ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

การเกิดสงครามยูเครนทำให้เกิดบทเรียนอันเป็นอาหารของสมองในเรื่องสงครามข้อมูลข่าวสาร

แม้ว่าการทำสงครามข้อมูลข่าวสารจะมีมานานนับแต่ครั้งบรรพกาล สำหรับท่านที่เคยอ่านสามก๊ก คงจำได้ดีว่าการที่ขงเบ้งลงทุนมานั่งตีขิมบนกำแพงเมือง เพื่อให้ประชาชนและทหารรักษาเมืองที่มีกำลังน้อยมากถอยหนีศัตรูที่กล้าแข็งอย่างสุมาอี้ จนทำให้ฝ่ายศัตรูไม่กล้ายกทัพเข้าตีเมือง เพราะคิดว่ามีกลอุบายที่จะซุ่มโจมตี จึงตัดสินใจถอยทัพกลับไป ถ้าสุมาอี้เป็นคนโง่ขงเบ้งคงตายไปแล้ว

ทว่าประสิทธิภาพของสงครามข่าวสารนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมักเข้าใจว่าเป็นเพียงการเผชิญหน้ากันของสองฝ่ายที่ใช้การเผยแพร่ข้อมูลที่เตรียมมาเป็นพิเศษ เพื่อโน้มน้าวจิตใจของฝ่ายของตนเอง และฝ่ายอื่นๆที่ยังมิได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในขณะเดียวกันก็สร้างความสับสน ความวิตกกังวลให้กับฝ่ายตรงข้าม หรือเพื่อล้มล้างอิทธิพลภายนอกที่มีต่อฝ่ายตนเอง

ปัจจุบันนี้นับเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะมีการศึกษา การอภิปรายถึงแรงกดดันด้านข้อมูลข่าวสารอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ที่มีการจัดตั้งเป็นขบวนการ เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเป็นนัยสำคัญต่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งด้านการเมืองและการทหารตลอดจนครอบคลุมถึงด้านเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามยุคของสงครามข้อมูลข่าวสารก็อาจสิ้นสุดลงได้ในอนาคตอันใกล้ เมื่อเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมีวิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้นไปอีก ด้วยขีดความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากปัญญาประดิษฐ์ และเมื่อความจริงปรากฏความเท็จก็จะจางหายไป

ความขัดแย้งในยูเครนจึงเป็นกรณีศึกษา โดยมิได้หมายถึงจุดจบแห่งความขัดแย้ง แต่จะเป็นก้าวสำคัญในการทดสอบปฏิบัติการสงครามข่าวสาร แม้จะเป็นเพียงก้าวแรก แต่ก็จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับอนาคต

แนวคิดสมัยใหม่ของสงครามข้อมูลข่าวสารมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับการพัฒนาเทคโนโลยีในการส่งเสริมชุดความคิดและภาพลักษณ์บางอย่างเพื่อให้ครอบงำความคิดของคนจำนวนมาก

อนึ่งแนวทางนี้ต้องอาศัยวิวัฒนาการทางจิตวิทยาสังคมที่จะโน้มน้าวความคิด หรือครอบงำความคิด ซึ่งในบางครั้งต้องใช้วิธีการที่เรียกว่าการผลิตซ้ำทางความคิด หรือแนวทางครอบงำแบบที่เรียกว่า “Group Think”

ทว่าปัญหาหลักตั้งอยู่บนเงื่อนไขหลายประการ เพื่อให้การปฏิบัติการสงครามข้อมูลข่าวสารประสบความสำเร็จ

เงื่อนไขแรก ฝ่ายตรงข้ามต้องมีพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันขั้นต่ำ หากฝ่ายตรงข้ามมีความคิดที่กระจัดกระจาย การทำสงครามข้อมูลข่าวสารก็จะไร้ประสิทธิภาพ และมันอาจเป็นมุมมองที่ย้อนกลับไปสู่ผู้กระทำ เช่น การประณามรัฐใดรัฐหนึ่งว่าได้ยกกำลังเข้าไปรุกรานรัฐอื่นโดยผิดกฎหมาย โดยที่ฝ่ายของผู้กระทำได้ดำเนินการ เช่นนั้นมาก่อนและได้สื่อต่อสาธารณะว่ามันเป็นความถูกต้อง

ในทำนองเดียวกัน มันจะไร้ผลทีเดียวถ้าจะให้ร้ายป้ายสีนักการเมืองในสื่อ ถ้าผู้คนในประเทศเชื่อว่าเขาเป็นคนดี สุจริต หรือการกระทำของเขาเป็นความกล้าหาญ เพื่อต่อสู้กับฝ่ายอธรรม จึงถือเป็นของธรรมดาและมิได้ถือว่าเป็นอาชญากรรม

มันจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอธิบายให้สาธารณะเข้าใจถึงความผิดพลาด หรือแม้แต่ความฉ้อฉลของนักการเมืองคนนั้น หากพวกเขาพากันเชื่อว่าเขาอยู่ในสถานะที่สูงส่งกว่า และเชื่ออย่างจริงใจว่าศัตรูของเขาควรถูกกำจัด

