อธิบดีดีเอไอ แถลงผลการดำเนินงานกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งแต่รับตำแหน่ง 18 มกราคม 2566 สอบสวนเสร็จสิ้นและมีภารกิจสำคัญรวม 39 คดี ปกป้องเรียกคืนทรัพย์สินให้รัฐได้กว่า 9,500 ล้านบาท

​วันที่ 10 เม.ย.66 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ  (ดีเอสไอ) พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงผลการดำเนินงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้อำนวยการกองคดีฯ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ที่เกี่ยวข้อง

​จากนโยบายบริหารราชการของ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ให้ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมายด้วยการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมาย เร่งรัดการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับคดีพิเศษ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงพร้อมรับการตรวจสอบกระบวนการทำงานในทุกมิติ โดยให้มีการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร

​กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มีการแถลงผลการดำเนินงาน โดยมีคดีพิเศษที่สอบสวนเสร็จสิ้นและภารกิจสำคัญที่ได้ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม-5 เมษายน 2566 จำนวน 39 คดี โดยจำแนกตามประเภทคดีพิเศษเป็น 4 ด้าน ดังนี้

1. คดีพิเศษด้านเศรษฐกิจ จำนวน 10 คดี มีคดีที่สำคัญ ดังนี้
• คดีหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร
กรณียื่นใบขนสินค้าสำแดงถิ่นกำเนิดเป็นเท็จ นำเข้ารถเมล์ NGV ขสมก. 489 คัน
มูลค่าภาษีที่เรียกคืนให้กับรัฐ 2,180,000,000 บาท
• คดีแชร์ลูกโซ่
- กรณีการดำเนินคดีกับบุคคล จำนวน 16 ราย เกี่ยวพันกับกรณี Forex-3D
- กรณีหลอกลวงให้ร่วมลงทุนธุรกิจสปอร์ตอาร์บิตทราจ (Sport Arbitrage)
รวมมูลค่าความเสียหาย 2,668,000,000 บาท
• คดีฟอกเงิน
- กรณีผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฟอกเงิน โดยนำเงินไปฝากและให้เงินกู้แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด
- กรณีกลุ่มบุคคลร่วมกันทำธุรกรรมทางการเงินที่มีจำนวนสูงผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับรายได้และยังไม่ปรากฏแหล่งที่มาของรายได้ดังกล่าว ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
ยาเสพติด และเล่นการพนันออนไลน์
- คดีฟอกเงินในความผิดมูลฐาน บริษัท เดอะ ซิสเต็ม ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ จำกัด กับพวก หลอกลวงให้ร่วมลงทุน
- คดีฟอกเงินในความผิดมูลฐานร่วมกันหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจซื้อขายรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง
รวมมูลค่าทรัพย์สิน 3,375,000,000 บาท
• คดีความผิดตามกฎหมายควบคุมและแลกเปลี่ยนเงิน
กรณีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์ร่วมกันวางแผนให้นิติบุคคล จำนวน 13 ราย หลอกลวงขอเบิกใช้เงินสินเชื่อจากธนาคาร แล้วให้ธนาคารโอนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ไปยังบัญชีธนาคารปลายทางที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสิงคโปร์
มูลค่าความเสียหาย 826,000,000 บาท

2. คดีพิเศษด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 3 คดี มีคดีที่สำคัญ ดังนี้
• คดีปลอม/เลียนเครื่องหมายการค้า
- กรณีเฟซบุ๊กชื่อ “กระเป๋า Babybag store” ลักลอบจำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทกระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม หรือ เลียนเครื่องหมายการค้า
- กรณีมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในพื้นที่ตลาดโรงเกลือ จังหวัดนครนายก จำหน่าย เสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าประเภทกระเป๋าและสินค้าอื่น ๆ ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม
รวมมูลค่าของกลาง 24,000,000 บาท
• คดีสินค้าไม่ผ่าน มอก. และ กสทช.
กรณีกลุ่มบุคคลชาวต่างชาติร่วมกับคนไทยเป็นตัวแทนร่วมกันลักลอบนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง เปิดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซื้อ-ขาย สินค้าออนไลน์ และสินค้าเหล่านั้นไม่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และไม่ผ่านการตรวจสอบจาก กสทช. จำนวนสินค้า 17,900 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 23,000,000 บาท

3. คดีพิเศษด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จำนวน 19 คดี มีคดีที่สำคัญ ดังนี้
• คดีออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบและบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ/ที่ดินของรัฐ
- กรณีกลุ่มบุคคลสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนางและป่าหางนาค อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
- กรณีการออกโฉนดโดยมิชอบ รายโรงแรมนิกกี้ บีช คลับ ที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และการบุกรุกครอบครองที่สาธารณะประโยชน์บริเวณหาดเลพัง
จำนวนเนื้อที่ 97 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา มูลค่าความเสียหาย 342,212,500 ล้านบาท

4. คดีพิเศษระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ จำนวน 7 คดี มีคดีที่สำคัญ ดังนี้
• คดีเจ้าพนักงานทุจริต/ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
- กรณีทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด
- คดีทุจริตเบิกค่าล่วงเวลาฯ ของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย แล้วใช้เอกสารแห่ง
การทุจริตดังกล่าวฟ้องต่อศาลแรงงาน
- คดีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) จำนวน 163 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลค่า 3,710 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 และต่อมาเมื่อวันที่ 
30 มีนาคม 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาจำคุกอดีตข้าราชการตำรวจในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
- กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาผู้ถูกกล่าวหา
ตามประมวลกฎหมายอาญาและชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง พร้อมกันนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติชี้มูลความผิดอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
• คดีค้ามนุษย์และความผิดทางเพศ
- กรณีขบวนการค้ามนุษย์ออนไลน์ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ
- กรณีกองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอให้ตรวจสอบร้านอาหารมีพฤติการณ์ให้พนักงานขายบริการทางเพศแอบแฝงพื้นที่เกิดเหตุ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์

นอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้ดำเนินการด้านป้องกันการเกิดอาชญากรรมพิเศษ ด้วยการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของเครือข่ายในการป้องกันอาชญากรรมคดีพิเศษ ยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถปกป้องตนเองได้ เกิดเป็น “DSI Station” ภาคประชาชน และศูนย์เรียนรู้ฯ ในประเทศไทย 28 ศูนย์  และต่างประเทศ 9 ศูนย์ และในด้านอำนวยความยุติธรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้นำแนวคิดจากนโยบายมาพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน เช่น การแก้ไขปัญหาพื้นที่ต้นน้ำย่าง อำเภอปัว จังหวัดน่าน และการบูรณาการร่วมกับจังหวัดภูเก็ตในการเรียกคืนชายหาดเลพัง-ลายัน

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคดีพิเศษ ในห้วงระหว่างวันที่ 18 มกราคม -5 เมษายน 2566 สามารถปกป้อง เรียกคืนทรัพย์สินให้แก่รัฐ เอกชน และประชาชน รวมมูลค่า 9,541,963,056.92 บาท