สงกรานต์ ไม่ได้มีเฉพาะแค่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขงก็มีเช่นกัน เพียงชื่อเรียกตามภาษาของดินแดนนั้น ในส่วนสงกรานต์ไทย ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทย โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อทางวัฒนธรรม และกำหนดวันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ด้านรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องวันที่ 14 และ 15 เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานต่างถิ่นได้กลับไปยังภูมิลำเนา เพื่อไปร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์วิถีถิ่นของตน ในส่วนภาครัฐ กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรมรณรงค์ส่งเสริม “สืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ปี 2566 เน้นเล่นสงกรานต์อย่างรู้คุณค่าตามแบบแผนที่ดีงามที่เคยปฏิบัติกันมา เช่น ก่อพระทราย ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ อุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ทำบุญอัฐิ ทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถาน และสถานที่สาธารณะ ส่วนร่วมสานใจสู่สากล ที่ปลายปีนี้ยูเนสโกจะมีการพิจารณา “สงกรานต์ไทย” ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
อีกการละเล่นรื่นเริงหรือมหรสพพื้นบ้าน อาทิ รำวง ลำตัด เล่นสะบ้า มอญซ่อนผ้า งูกินหาง เล่นลูกช่วง เล่นเพลงพิษฐาน (อธิษฐาน) ฯลฯ บางแห่งมีการทรงเจ้าเข้าผีเพื่อความสนุกสนาน เช่น การเข้าแม่ศรี การเข้าผีลิงลม เป็นต้น เป็นการสืบสานการละเล่นให้คงอยู่ และยังเป็นการเชื่อมความสามัคคีความสนุกสนานคนในท้องถิ่น ทั้งเชิญชวนสวมใส่ผ้าไทยย้อนยุค-ร่วมสมัย ผ้าท้องถิ่น เสื้อลายดอก หรือชุดสุภาพร่วมกิจกรรม
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวขึ้น” หรือ “ผ่าน” หรือ “เคลื่อนย้าย” หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง เช่นเคลื่อนจากราศีสิงห์ไปสู่ราศีกันย์ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นว่าเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดก็จะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” อันหมายถึง การก้าวขึ้นครั้งใหญ่ ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์ เป็นการนับทางสุริยคติจะตกในราววันที่ 13, 14, 15 เมษายน นอกจากนี้สงกรานต์ไทยยังมีการประกาศสงกรานต์ของแต่ละปี
ประกาศสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ดังนี้ ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ วันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้ วันเสาร์ เป็น ธงชัย วันพุธ เป็น อธิบดี วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ ปีนี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน ) น้ำงามพอดี