คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เปิดบทวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) เผย กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในมหานครที่มีความเสี่ยงจมบาดาลภายใน 50 ปี ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจาก 3 ปัจจัย คือ 1. การทรุดตัวของชั้นดินเฉลี่ย 2-3 เซนติเมตรต่อปี 2. น้ำทะเลหนุน 3. การสูญเสียน้ำใต้ดินจากการใช้น้ำบาดาลในอดีต พร้อมแนะ ‘ปรับผังเมือง’ โดยยึดหลักไม่ ‘ทุบ รื้อ ถอน’ เน้นปรับฟังก์ชั่นการใช้งาน

เช่น การลดพื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้น 1 โดยใช้งานตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป เพื่อลดผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน, การเพิ่มทางเดินลอยฟ้า (Sky walk) ที่เชื่อมจากอาคารออฟฟิศ เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องเดินลุยน้ำ ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงมากถ้าเทียบกับการรื้อผังเมืองเพื่อสร้างใหม่หรือการย้ายมหานคร, การเสริมแนวคันกั้นน้ำประสิทธิภาพสูง ไม่มีร่องฟันหลอตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเดียวกันห่วงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ที่กระทบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเสนอไอเดียเพิ่มแรงจูงใจหยุดการเผา ที่ช่วยลด Hot Spot อย่างยั่งยืน เพื่อคืนสุขภาพปอดที่ดีให้คนไทย และไม่หนุนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบปีต่อปี 

ผศ.ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เปิดบทวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) เผย กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในมหานครที่มีความเสี่ยงจมบาดาลภายใน 50 ปี ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจาก 3 ปัจจัย คือ 1. การทรุดตัวของชั้นดินเฉลี่ย 2-3 เซนติเมตรต่อปี 2. น้ำทะเลหนุน 3. การสูญเสียน้ำใต้ดินจากการใช้น้ำบาดาลในอดีต ซึ่งนอกจาก กทม. แล้ว ยังพบว่าเมืองหลวงหรือมหานครหลายแห่งของประเทศต่างๆ  ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อาทิ  อินโดนีเซีย, ไนจีเรีย, รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา, รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา, รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา, รัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา, บังคลาเทศ, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, อิยิปต์ ซึ่งส่วนใหญ่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ติดทะเล มีลักษณะเป็นเมืองท่า ที่มีความสำคัญง่ายต่อการเดินทางสัญจร การติดต่อค้าขายตั้งแต่อดีต ที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน และเป็นปัญหาที่หลายประเทศเร่งหาทางออก ซึ่งบางประเทศได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวง อาทิ อินโดนีเซีย

จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลรุกคืบจาก ภาวะโลกรวน (Climate Change) และ 3 ปัจจัยเสี่ยงของมหานครที่เป็นเมืองท่าติดทะเล พบว่า การย้ายมหานครควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากกระทบต่อประชาชนที่ต้องเคลื่อนย้าย และใช้งบประมาณที่สูงมากกับการจัดผังเมืองเมือง สร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภค โดยคณะวิทย์ มธ. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการ ‘ปรับผังเมือง’ โดยยึดหลักไม่ ‘ทุบ รื้อ ถอน’ ซึ่งเน้นการปรับฟังก์ชั่นการใช้งานประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การลดพื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้น 1 โดยใช้งานตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป เพื่อลดผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน 2.การเพิ่มทางเดินลอยฟ้า (Sky walk) ที่เชื่อมจากอาคารออฟฟิศ เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องเดินลุยน้ำ ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงมากถ้าเทียบกับการรื้อผังเมืองเพื่อสร้างใหม่หรือการย้ายมหานคร 3.การเสริมแนวคันกั้นน้ำประสิทธิภาพสูง ไม่มีร่องฟันหลอตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา

ขณะเดียวกัน คณะวิทย์ มธ. ยังห่วงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ที่กระทบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ที่ส่วนใหญ่เกิดจาก ‘การเผาของภาคเกษตรกรรม’  และรองลงมาคือ ‘ไฟป่า’ โดยเสนอไอเดียสำหรับการแก้ปัญหา ‘ฝุ่นละอองขนาดเล็ก’ ในระยะยาวที่เริ่มได้ทันที ด้วยการเพิ่มแรงจูงใจเพื่อหยุดการเผา ที่ช่วยลด Hot Spot อย่างยั่งยืน และไม่ควรหนุนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปีต่อปี โดย คณะวิทย์ มธ. มีแนวทางเพื่อคืนสุขภาพปอดที่ดีให้แก่คนไทย 2 แนวทาง ดังนี้

1.เพิ่มรางวัลจูงใจแก่ชุมชนที่ปลอดการเผา 100 เปอร์เซ็นต์ อาทิ ให้งบประมาณอุดหนุนการซื้อปุ๋ยในราคาพิเศษ, คูปองส่วนลดน้ำมันกลุ่มดีเซลสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ควบคู่กับการลงโทษด้วยการจับปรับ ที่มีกระบวนการที่ล่าช้า และมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

2.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ อาทิ พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ‘ดอยหลวงเชียงดาว’ ที่มีแนวทางบริการจัดการที่น่ายกย่องให้เป็นแบบอย่างของวิถีชุมชนกับป่าและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  คือ เน้นสร้างการมีส่วนร่วม ให้คนในชมชนร่วมเป็นเจ้าของ ตั้งกำลังคนในชุนชนทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการทำแนวกันไฟอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ทำลายทรัพยากร และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ จนกลายเป็นพื้นที่ป่าต้นแบบ ที่ไม่มี ‘ไฟป่า’ เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี ซึ่งทำให้ชุมชนสามารถต่อรองเพื่อของบประมาณเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว จนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

“เรื่องของ ‘สิ่งแวดล้อม’ ยังคงเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาเมือง และคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) จึงเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ ที่จะได้เติบโตบนเส้นทางสู่ ‘นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม’ ที่จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่จะถูกยกระดับจากทีมเบื้องหลังในห้องปฏิบัติการ สู่ทีมงานแถวหน้าที่มีความสำคัญของทุกองค์กร ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการทำธุรกิจที่มุ่งสู่ Net Zero เพื่อชะลอความเสี่ยงจากภาวะโลกรวน (Climate Change) ร่วมกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีภารกิจร่วมกันให้สำเร็จ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรเทพ กล่าวทิ้งท้าย