อีกแง่มุมหนึ่งที่มองในรูปกลุ่มชนเชื้อชาติ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะโฆษณาถึงวัฒนธรรมและภาษาของคุณกับคนบางคน หากพวกเขามองว่าคุณเป็น “คนป่าเถื่อนไร้มารยาท” ที่ควรถูกกำจัด

หรือในอีกมุมมองหากกลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ในสังคมที่เขาถือตัวว่าเหนือกว่า และคุณเป็นพวกต่ำต้อย ก็เป็นการยากที่จะให้เขายอมรับความคิดของคุณ ทั้งๆที่มันอาจเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือสงครามข้อมูลข่าวสารไม่อาจเปลี่ยนความคิดของผู้คนเหล่านี้ที่ คิดว่าคุณเป็นศัตรู ไม่ใช่เพื่อนร่วมโลกที่มีชีวิตจิตใจ จึงสมควรที่จะใช้วิธีการต่างๆที่แข็งกร้าวเพื่อจัดการกับศัตรู

เงื่อนไขข้อที่สอง คือ ฝ่ายตรงข้ามในสงครามข้อมูลข่าวสารอย่างน้อยควรจะต้องรับรู้อำนาจของกันและกัน ในบางส่วนหากฝ่ายตรงข้ามมองว่าอีกฝ่ายด้อยกว่าตนเอง สงครามข้อมูลข่าวสารก็จะเป็นไปไม่ได้ เช่น การโต้เถียงกันว่า “คุณเป็นใครที่จะมาตรวจวัดศีลธรรมของฉัน” หรือ “คนอย่งท่านมีคุณสมบัติอะไรที่จะมาสอนเรา” ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดการโต้แย้งตอบโต้กันด้วยสงครามข้อมูลข่าวสาร

เงื่อนไขข้อที่สาม คือ ฝ่ายตรงข้ามต้องมีกลุ่มทางสังคมที่พร้อมรับข้อมูลที่สำคัญอันเกี่ยวกับประเทศของตน จากชาวต่างชาติ โดยกลุ่มเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อความคิดของคนจำนวนมาก เช่น สื่อหรือนักวิชาการ ที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาขยายผล

เงื่อนไขข้อที่สี่ คือการเผชิญหน้าด้วยข้อมูลกับคู่ต่อสู้จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าฝ่ายตรงข้ามมั่นใจในความสามารถที่เหนือกว่าตน เพราะความคิดที่ว่าอยู่เหนือกว่าจะทำให้คิดว่าตนมีอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่า ในกรณีนี้มันจึงไม่ใช่สงครามข่าวสาร หรือการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น แต่มันคือการดูหมิ่นพื้นเพกำพืดหรือวัฒนธรรมของฝ่ายตรงข้าม

Max Weber นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันได้ทำการศึกษาว่า ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ มักมีโลกทัศน์ว่าชุมชนของตนสูงส่งกว่า เพราะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกและคนต่างศาสนาหรือนิกายจะต่ำต้อยกว่า

เรื่องนี้เป็นความจริงที่กลุ่มชนบางกลุ่ม อย่างชาวยิวส่วนใหญ่จะเชื่อว่าพวกตน กลุ่มตนเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกและเป็นที่โปรดปรานจึงต้องอยู่เหนือกว่า ส่วนคนอื่นๆเป็นแค่เศษสวะหรือกากเดนมนุษย์

ดังนั้นมาตรฐานทางความคิดของคนเหล่านี้ คือการยึดติดกับมาตรฐานทางศีลธรรมของตน นั่นคือ “ไม่ใช่ทุกคนที่สมควรได้รับการเคารพ” และมักถูกแปลงไปเป็นมาตรฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยคุณจะวางมาตรฐานทางศีลธรรม วัฒนธรรมตลอดจนหลักคิดในตำแหน่งที่สูงกว่า ชนชาติอื่น หรือประเทศอื่น เพราะถือว่าเป็น “ผู้ถูกเลือก” จึงปฏิเสธมุมมองของฝ่ายตรงข้ามโดยสิ้นเชิง

เงื่อนไขข้อที่ห้า คือสงครามข้อมูลข่าวสารสามารถใช้ได้ผลดีกับสังคมที่ปิดแคบ และอยู่กันอย่างปกติสุข เพราะสังคมนี้จะรับไม่ได้กับอะไรก็ตามที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ส่วนสังคมที่เปิดกว้างจะยอมรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย และแนวคิดที่แตกต่าง ดังนั้นในมุมมองของสังคมที่ปิดแคบจะมองอะไรที่เป็นนามธรรมในลักษณะแข็งตัว เช่น “ยุติธรรม”  “ไม่ยุติธรรม”

หรือผู้ชนะคือผู้ที่เหนือกว่า หรือทำถูกต้อง และผู้แพ้คือผู้ที่ต่ำกว่า โดยไม่ยอมศึกษาเรียนรู้ถึงปัจจัยอื่นๆโดยเฉพาะจากผู้แพ้

เงื่อนไขข้อที่หก หากคู่ขัดแย้งมีกำลังที่เท่าเทียมกันในแง่ของจำนวนทรัพยากรทั้งหมด จะไม่เกิดสงครามข้อมูลข่าวสาร เพราะต่างก็ตระหนักดีว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะสูญเสียพลังกับความขัดแย้งที่มีแต่จะสูญเสียทั้งคู่

พอแค่นี้ก่อนครับ