วันที่ 11 เม.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 28,536 คน ตายเพิ่ม 137 คน รวมแล้วติดไป 685,009,364 คน เสียชีวิตรวม 6,837,933 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย โรมาเนีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.55 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.78
...ตัวเลขรายสัปดาห์ 2-8 เมษายน 2566
จำนวนผู้ติดเชื้อป่วยนอนรักษาตัวในรพ. 168 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 0.6%
จำนวนเสียชีวิต 2 ราย
...คาดประมาณจำนวนติดเชื้อใหม่รายวันอย่างน้อย 1,200-1,667 ราย
ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
...อัพเดตความรู้โควิด-19
"ใส่หน้ากากให้ถูกต้อง ระบายอากาศให้ดี และใช้เวลาสั้นๆ เวลาพบปะใกล้ชิดกัน"
Dixit AK และคณะจากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก The Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา
วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ รวมถึงโรคโควิด-19
พบว่าปัจจัยหลักที่จะทำให้ป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อกันนั้น สอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่เราแนะนำกันมาตลอด คือ การใส่หน้ากาก การระบายอากาศให้ดี รวมถึงการพยายามลดระยะเวลาที่ใกล้ชิดติดต่อกันกับคนหมู่มาก เช่น ลดเวลาการประชุมพบปะให้สั้นลง
"แจ็คพอตป่วยหนัก เวลาเกิดอาการผิดปกติคงค้างอาจอยู่ยาวนานกว่า 2 ปีโดยไม่ดีขึ้น"
Heesakkers H และคณะจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ติดตามผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงแล้วรักษาตัวในไอซียู จำนวน 122 คน ซึ่งหลังรักษาแล้วมีอาการคงค้างผิดปกติ เช่น ภาวะเปราะบางทางร่างกาย ปัญหาด้านความคิดความจำและจิตใจ
พบว่า ติดตามประเมิน ณ 1 ปี และ 2 ปี หลังจากออกจากรพ. อาการต่างๆ ก็ยังคงค้างอยู่ ไม่ดีขึ้น และบางปัญหาก็เป็นมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ผลกระทบในเรื่องคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ไม่ดีขึ้น
ผลการศึกษานี้จึงตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ แม้ปัจจุบันอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจะน้อยลงไปกว่าหลายปีก่อน แต่การติดเชื้อแต่ละครั้ง ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม ติดแล้วป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย
ความใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงที่แต่ละคนจะต้องเผชิญ
เทศกาลสงกรานต์ ขอให้เป็นช่วงที่มีความสุข "อย่างปลอดภัย"
ระวังที่แออัด ใช้เวลาสั้นๆ อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. Dixit AK et al. Airborne disease transmission during indoor gatherings over multiple time scales: Modeling framework and policy implications. PNAS. 10 April 2023.
2. Heesakkers H et al. Two‑year physical, mental and cognitive outcomes among intensive care unit survivors treated for COVID‑19. Intensive Care Medicine. 5 April 2023.