เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี
ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง วันที่ 3-7 เม.ย.66 และแบบบัญชีรายชื่อ วันที่ 4-7 เม.ย.66 ที่ผ่านมา รวมถึงการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมือง มีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้กกต.ได้สรุปการรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อว่า พรรคการเมืองยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร 67 พรรคการเมือง และมีพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งหมด 43 พรรคการเมืองรวมจำนวน 63 รายชื่อ
เมื่อขั้นตอนการสมัครเสร็จสิ้น พรรคการเมือง ต่างพากันลุยเดินหน้าหาเสียงแนะนำตัวผู้สมัครเดินเท้าเข้าหาประชาชน รวมไปถึงขึ้นเวทีดีเบต สลับกับเวทีปราศรัยอย่างคึกคักในช่วงก่อนเข้าโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้ “สยามรัฐ” ขอรวบรวมนโยบายของพรรคการเมือง และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทั้ง 6 พรรคการเมืองที่น่าสนใจเอาไว้ดังนี้
* “ลุงป้อม 700” พาก้าวข้ามความขัดแย้ง
"พรรคพลังประชารัฐ" ที่มี "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคพลังประชารัฐมีมติเสนอชู บิ๊กป้อม เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงหนึ่งเดียว !
ซึ่งตัว บิ๊กป้อม ก็ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีและยังส่งชื่อตัวเองเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรคพลังประชารัฐด้วย เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า หากได้เป็นนายกฯ นั้นเป็นเพราะประชาชนเป็นคนเลือกเข้ามา
วันนี้ บิ๊กป้อม “พี่ใหญ่” ของ “ 3 ป.” แม้อายุจะ 77 ปีแล้ว แต่อายุเป็นเพียงตัวเลข โดย ลุงป้อมก็โชว์ความเก๋า ด้วยไลฟ์สไตล์สบาย ๆ เปลี่ยนลุคส์นุ่งยีนส์ ควงหลานเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์ เชื่อมคนทุกวัยตามแบบฉบับ "ลุงป้อม"
ส่วนสโลแกนของพลังประชารัฐ "ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่" ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 ถือเป็นการตอกย้ำว่า พร้อมที่สานสัมพันธ์กับทุกฝ่าย ก้าวข้ามความขัดแย้งและหาทางออกร่วมกันเพื่อเดินหน้าประเทศ
สำหรับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐประกอบด้วย 1. สานต่อบัตรประชารัฐเพิ่มเป็นเงิน 700 บาท 2. สวัสดิการผู้สูงอายุเกิน 80 ปีรับ 5,000 บาท 3.สวัสดิการประชารัฐจากครรภ์มารดา 4.แม่บุตร ธิดาประชารัฐ 5.น้ำมันประชาชน 6. บริหารจัดการน้ำที่ดินทำกิน
นโยบายสำคัญอย่างเรื่องการสานต่อบัตรประชารัฐ 700 บาท ก็ถูกเรียกติดหูและสั้นๆ ว่า "ป้อม 700"
* "บิ๊กตู่" ดันมอตโต้ “ ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”
มาที่ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ที่มี "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" เป็นหัวหน้าพรรค และมี "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค
โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คนคือพล.อ.ประยุทธ์ และพีระพันธุ์ ซึ่งพีระพันธุ์ ยังสมัครเป็นส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 ของพรรคด้วย
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งอีก 4 ปีจากการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งนี้หากการเลือกตั้งปี 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติมีคะแนนเป็นอันดับ 1 จนได้จัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือก บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ อีกครั้งนั้นแสดงว่า บิ๊กตู่ จะสามารถเป็นนายกฯ ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ ว่าสามารถตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี โดยนับจากปี 2560 ตามที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
แต่ถึงอย่างนั้น บิ๊กตู่ ก็ยืนยันที่ลงเล่นการเมืองต่อ ในฐานะนักการเมืองเต็มตัว และเดินคนทางกับพี่ใหญ่อย่างพล.อ.ประวิตร ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมประกาศเป็นนายกฯ อีกครั้งด้วยสโลแกนที่ว่า "ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ"
พร้อมกับ 13 นโยบายประกอบด้วย 1. เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน เริ่มจากกลุ่มรายได้น้อย 2.เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ จากแบบขั้นบันไดเป็นให้เท่ากันทุกช่วงอายุ 3.ดูแลผู้สูงวัย ด้วยการสร้างศูนย์สันทนาการ และลดภาษีให้ผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงวัยทำงาน 4.ให้ทุนเรียนวิชาชีพอำเภอละ 100 ทุน 5.คนละครึ่งภาค 2
