นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ ว่า กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านสุขภาพดี 2.ด้านเรียนดี 3.ด้านเศรษฐกิจดี 4.ด้านโครงสร้างทางเดินดี 5.ด้านบริหารจัดการดี จุดประสงค์เพื่อต้องการให้ทุกสำนักให้ความสำคัญกับงานด้านคนพิการ โดยกทม.ต้องทำให้เห็นว่ากลุ่มคนพิการในกรุงเทพฯ มีจำนวนไม่น้อย คาดว่ามีจำนวนถึง 5,000,000 คน แต่ตัวเลขจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุไว้ประมาณ 120,000 คน จึงเชื่อว่ายังมีผู้พิการแฝงที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์จำนวนมากดังนั้นการรวบรวมผู้พิการทั้งหมดโดยเร็วที่สุดจะช่วยกระตุ้นให้ทุกสำนักเห็นว่า กลุ่มผู้พิการมีจำนวนมากกว่าที่คิดจำเป็นต้องปรับรูปแบบและกระบวนการในการบริการให้เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้ทุกสำนักให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการมากขึ้น
ทั้งนี้ปัญหาในการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการคือ ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อผู้พิการ เนื่องจากผู้พิการมีหลายประเภทแต่ละประเภทแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจผู้พิการด้านต่างๆ เช่น การรับคนพิการเข้าทำงานผู้ร่วมงานที่เป็นคนปกติบางคนอาจไม่เข้าใจสภาวะต่างๆ ที่คนพิการต้องแบกรับ กทม.จึงหารือกันว่า จำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผู้พิการเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้พิการ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่รวมถึงข้าราชการได้รับรู้เรื่องความพิการและคนพิการ เช่น ความพิการมีอะไรบ้าง คนพิการเป็นอย่างไร รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้ถึงประโยชน์ในการรับผู้พิการเข้าทำงาน
นายศานนท์ กล่าวต่อว่า กทม.มีแผนสร้างธนาคารอาชีพของผู้พิการ เพื่อให้หน่วยงานหรือภาคเอกชนต่างๆ สามารถดึงตัวไปทำงานได้ เนื่องจากผู้พิการได้ผ่านการทดสอบเบื้องต้นจาก กทม.แล้ว เช่น ด้านทัศนคติ การสอบสัมภาษณ์การสอบข้อเขียน ด้านการทดสอบระเบียบต่างๆ ขณะเดียวกัน กทม.ยังจัดประเภทความสามารถของผู้พิการแต่ละคนให้เหมาะกับงานต่างๆ รวบรวมไว้สำหรับให้หน่วยงานภายนอกที่สนใจ การทำธนาคารอาชีพสำหรับผู้พิการ จุดประสงค์เพื่อไม่ให้ข้อมูลผู้พิการที่มาสอบกับ กทม.สูญเปล่า อย่างไรก็ตามการรับคนพิการเข้าทำงานใน กทม.ยังเป็นรูปแบบอาสาสมัคร ทำให้ผู้พิการบางคนไม่เข้าใจว่า หากไม่มาทำงานจะถูกตัดเงินในวันนั้นไป กทม.จึงอยู่ระหว่างแก้ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสมและอำนวยความสะดวกด้านอาชีพแก่คนพิการมากขึ้น เพื่อให้ผู้พิการมีอาชีพที่มั่นคง จากปัญหาการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการทั้งหมด กทม.พยายามพัฒนาระบบรวบรวมช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของ กทม.ไว้ในช่องทางเดียว เพื่อให้ผู้พิการสามารถทำงานให้ข้อมูลผ่านช่องทางดังกล่าวอยู่ที่บ้านได้ไม่ต้องเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและประเภทของความพิการ เช่น ผู้พิการทางสายตา ไม่ชอบทำงานอยู่กับบ้าน หน้าที่ของกทม.คือ สร้างนวัตกรรมรองรับงานให้ผู้พิการสามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่เหลืออยู่