วันที่ 12 เม.ย.66 ที่ ภ.จว.ชุมพร พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยเอลสกา วอง ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง จากสถานทูตสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย NGOs และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินการตามกระบวนการกลไกส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) ที่ ภ.จว.ชุมพร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดชุมพร และเจ้าหน้าที่ทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย ปลัดจังหวัด, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ,สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด , แรงงานจังหวัด , ประมงจังหวัด, สาธารณสุขจังหวัด, ยุติธรรมจังหวัด และป้องกันจังหวัด ร่วมประชุมชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาและดูแลผู้ถูกคัดกรอง
โดยในส่วนของ ภ.จว.ชุมพรนั้น ได้มีการรับดำเนินการตามกระบวนการ NRM จากกรณีเมื่อวันที่ 23 มี.ค.66 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ส.ทล.4 กก.2 บก.ทล. ได้จับกุมผู้ต้องหาชาวไทยจำนวน 2 ราย ลักลอบขนบุคคลต่างด้าวจำนวน 77 คนเข้ามาในราชอาณาจักร คดีอยู่ในความรับผิดชอบของสภ.หลังสวน ภ.จว.ชุมพร โดยความคืบหน้าล่าสุด ได้มีการผลักดันบุคคลต่างด้าว จำนวน 74 คน ออกนอกประเทศผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตากแล้ว เหลือบุคคลต่างด้าวจำนวน 3 คน ที่เข้ากระบวนการเพื่อเป็นพยานในการดำเนินคดีกับคนไทยที่ร่วมขบวนการในการลับลอบนำพาคนต่างด้าวเข้าประเทศ
ทั้งนี้ กลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ National Referral Mechanism นั้น เป็นกลไกที่ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประสานความร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูล การส่งต่อความช่วยเหลือและคุ้มครองบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และเพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการและการช่วยเหลือทั้งหมดได้
ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญ เอลสกา ผู้แทนจากสถานทูตอเมริกาและเจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคม มาร่วมสังเกตการณ์การดำเนินการตามกลไกส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM เพื่อให้เห็นว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนามาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมบูรณาการร่วมกันเพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยทางการสหรัฐฯ ได้รับทราบถึงพัฒนาการของประเทศไทย และมีความพึงพอใจอย่างมาก ที่ได้เห็นประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงใจและมีผลการปฏิบัติอย่างก้าวกระโดด เช่นนี้แล้ว จะส่งผลดีต่อการพิจารณาการรายงานการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้คงสถานะเทียร์ 2 หรือ ขึ้นสู่เทียร์ 1 ได้ในอนาคตอันใกล้