ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : ก่อพระทรายหรือก่อพระเจดีย์ทราย หนึ่งในกิจกรรมสงกรานต์ไทย ในที่นี้นำเกร็ดความรู้ “ก่อพระทราย” จากหนังสือประเพณีสงกรานต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม 2564 มาเผยแพร่สังเขป
การก่อพระทรายนั้นมีทั้งประเพณีหลวงและราษฎร์ ตามคติโบราณอธิบายไว้ว่าเมื่อคนเข้าวัดแล้วเดินออกไปจะมีเศษดินทรายติดฝ่าเท้าออกมา เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จึงขนทรายเข้าไปในวัดเป็นการทดแทน อีกทั้งยังมีนิทานที่เล่าอธิบายความเชื่อเรื่องการก่อพระทรายไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปทางเรือขนาน ประชาชนพากันก่อพระทรายข้างลำน้ำและก่อในแพลอยเป็นพุทธบูชา และมีอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่ามีอุบาสกคนหนึ่งแล่นเรือไปในคืนวันเพ็ญ เห็นแสงจันทร์ส่องมากระทบหาดทรายทำให้ระลึกถึงพระฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า จึงบังเกิดความศรัทธาก่อเจดีย์ทรายเป็นพุทธบูชา
อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของการก่อพระทรายนั้น เป็นการขนทรายเข้าไปในวัดสำหรับไว้ใช้ในการก่อสร้างหรือถมที่ภายในวัดเป็นหลัก ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้ ตามที่เข้าใจในกรุงเทพฯ นี้ว่าเป็นการประสงค์ที่จะให้ได้ทรายไปประสมปูนในการก่อสร้างไม่ต้องซื้อนั้นอย่างหนึ่ง ประสงค์จะให้มีทรายถมพื้นลานวัด กับพื้นที่เป็นโคลนตม และมิให้หญ้างอกนั้นอย่างหนึ่ง ความประสงค์อันนี้เห็นจะเป็นของเก่าที่ได้เคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะใช้เป็นครั้งเป็นคราวในเวลาเมื่อทำวัด เมื่อสิ้นคราวทำวัดแล้วก็เป็นอันเลิกไป คงเป็นแต่ก่อพระทรายสังเขปของหลวง ที่วัดพระศรีสรรเพชญแห่งหนึ่ง เป็นวัดในพระราชวัง เมื่อมีการก่อสร้างอันใดก็คงจะโปรดให้ก่อพระทรายทุกคราว มีตัวอย่างซึ่งเห็นได้ในครั้งหลังนี้ คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มสร้างพระพุทธปรางคปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็โปรดให้เจ้านายและเจ้าจอมข้างในออกไปก่อพระทรายในเวลาสงกรานต์
เมื่อขนทรายเข้าวัดและก่อพระเจดีย์ทรายจนแล้วเสร็จ ในวันรุ่งขึ้นมีเลี้ยงพระตอนเช้า และเวลาบ่ายนิมนต์พระสงฆ์มาสวดฉลองพระทราย บรรยากาศของการจัดเตรียมภัตตาหารถวายพระในการฉลองพระทรายนี้ปรากฏอยู่ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนที่ 3 พลายแก้วบวชเณร กล่าวถึงการก่อพระทรายที่วัดป่าเลไลยก์ นางพิมพิลาไลยมาตักบาตรเณรแก้ว
ภาคเหนือล้านนานั้น วันเนาในเวลาบ่ายชาวบ้านจะถือขันหรือสลุงไปเอาทรายที่เกาะทรายตามแม่น้ำมาก่อรวมไว้ในวัด ขณะขนทรายเข้าวัดจะมีคาถาว่า “อะโห วะตะ เม วาลุกัง ติระตะนานัง สัพพะปาปังวินัสสะตุ” ให้ภาวนาไปกว่าจะขนทรายแล้วเสร็จ และในวันนี้จะมีการทำธงหรือจ้อตุง(ช่อธง) เตรียมไว้สำหรับนำไป “ทานตุง” ประดับเจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้น โดยใช้กระดาษสีตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปยาวมาทำผืนธง นำไม้ไผ่มาทำเป็นคันธง การทานตุงในคติของล้านนามีความเชื่อว่าสามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นพ้นจากขุมนรกขึ้นมาได้ด้วยชายตุงที่เกี่ยวพันตัวให้พ้นจากขุมนรก
ก่อเจดีย์ทรายในภาคอีสานเรียกว่า กองปะทาย หรือกองพระทราย ในบางท้องถิ่นเริ่มก่อพระทรายในวันที่เอาพระลง หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พระภิกษุสามเณรจะตีฆ้องหรือกลองเพื่อประกาศให้ชาวบ้านรู้เป็นสัญญาณว่าการก่อพระทรายได้เริ่มขึ้นแล้ว ชาวบ้านจะนำทรายมากองรวมกันที่วัด ก่อเป็นพระเจดีย์หรือรูปพญานาค ประดับตกแต่งด้วยธงและดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เย็น พอตกกลางคืนมีมหรสพพื้นบ้านเป็นการฉลองพระทราย ครั้นรุ่งขึ้นจึงถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์
สำหรับในบางชุมชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ชาวบ้านจะพากันไปก่อพระทรายที่หาด พร้อมจัดอาหารไปรวมกันและนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปด้วย เมื่อได้เวลาเพลจึงพร้อมใจกันถวายภัตตาหาร แล้วเริ่มก่อพระทรายจนแล้วเสร็จ จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์เป็นการฉลอง แล้วเล่นสาดน้ำกันก่อนที่จะแยกย้ายกลับบ้าน