6.สร้างระบบแพทย์ 24 ชั่วโมง ปรึกษาแพทย์ผ่านระบบแพทย์ทางไกล 7. เบิกส่วนประกันตน 30 เปอร์เซ็นต์มาใช้ก่อนได้ 8. นำอาชีพอิสระเข้าระบบประกันสังคมถถ้วนหน้า 9. ตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร ราคาข้าว ราคายางพารา 10.เพิ่มเงินสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าวไร่ละ 2,000 บาทครอบครัวละ 5 ไร่ 11.ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ One Map 11จังหวัดภาคกลางภายใน 1ปี 12. แก้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อให้ประชาชนได้มีที่ดินทำกิน และ13.ทำประเทศไทยให้มีคุณภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย
* “เพื่อไทย” โชว์ “อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา-ชัยเกษม”
เปิดตัวไปก่อนหน้า และเดินสายหาเสียงล่วงหน้าไปปีแล้ว สำหรับ "พรรคเพื่อไทย" ที่มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค และมี "แพทองธาร ชินวัตร" หรือ " อุ๊งอิ๊ง" หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยแพทองธาร เป็น 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ส่วนอีก 2 คนคือ เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ โดยมีชัยเกษมเท่านั้นที่สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 10
สำหรับแพทองธาร เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นบุตรสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเป็นหลาน "อาปู" ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ อีกด้วย เมื่ออุ๊งอิ๊ง ก้าวเข้าสนามการเมืองในนามพรรคเพื่อไทยก็เป็นที่จับตาว่าเป็นการสืบทอดอำนาจจากผู้เป็นพ่อ
แต่ อุ๊งอิ๊ง ก็ยังเดินหน้าบนเส้นทางการเมืองต่อ แม้วันนี้จะมีอายุเพียง 36 ปีและ ไม่เคยทำการเมืองมาอย่างจริงจัง ถือเป็นก้าวที่จะพิสูจน์ว่า “ชินวัตร” จะกลับเข้าสู่การเมืองไทยได้อีกครั้งหรือไม่ ด้วยสโลแกน "คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน"
ทั้งนี้นโยบายของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย 1.ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน 2.เติมเงินให้ทุกคนใช้จ่ายใกล้บ้านผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 3.ไทยเป็น Blockchain Hub และ FinTech Center ของอาเซียน 4.แก้ปัญหา PM2.5 ที่ทุกต้นตอ 5.เปิดประตูการค้า เสริมโอกาสการค้าต่างประเทศ 6.หนังสือเดินทางไทยเดินทางได้ทั่วโลก 7.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ สร้างทหารมืออาชีพสู่สังคม และ 8.สิทธิความหลากหลายทางเพศ
แต่นโยบายที่จับตามอง คือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป 10,000 บาทต่อคน ซึ่งเมื่อนายเศรษฐาประกาศออกไป กลับได้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันไม่สามารถทำได้ และเป็นทุนนิยม คราวนี้ก็ต้องมาดูว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินเกมในเรื่องนี้ต่ออย่างไร
* “ประชาธิปัตย์”เสนอ “จุรินทร์” หนึ่งเดียว
มาดูกันที่พรรคเก่าแก่อย่าง "ประชาธิปัตย์" ที่วันก่อนหน้าวันรับสมัครเลือกตั้งส.ส. จะมีเรื่องต่างๆ เข้าถาโถมทั้งเรื่องสมาชิกพรรคมีคดีความ เลือดไหลออก หรือความไม่พอใจกันของส.ส.รุ่นเก่า ๆ ทำให้ต้องแยกย้ายกันออกไปหาที่อยู่ใหม่
แต่ในวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรค และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพร้อมกับเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีบุคคลสำคัญอย่าง ชวน หลีกภัย เป็นผู้สมัครลำดับ 2
สำหรับจุรินทร์ แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียว ของพรรคประชาธิปัตย์ ทำงานการเมืองมายาวนานเป็นส.ส.มาตั้งแต่ปี 2529 ทั้งยังเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวงตั้งแต่ปี 2535 และมีบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน จนกระทั่งได้เป็นหัวหน้าพรรคเมื่อปี 2562 เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประกาศลาออกจากการเป็นส.ส. เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์โผเข้าร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์
ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 50 ที่นั่งเพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาถือได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ผิดคาด โดยพื้นที่ “ภาคใต้” ถูกพรรคอื่นชิงส.ส.ไปได้กว่า 20 ที่นั่ง ขณะที่กทม.ก็ไม่สามารถรักษาที่นั่งส.ส.เอาไว้ได้เลยสักเก้าอี้เดียว
มารอบนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ชูสโลแกน "ทำได้ไว ทำได้จริง" ภายใต้ยุทธศาสตร์ "สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ" พร้อม 16 นโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ทยอยเปิด 2 รอบคือ 1. การประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่าง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และข้าวโพด 2. ชาวนารับ 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน 3.ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน 4.ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปีทุกกลุ่ม 5. ปลดล็อกประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU 6. ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี 7. ให้กรรมสิทธิ์ทำกินให้กับผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ 8. ธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท
