วันที่ 11 เม.ย.66 ที่สำนักการแพทย์ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมติดตามผลการดำเนินงานของสำนักการแพทย์ ในกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร สำนักการแพทย์ ว่า การทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่ กทม.เน้นด้านสาธารณสุขและการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับสำนักการแพทย์ได้งบประมาณปีละเกือบ 5,000 ล้านบาท ปัจจุบันมี 6 โครงการสำคัญที่ดำเนินการอยู่ ประกอบด้วย

1.นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย เพื่อดูแลด้านความหลากหลายทางเพศ โดยเปิดคลินิก 6 แห่ง คือ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และเตรียมเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร ในปี 2566 และในปี 2567 เตรียมเพิ่มที่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ปัจจุบันมีผู้เข้ารับบริการแล้ว 1,100 ราย 

2.การใช้ระบบ Telemedicine ติดต่อแพทย์เพื่อการรักษาโดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล มีเป้าหมายปีละ 82,000 ครั้ง เดือนตุลาคม 2565 ถึง เดือนมีนาคม 2566 มีผู้ใช้บริการแล้ว 34,000 ครั้ง

3.เร่งการก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 4 โครงการ คือ 1.ศึกษาความเป็นไปได้ของโรงพยาบาลสายไหม 2.เร่งรัดการก่อสร้างโรงพยาบาลตากสิน คาดแล้วเสร็จ ปี 2567 3.ปรับปรุงโรงพยาบาลกลางให้เป็นศูนย์การแพทย์และอาคารสำนักการแพทย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างร่างแบบ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปี 2567 4.เร่งก่อสร้างโรงพยาบาลที่เขตบางนา คาดว่าจะเริ่มปี 2567 และยังมีโรงพยาบาลที่กำลังก่อสร้าง คือ โรงพยาบาลที่เขตลาดกระบังและโรงพยาบาลที่เขตคลองสามวา

4.การรักษาผู้ป่วยส่งแบบไร้รอยต่อด้วยข้อมูล โดยการเชื่อมข้อมูลระหว่างศูนย์สาธารณสุขกับโรงพยาบาล สามารถโอนถ่ายผู้ป่วยโดยใช้ข้อมูลเดียวกัน

5.เพิ่มศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางและศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง ที่โรงพยาบาลการุณย์รัศมิ์และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ในปี 2566 ปัจจุบัน กทม.มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ 8 ศูนย์

6.การออกบัตรคนพิการ โรงพยาบาลสังกัด กทม.สามารถออกบัตรคนพิการได้ในจุดเดียว ไม่ต้องติดต่อประสานหน่วยงานอื่น ปัจจุบันมีผู้พิการรับบัตรไปแล้ว 5,000 ราย

นายชัชชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังให้นโยบายเพิ่มเกี่ยวกับการให้บริการด้านจิตเวช เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น การเข้าถึงการรักษาทำได้ยาก รวมถึง ระบบการรับผู้ป่วยฉุกเฉินในศูนย์เอราวัณต้องไม่เกิน 8 นาที ปรับปรุงศูนย์ฉุกเฉินให้ได้มาตรฐานสากล และเพิ่มอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินตามสถานที่สาธารณะต่างๆ หัวใจหลักคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการกระจายแพทย์ให้ครอบคลุมชุมชนหรือเส้นเลือดฝอยมากที่สุด มีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยพยาบาลระดับปฐมภูมิระดับทุติยภูมิ ระดับตติยภูมิมากขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงศูนย์สาธารณสุขกับคลินิกใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนพบแพทย์ง่ายขึ้นผ่านระบบเทคโนโลยี และการรักษาแบบเชิงรุกในชุมชน พร้อมปรับปรุงการให้บริการสำหรับผู้ที่มีภาวะเครียดต้องการรักษาอย่างเร่งด่วน และประสานงานระหว่างสำนักอนามัยกับสำนักการแพทย์ เพื่อผลักดันระบบการรักษาผ่านเทคโนโลยีออนไลน์และการพบแพทย์โดยตรง จุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถรับบริการสาธารณสุขใกล้บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใข้เวลาน้อย ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลหลักเพียงอย่างเดียว