่มสนใจแบบชั่วคราว คือดำเนินการเคลื่อนไหวในเรื่องต่าง ๆ ไปสักพักแล้วก็ยุติ หรือพอไปทำงานแล้วก็จะเปลี่ยนความคิดไปเป็นอนุรักษ์นิยมหรือทุนนิยมก็มีมาก
วิเวียนมองว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในพวกหลังนี้ คือดูเหมือน ๆ กันทุกประเทศ ในช่วงวัยรุ่นก็พยายามจะแสดงเอกลักษณ์ของตัวตนแต่ละคนให้เด่นชัด ซึ่งก็คือลักษณะที่ก้าวหน้า “หัวใหม่” แต่พอเข้าไปในระบบสังคม โดยเฉพาะในการทำงานก็จะถูกพวกหัวเก่าครอบงำ ในที่สุดพวกหัวใหม่จำนวนมากก็จะกลายเป็นพวกหัวเก่าไปด้วย หรืออาจจะพูดให้ชัด “คนรุ่นใหม่” ก็คือคนที่ยังมีอายุน้อยและชอบแสดงออกอย่างอิสรเสรี ส่วน “คนรุ่นเก่า” ก็คือคนทั้งหลายที่อายุมากขึ้น และถูกแวดล้อมด้วยสังคมแบบเดิม ๆ นั่นเอง
อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นสังคมของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในระยะแรก ก็คือเรื่อง “เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์” ซึ่งในยุคแรก ๆ ก่อน ค.ศ. 2000 จะเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น แต่ต่อมาเทคโนโลยีเหล่านั้นได้พัฒนาให้ใช้ง่ายในทุกชั้นวัย คนที่มีอายุน้อยกว่าก็ยังคงแสดงความสำคัญที่เหนือกว่า โดยแบ่งกลุ่มตัวเองเป็น “คนยุคมิลเลนเนียม” ที่มีโลกเฉพาะ กระนั้นเมื่อเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนทุกคน ความเป็นชนชั้นทางอายุก็หมดความสำคัญ คนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้จึงพยายามหันเข้าหาการใช้ชีวิตเหมือนอย่างที่คนรุ่นใหม่ในอดีตทำกัน ซึ่งก็คือพวกริปปี้ในยุค 1970 ที่เสพสุขกันอย่างฟุ้งเฟ้อ รวมถึงที่พยายามคิดให้แตกต่างและกระทำให้ “ผิดแผก” กับการใช้ชีวิตของคนรุ่นเก่านั้น
วิเวียนบอกว่าเธอโชคดีที่เธอเป็นคนไทย ซึ่งยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ในสันดาน เพราะแม้ว่าเธอจะเข้าไปอยู่ในท่ามกลางชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่แบบอังกฤษ แต่เธอก็ยังกลัวที่จะเอาชีวิตไปเสี่ยงให้เป็นคนรุ่นใหม่แบบนั้น ทั้ง ๆ ที่เธอเองก็มองว่าคนรุ่นเก่าก็ไม่ได้เรื่อง โดยเฉพาะระบบเครือญาติแบบไทย ๆ แต่เมื่อเธอมองออกไปให้กว้าง เธอก็มองเห็นว่าชีวิตเป็นเรื่องของ “เวลา” เมื่อเวลาเปลี่ยนไปชีวิตก็เปลี่ยน เช่นเดียวกันกับความเป็นหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ ที่เมื่อช่วงวัยเปลี่ยนไป ความคิดและพฤติกรรมของคนคนนั้นก็จะเปลี่ยนไปเสมอ
ในยุคที่วิเวียนเติบโตมาถูกเรียกว่า “โลกาภิวัตน์” หรือ “Globalization” คือทำให้คนทั้งโลกเคลื่อนที่ไปในแบบเดียวกัน หรือเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งความจริงมันขัดแย้งกับความเชื่อความคิดของคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกนั้นให้เป็นไปตามความคิดความของการของตนเองอีกด้วย
ที่สุดวิเวียนก็พบว่า เธอถูกดูดกลืนเข้าไปในวังวนของกระแสโลกาภิวัตน์นั่นเอง เพราะแม้ว่าเธอจะพยายามฝืนโลกในเรื่องต่าง ๆ แต่นั่นก็คือโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่ง ที่การฝืนโลกก็เป็นเพียงแค่ “โลกาภิวัตน์ของวัยรุ่น” พอเติบโตต่อไปในช่วงวัยทำงาน ทุกคนก็จะถูกดูดกลืนเข้าไปในกระแสของ “ชีวิตเมือง” หรือ “Metropolitanism” ต้องใช้ชีวิตตามแบบที่คนอื่น ๆ เขาทำกัน ที่สุดคือ “ความเป็นทั่วโลก” หรือ “Cosmopolitanism” คือชีวิตของคนทั้งโลกที่เคลื่อนที่ไปในแนวทางเดียวกัน
วิเวียนกลับมาเมืองไทยเพื่อทดลองความเชื่อความฝันของเธอ แม้เธอจะพบว่าเธอก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางโลกาภิวัตน์ ซึ่งสุดท้ายเธอก็จะกลายเป็น “ทั่วโลก” ตามกระแสนั้น เธอก็ยังหวังว่าเธอน่าจะพบกับแนวทางที่เป็นตัวของตัวเองให้จงได้
เธอมองไปที่กลุ่มเพื่อน ๆ หรือคนที่รู้จัก ก็พบว่าค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงคนเหล่านั้นได้ยาก ครั้นพอคิดจะเปลี่ยนแปลงตนเองก็ยังยากเหมือนกัน เพราะสังคมไทยยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคมากมาย ยิ่งเมื่อเธอได้มาเล่าเรียนในหลักสูตรทางการเมือง เธอก็ยิ่งมองว่าจะเปลี่ยนแปลงคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองนั่นยิ่งยากกว่า ดังนั้นเมื่อเธอได้ฟังแนวคิดของนักการเมืองรุ่นใหม่ในบางพรรคการเมือง ก็ทำให้เธอเชื่อคล้อยตามว่า อาจจะเป็นหนทางเดียวที่เธอจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ รวมถึงโลกนี้ และนั่นก็คือสิ่งที่เป็นตัวตนของคนรุ่นใหม่อย่างเธอนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่าง ๆ ของประเทศ ที่จะต้องทำแบบถอนรากถอนโคน !