วันที่ 11 เม.ย.66 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต.ตรวจสอบว่า การถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 7 นนทบุรี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ใด ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในหนังสือดังกล่าว มีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เป็นข้อๆ ดังนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 เว็บไซต์... หัวข้อ ‘เพื่อไทย’ ส่งผู้สมัครส.ส.เขต 7 นนทบุรี คนใหม่แทน ‘จำลอง’ คุณสมบัติไม่ผ่าน! ลงข่าวไว้ดังนี้
“เมื่อวันที่ 6 เม.ย. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า พรรครับทราบการตรวจสอบคุณสมบัติของนายจำลอง ขำสา ผู้สมัคร ส.ส.นนทบุรี เขต 7 พรรค พท. โดยพบว่า ไม่ได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เมื่อ 8 เดือนที่แล้ว เป็นเหตุทำให้ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.นนทบุรี โดยเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สาเหตุเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงเขตและผู้สมัคร รายชื่อนายจำลอง จึงไม่ปรากฏในขณะที่พรรคตรวจสอบ
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางพรรค พท. กำลังเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครของคณะกรรมการสรรหา เพื่อทำไพรมารีโหวตทันทีในวันนี้ เพื่อหาตัวผู้สมัครคนใหม่ ไปลงรับสมัครเลือกตั้งแทนนายจำลอง ให้ทันเวลาในการรับสมัครวันพรุ่งนี้ (7 เม.ย.) ขณะนี้หัวหน้าพรรค ได้ยื่นถอนชื่อนายจำลอง ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นนทบุรีเเล้ว กฎหมายอนุญาตให้ส่งผู้สมัครใหม่ได้ คาดว่าจะสามารถจัดทำตามกระบวนการ และเข้ารับสมัครแบบแบ่งเขต ของเขต 7 นนทบุรี ได้ทันในวันพรุ่งนี้”
ข้อ 2. การถอนชื่อผู้สมัครตามข่าวข้างต้น ที่ระบุว่า “...ไม่ได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เมื่อ 8 เดือนที่แล้ว เป็นเหตุทำให้ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.นนทบุรี โดยเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง...” นั้น ต้องยื่นเป็นหนังสือขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลือกตั้งตามแบบ ส.ส. 4/9 ซึ่งต้องระบุว่า บุคคลที่ขอถอนชื่อนั้น ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตราใด หรือในกรณีเสียชีวิต
ข้อ 3. กรณีข้อเท็จจริงตามข่าวดังกล่าว เมื่อตรวจสอบเรื่องการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตราใด พบว่า การไม่ได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เมื่อ 8 เดือนที่แล้ว เป็นเหตุทำให้ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งบัญญัติว่า
“มาตรา 35 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจํากัดสิทธิ ดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๒) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา”
ข้อ 4. แต่การถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (2) นั้น ไม่พบว่ามีการบัญญัติเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามความในมาตรา 42 ซึ่งใน (5) และ (7) จะบัญญัติไว้เพียงคำว่า “ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” หรือคำว่า “ถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” หรือคำว่า “ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ดังนี้
“มาตรา 42 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(5) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(7) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง”
ข้อ 5. ดังนั้น การถูกจำกัดสิทธิ ตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (2) จึงอาจไม่ใช่ลักษณะต้องห้ามที่จะถอนการสมัครตามความในมาตรา 50 ได้ ซึ่งบัญญัติว่า
“มาตรา 50 เมื่อผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครตามมาตรา 46 แล้ว ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครได้เฉพาะกรณีผู้สมัครตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”
ข้อ 6. การถอนการสมัครตามข่าวกรณีดังกล่าว ที่อ้างว่า ขาดคุณสมบัติ นั้น อาจไม่มีบทบัญญัติกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ สามารถพิจารณาจรวจสอบหรือเปรียบเทียบบทบัญญัติของกฎหมายได้จากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (1) มาตรา 50 (5) (20) และมาตรา 53 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“มาตรา 42 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้
(1) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา”
“มาตรา 50 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้ง
(20) อยู่ในระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 42 หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
“มาตรา 53 เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ออกหลักฐาน การรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครตามมาตรา 52 วรรคสองแล้ว ผู้สมัครจะถอนการสมัครมิได้”
ข้อ 7. ดังนั้น กรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 ไม่ได้บัญญัติการถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 35 เป็นลักษณะต้องห้ามไว้ด้วย การใช้แบบ ส.ส. 4/9 มาอ้างเป็นเหตุในการถอนชื่อตามข่าวดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ในหนังสือมีคำขอให้ กกต. ตรวจสอบ ดังนี้
จึงเรียนมาเพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า การถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 7 นนทบุรี ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 35 มาตรา 42 มาตรา 50 หรือไม่ และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ใด ฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 69 และ/หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 50 มาตรา 52 มาตรา 56 มาตรา 117 มาตรา 120 เป็นต้น