นโยบายล็อตที่ 2 ซึ่งเปิดไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 25 66 คือ 9. อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุดทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน 10.เรียนฟรี ถึงปริญญาตรีสาขาที่ตลาดต้องการ 11.ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว 12. ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000บาททุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน 13. SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน 14. ปลดล็อก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้ารราชการ (กบข. )และกองทุนเลี้ยงชีพ ให้ซื้อบ้านได้ 15. เงินจำนวน 3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่และ 16. ค่าตอบแทน อกม. (อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน) 1,000บาทต่อเดือน
* “ภูมิใจไทย” ชู “เสี่ยหนู” ดัน “ กัญชา” มาแน่
อีกพรรคที่น่าจับตามอง คือ "พรรคภูมิใจไทย" ที่ก่อนหน้านี้เป็นพรรคขนาดกลาง แต่ด้วยแรงดูดที่ผ่านมา จนส.ส.หลายๆ พรรคต่างตบเท้าเดินเข้าสู่พรรคภูมิไทยและร่วมสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่นำโดย "เสี่ยหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว
อนุทิน จากนักธุรกิจก้าวเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2539 ด้วยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ก่อนที่จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แต่ในที่สุดเสี่ยหนูก็กลับเข้าการเมืองอีกครั้งในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและได้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ในการเลือกเลือกตั้งครั้งนี้ อนุทิน ชูสโลแกน "พูดแล้วทำ" ย้ำทำตามพูดทั้งนโยบายกัญชา ได้ทำแล้ว ถือว่าทำได้อย่างที่พูดเพียงแต่ยังทำไม่เสร็จ กฎหมายควบคุมการใช้ผิดวิธียังไม่เกิด โดยอนุทินได้ประกาศว่า หากเป็นรัฐบาลอีกจะต้องทำให้ได้
สำหรับนโยบายของพรรคภูมิใจไทยคือ 1. เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 6 ล้านล้านบาท 2. สร้างงานดี 10 ล้านตำแหน่ง 3. กำจัด Low Season สร้างสมดุลการท่องเที่ยว 4. สร้างเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล 5. รักสามเมืองหลักพักฟื้นเมืองรอง 6. ท่องเที่ยวสมัยใหม่ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม 7. ท่องเที่ยวแบบ Low Carbon
8. พักหนี้ 3 ปีหยุดต้นปลอดดอกไม่เกิน 1 ล้านบาท 9.เกษตรร่ำรวยรู้ราคาก่อนปลูกรับเงินก่อนขาย 10. การตั้งศูนย์ฟอกไตฟรี 11. ศูนย์ฉายรังสีมะเร็งฟรี 12. ฟรีหลังคาโซล่าเซลล์ และ13. มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าผ่อนเดือนละ 100 บาท
* “พิธา”นำ “ก้าวไกล” ปิดสวิตซ์ “3 ป.”
มากันที่พรรคสุดท้ายพรรคน้องใหม่มาแรง "พรรคก้าวไกล" ที่เปลี่ยนมาจากพรรคอนาคตใหม่ด้วยเหตุทางการเมือง ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อพรรคและเปลี่ยนกรรมการบริหารชุดใหม่ที่นำโดย "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล
จากนักเรียนนอก สู่นักธุรกิจ ก่อนเข้ามาเป็นนักเมืองการในนามพรรคอนาคตใหม่เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 และก้าวเข้าสู่การเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับไม้ต่อ จาก "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เมื่อพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบพรรค จากนั้นพิธา ถูกจับตามองมาโดย พร้อมกันนี้ยังพบว่า พรรคได้ฐานคะแนนเสียงที่มาจาก "กลุ่มคนรุ่นใหม่" ที่พร้อมจะเทคะแนนให้พรรคก้าวไกล
โดยพรรคก้าวไกล ชูสโลแกน "กา ก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม" พร้อม 15 นโยบาย คือ1.ปิดสวิตซ์ "3 ป." ส่วนข้อ 2. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร 3.หยุดส่วย รีดไถ่ เลิกตั๋วเส้นสาย 4. นัดโปร่งใส Ai จับโกง คนแฉได้เงิน 5. เลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด 6. คืนที่ดิน 10 ล้าน ไร่เปลี่ยนสปก. นายทุนเป็นโฉนดให้เกษตรกร 7. ขึ้นค่าแรงทุกปีเริ่มทันที 450 บาท 8. หวยใบเสร็จซื้อของรายย่อยลุ้นเงินล้าน
9. สวัสดิการเด็กเล็ก 1200 บาทต่อเดือนผู้สูงวัย 3000 บาทต่อเดือน 10. ลดค่าไฟทันที 70 สตางค์ต่อหน่วย 11. รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัดน้ำประปาดื่มได้ 12.สร้างงาน 1 ล้าน ตำแหน่ง 13. หลักสูตรใหม่โรงเรียนปลอดภัยขึ้นเวลาสอนให้ครู 14.กำหนดเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15. ปักธงไทยในอุตสาหกรรมชิป
รอบนี้ พรรคก้าวไกล พกความมั่นใจมาไม่น้อย ด้วยเชื่อว่า นิว โหวตเตอร์ “ คนรุ่นใหม่” จะต้องเทใจมากาให้พรรค ได้ส.ส.เข้าสภาฯ ไม่น้อยกว่าที่สมัย “พรรคอนาคตใหม่” เคยทำเอาไว้ในปี 2562 !